ภายใต้ คสช.บริหารประเทศ มั่นใจโรดแมฟดึงลงทุนได้ นักธุรกิจแนะรัฐสร้างแรงจูงใจดึงต่างชาติตั้งฐานผลิต นักธุรกิจไทย-ต่างชาติ เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้น กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใต้การบริหารของ "คสช." หนุนไทยขึ้นฮับเออีซี แนะลดอุปสรรคการค้า แก้กฎหมายภาษี เพิ่มแรงจูงใจต่างชาติ ตั้งฐานผลิต-สำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค แนะเร่งเพิ่มขีดแข่งขัน พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี สร้างความโปร่งใสในประเทศ ในงานเสวนา "ประเทศไทยกลับคืนมา ช่วยขับเคลื่อนประเทศฟื้นฟูความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ และภาคอุตสาหกรรมอีกครั้ง" ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับบริษัท เนชั่น มัลติมีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) วานนี้ (29ก.ค.) โดยมีผู้บริหารชั้นนำของบริษัทไทยและสถาบันการเงินต่างประเทศเข้าร่วม ประกอบด้วย นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) และนายแฟรงส์ คริงก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดการใหญ่ดอยช์แบงก์ในไทย ร่วมเสวนาในเรื่อง "ประเทศไทยนำหน้าในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนในเออีซี" นายคริงก์ ได้หยิบยกประเด็นสำคัญระหว่างการเสวนา โดยกล่าวถึงประเทศไทยในขณะนี้ว่า เป็นประเทศอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยน (Country In Transition : CIT) หมายถึงภายในประเทศยังคงมีการปรับเปลี่ยนภายในอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ขณะนี้ประเทศทไยกลับมาทำงานได้อีกครั้ง (Thailand is Back to Work) "ประเทศไทยตอนนี้กลับมาเพื่อทำงานต่อไปได้ แต่มีงานมากมายต้องทำ มีปัญหาหลายเรื่องต้องหารือและแก้ไข ไทยอยู่ในสถานการณ์เกิดผลกระทบยาวนานทางการเมือง ทำให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว" นายคริงก์ เตือนว่า อย่าลืมทั่วโลกและประเทศต่างๆ ที่รายล้อมไทย รวมถึงอาเซียนที่กำลังกลายเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่ต่างยกระดับตัวเอง ทุกประเทศต่างทำงานกันต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าอย่างชัดเจน ทั้งนี้เขายังได้นำอักษร CIT มาเป็นเนื้อหาสาระอธิบายเพื่อเป็นกรอบงานให้ประเทศไทยพัฒนาปิดช่องโหว่เป็นจุดอ่อน ซึ่งมีอยู่ 6 ด้าน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาเป็นศูนย์กลางของเออีซีว่า สองเรื่องแรก ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้รู้ว่าไทย มีความสามารถในการแข่งขัน (Competition) ถัดมาเป็นเรื่องดำเนินการทุกเรื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทำได้แบบครอบคลุม (Inclusion) ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องการพัฒนานวัตกรรม (Innovation) ให้เกิดขึ้นแบบวงกว้างและครอบคลุมทุกส่วน และทั้งสองด้าน ยังเชื่อมโยงไปถึงสองด้านสุดท้าย คือ การพัฒนาปรับปรุงประเทศให้เกิดความโปร่งใส (Transparency) ด้วยการสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ให้แน่ใจว่าการปรับเปลี่ยนภายในของไทยยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง นายคริงก์หวังว่า ไทยจะนำคำแนะนำทั้ง 6 ด้านมาใช้ร่วมกัน เป็นกรอบความคิดสำคัญสามารถจดจำได้ง่าย เพื่อให้ไทยนำไปใช้พัฒนาปรับปรุงประเทศจากนี้ไป ในที่สุดจะช่วยดึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะกลับมาทำให้เศรษฐกิจและภาคธุรกิจเดินหน้าต่อไป ไทยฮับโลจิสติกส์เชื่อมซีแอลเอ็มวี นายกานต์ กล่าวถึงเหตุผลทำให้ไทยขึ้นเป็นศูนย์กลาง หรือ ฮับของเออีซีในอนาคตได้ว่า เพราะกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี หรือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม มีพรมแดนติดกันและตั้งอยู่ล้อมรอบไทยมีความสำคัญมากขึ้น ผู้คนสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯไปเมืองหลวงของทั้ง 4 ประเทศโดยใช้เวลาไม่นาน นอกจากนี้เขามองว่านอกเหนือจาก 5 ประเทศอาเซียนที่มีรายได้ต่อหัวสูงกว่าสมาชิกประเทศอื่นในอาเซียน กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ถือเป็นประเทศเกิดใหม่แถบอินโดจีนอยู่ในตลาดเออีซี ที่มีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก มีช่องเข้าไปพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้มาก ซึ่งช่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์เชื่อมโยงทุกชาติในอินโดจีนได้ ไทยควรลดอุปสรรคด้านภาษี นายกานต์ยังแนะว่า สิ่งที่เขาอยากให้ปรับปรุงมากสุด คือ ลดอุปสรรคอัตราภาษีต่างๆ ให้กับนักลงทุนต่างชาติ ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศ ลดอัตราภาษีเรียกเก็บจากบริษัทต่างชาติให้น้อยลงอย่างที่สิงคโปร์ทำอยู่ พร้อมแก้ไขกฎหมายต่างๆ เป็นการลดอุปสรรค และเพิ่มแรงจูงใจให้ต่างชาติอยากเข้ามาลงทุน หรือใช้ไทยเป็นฐานตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค เขากล่าวว่าการเปิดทางให้ผู้บริหารต่างชาติทุกๆ 1 คนให้สามารถเข้ามาบริหารงานทำธุรกิจในไทย จะช่วยให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากถึง 4 ล้านบาทต่อคน ต่างชาติก็สามารถเข้ามาจัดงานการประชุมหรืองานทางอุตสาหกรรม สร้างรายได้ให้ประเทศพร้อมกับเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ นายกานต์ย้ำว่าอยากให้ใช้โอกาสเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนี้ ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายธุรกิจ เพื่อส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งดีกว่าให้ผ่านการพิจารณาสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเหมือนที่ผ่านมา การปรับปรุงกฎหมายธุรกิจ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัว ลดอุปสรรคต่างๆในการทำธุรกิจได้ ชูผลงานคสช.เอื้อเศรษฐกิจโตต่อ ส่วนนายบุญชัย มองว่าเออีซีสำหรับสหพัฒนพิบูลแล้วถือว่าสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดกลุ่มประเทศซีแอลเอมวี และแม้ว่ากลุ่มธุรกิจของเขาค่อนข้างช้ากับการขยายงานในตลาดต่างประเทศ แต่ในตลาดซีแอลเอ็มวีสำหรับสหพัฒนพิบูลถือว่าได้เข้าทำธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าของกลุ่มไว้ไม่น้อย เพราะเชื่อว่าจะเป็นฐานช่วยขยายงานของกลุ่มไปยังตลาดอาเซียนอื่นๆ ได้ เขาเห็นด้วยกับหัวข้อเสวนาวันนี้ว่า ประเทศไทยกลับมาแล้วอย่างแท้จริง หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ความสงบและความสุขกลับคืนมาให้คนไทยและตัวเขาอีกครั้ง เหตุที่ผ่านมาก่อความกังวลและความไม่แน่นอนดูเหมือนคลี่คลาย กลายเป็นความรู้สึกสมเหตุสมผลมาแทนที่ ปัญหาหลายเรื่องที่รัฐบาลชุดก่อนเคยทำไว้ ซึ่งรวมถึงการสร้างภาระหนี้จากโครงการรับจำนำข้าวชาวนา ตลอดจนโครงการการลงทุนต่างๆที่รอการอนุมัติจากกรมส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ก็ได้รับการแก้ไข ภายใต้การบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งเป็นการแก้ไขในระยะเวลาอันสั้น การแก้ปัญหาช่วงสั้นของคสช.ทำให้เขาไม่แปลกใจหรือสงสัยเลยว่า เพราะเหตุใดระดับความเชื่อมั่นของชุมชนธุรกิจและประชาชนทั่วไปจึงปรับตัวดีขึ้น ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญช่วยให้อำนาจและกำลังซื้อของประชาชนกลับมาในระยะสั้น และอย่างช้าในไตรมาส4ปีนี้ "ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ สะท้อนให้ความเชื่อมั่นภาคเอกชนกับการส่งออกดีขึ้นหลังคสช.เข้ามา มีการนำมาตรการต่อต้านคอรัปชั่นซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวข้องสังคมการเมือง มาใช้อีกครั้ง การทำงานของคสช.ทำให้เชื่อได้ว่าไทยอยู่บนเส้นทางถูกต้อง สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง นำพาตัวเองไปสู่อนาคตสดใสได้ต่อเนื่อง" แจงไทยพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ด้านนายไลโอแนล ดานิแทค ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมิชลิน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย มองว่า ไทยและภูมิภาคอาเซียนจะเป็นโอกาสของการดำเนินธุรกิจในอนาคต เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งอยู่แลว หากเปิดเออีซีในอนาคตก็จะช่วยได้มากทั้งในเรื่องความคล่องตัวด้านภาษี และการเปิดเสรีการค้า "ไทยมีโอกาสเติบโตได้อีกไกล หากก้าวพ้นออกจากในเรื่องการเมืองที่ยืดเยื้อมานาน หากนำทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยเร็วก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติมากขึ้้น การที่ไทยมีแผนการลงทุนระยะยาวก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดจนความเชื่อมั่นได้มากเช่นกัน นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัญหาการเมืองไทยที่ยืดเยื้อมานานยอมรับว่าส่งผลต่อปัญหาความเชื่อมั่่นของนักลงทุน แต่ปัจจุบันค่อยๆ ได้รับการ แก้ไขมากขึ้น ดังนั้นในระยะยาวประเทศไทยจึงน่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ เพราะปัจจุบันคสช. กำหนดโรดแมพในการแก้ไขปัญหาการเมือง โดยเชื่อว่าโรดแมฟที่ทยอยออกมาเป็นระยะๆ จะช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ประเทศไทยยังมีศักยภาพการลงทุน จากฐานการผลิตที่แข็งแกร่งในหลายอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน ตลอดจนความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ศูนย์กลางธุรกิจบริการสุขภาพในภูมิภาค ไม่แพ้ประเทศสิงคโปร์ รวมทั้งความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้การที่ีในภูมิภาคนี้กำลังจะปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปลายปี 2558 น่าจะการสร้างโอกาสและความท้าทายให้กับธุรกิจไทยมากขึ้น "ประเทศไทยมีโอกาสจากการที่อาเซียนกำลังจะเปิดเออีซี ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็แข็งแรง การค้าชายแดนก็มีสัดส่วนการค้าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราเองมีชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และยังเชื่อมโยงไปยังจีนตอนใต้" Tags : นักธุรกิจ • เศรษฐกิจไทย • เชื่อมั่น • คสช. • กานต์ ตระกูลฮุน • บุญชัย โชควัฒนา • แฟรงส์ คริงก์ • ส.อ.ท. • เนชั่น มัลติมีเดียกรุ๊ป • เออีซี