(รายงาน) เปิดแผนโครงสร้างพื้นฐาน ปรับโฉมคมนาคมประเทศ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยได้ข้อสรุปเป็นแผน 8 ปี จากงบประมาณปี 2558-2565 มีรายละเอียดดังนี้ สนข.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของไทยระยะเวลา 8 ปี 2558-2565 โดยเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ต้องการให้ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ก่อนที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาล สำหรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ประกอบไปด้วย 5 แผนงาน วงเงินรวมประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท สรุปได้ดังนี้ แผนงานที่ 1 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง วงเงินประมาณ 6.7 แสนล้านบาท โครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการในการดำเนินการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เช่น โครงการรถไฟทางคู่ 17 เส้นทางวงเงินรวมกว่า 4.7 แสนล้านบาท โครงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณทั่วประเทศ โครงการซ่อมบำรุงรถจักร และรถจักรดีเซลไฟฟ้า โครงการจัดหารถโบกี้บรรทุกสินค้า และโครงการจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ เป็นต้น แผนงานที่ 2 การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ใน กทม.และปริมณฑล วงเงินรวมประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท โครงการในแผนงานนี้ คือ โครงการรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง โดยโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑล หรือโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย โดยจะมีการประกวดราคาเพิ่มเติมอีก 112 กิโลเมตร หรืออีก 5 โครงการในระหว่างปี 2557 - 2558 โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,416 ล้านบาท ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์สั่งให้มีการดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2558 โครงการก่อสร้างถนนและสะพานใน กทม.และปริมณฑลเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่ขยายตัว ได้แก่ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อถนนราชพฤกษ์ - ถนนกาญจนาภิเษก แนวเหนือ-ใต้ และโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย แผนงานที่ 3 การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศสู่ประชาคมอาเซียน วงเงินประมาณ 6.4 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการสร้างโครงข่ายทางหลวงชนบทสนับสนุนการเกษตรและการท่องเที่ยว การสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างเมืองหลักและระหว่างฐานการผลิตหลักของประเทศ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) บางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา , บางใหญ่ - บ้านโป่ง- กาญจนบุรี และสายพัทยา - มาบตาพุด รวมทั้งโครงการเชื่อมโยงประตูการขนส่งระหว่างประเทศ เช่น โครงการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงทางหลวงระหว่างประเทศ โครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงชนบท แหล่งผลิตและประตูการค้า และโครงการในกลุ่มการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งถนนและองค์ประกอบอื่นๆ เพื่อให้เกิดการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เช่น โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า 15 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุก เป็นต้น แผนงานที่ 4 การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำเพื่อเพิ่มการขนส่งทางน้ำเพิ่มขึ้น 20% วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท โครงการพัฒนาท่าเรือปากบารา โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าในแม่น้ำป่าสัก โดยการก่อสร้างระบบป้องกันตลิ่งเพื่อพัฒนาร่องน้ำทางเดินเรือ เป็นต้น แผนงานที่ 5 การพัฒนาท่าอากาศยาน วงเงินรวมประมาณ 8.9 หมื่นล้านบาท แผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท การพัฒนาท่าอากาศดอนเมืองระยะที่ 2 - 3 (2561 - 2565) แผนพัฒนาท่าอากาศยานท่าอากาศยานภูเก็ต โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา โครงการปรับปรุงท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก และแผนงานเตรียมความพร้อมสู่โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานในประเทศไทยเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค Tags : สนข. • ยุทธศาสตร์ • โครงสร้างพื้นฐาน • คสช. • คมนาคม • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา