ทุนนอกไหลเข้าไทย1.6แสนล.

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 29 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    มอร์แกน สแตนเลย์ประเมินเงินนอกเกือบ 5 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.6 แสนล้านบาท ไหลกลับเข้า"ตราสารหนี้-หุ้น"

    มอร์แกน สแตนเลย์ ธนาคารชั้นนำของสหรัฐ ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง "การวางแผนลงทุนในดอกเบี้ยและสกุลเงินเอเชีย" ระบุว่าเดือนก.ค.ปีนี้ นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อตราสารหนี้ในตลาดไทยคิดเป็นมูลค่า 4.4 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.4 แสนล้านบาท ถือเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปี2555

    ขณะเดียวกัน มอร์แกน สแตนเลย์ ชี้ว่า กระแสเงินทุนต่างชาติมูลค่า 550 ล้านดอลลาร์ ก็ไหลเข้าไปซื้อหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทยช่วงเดียวกัน โดยมูลค่าดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ไหลออกไปในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ ดังนั้นรวมเข้าทั้งสองตลาดประมาณเกือบ 5,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.6 แสนล้านบาท

    ในบทวิเคราะห์ระบุด้วยว่า มีบริษัทไทยรอเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป หรือ ไอพีโอ เพิ่มจำนวนมากขึ้น ในเวลาที่ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นถึง 25%แล้วในช่วงปีนี้ ก่อนหน้านี้นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวคาดการณ์ว่า จะมีบริษัทไทยหลายแห่งเร่งรีบระดมทุน ซึ่งคาดว่าจะมีบริษัทจดทะเบียนใหม่ในตลาด 30 บริษัท สนใจเข้ามาระดมทุนอย่างน้อย 1 แสนล้านบาทช่วงครึ่งหลังของปีนี้

    งานวิเคราะห์ระบุว่า ขณะที่เงินเฟ้อทั่วโลกยังคุมได้ และไม่ก่อปัญหา ธนาคารกลางหลายประเทศยังคงใช้นโยบายผ่อนคลาย ทำให้นักลงทุนต่างชาติแห่กันเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ให้อัตราผลตอบแทนสูงในตลาดเกิดใหม่ย่านเอเชีย และพาการไล่ล่าหาผลตอบแทนที่ดีกว่าในตลาดไทย อินโดนีเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดี กระแสเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าเอเชียไม่ได้เจาะจงเข้ามาเฉพาะไทยเท่านั้น

    ทั้งนี้กรณีที่ต่างชาติรีบหวนกลับมาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยนั้น ทีมงานมอร์แกน สแตนเลย์ อธิบายว่า เป็นเพราะความตึงเครียดภายในประเทศไทยลดลง ทำให้กระแสเงินทุนไหลเข้าตราสารหนี้ไทยเดือนก.ค.ปีนี้ มีมากกว่าตลาดอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

    งานวิเคราะห์ชิ้นนี้ ยังประเมินเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ หรือ เอฟดีไอในไทยว่า นับตั้งแต่ยุบสภาผู้แทนราษฎรในเดือนธ.ค.ปี2556 การอนุมัติเอฟดีไอโดยกรมส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ สะดุดหยุดชะงัก และระหว่างเดือนพ.ย.2556จนถึงเดือนพ.ค.2557 มีเอฟดีไอได้รับการอนุมัติจากบีโอไอเพียง 4 หมื่นล้านบาท เทียบกับช่วงเดือนพ.ย.2555 จนถึงเดือนพ.ค.2556 ที่มีเอฟดีไอได้รับการอนุมัติถึง 4.3 แสนล้านบาท

    ทั้งนี้การประชุมบีโอไอครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2557 ในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ พบว่ามี 18 โครงการมูลค่ารวม 1.2 แสนล้านบาท ได้รับการอนุมัติ และคณะกรรมการบีโอไอให้สัญญาด้วยว่า จะแก้ปัญหาให้ได้ภายใน 2 เดือนข้างหน้า กรณีที่มีโครงการต่างๆ 200 โครงการที่ยื่นเรื่องเพื่อขออนุมัติ แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาและจากเอฟดีไอที่ได้รับการอนุมัติแล้วทั้งหมด พบว่าญี่ปุ่นยังคงเป็นแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศที่สำคัญ มีมูลค่าถึง 6.3 หมื่นล้านบาทในเดือนมิ.ย.ปีนี้

    ขณะเดียวกันเอฟดีไอที่เข้ามาสมัครยื่นเรื่องใหม่กับบีโอไอในเดือนมิ.ย. มีเพียง 9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ในเดือนมิ.ย.นี้ ถือเป็นเดือนที่มีการยื่นเรื่องขออนุมัติจากบีโอไอน้อย โดยช่วงที่มีการยื่นเรื่องขอบีโอไอมากสุด จะอยู่ในไตรมาสแรกและไตรมาสสุดท้าย

    ในช่วงท้ายมอร์แกน สแตนเลย์ ยังวิเคราะห์เกี่ยวกับดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยด้วยว่า โดยภาพรวมผลกระทบจากความผันผวนที่เกิดขึ้นกับดุลบัญชีการค้าของไทย อาจชดเชยได้ด้วยกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทยอยู่มาก ซึ่งการไหลเวียนของเงินลงทุนต่างชาติเข้าตลาดไทยล่าสุดในเดือนก.ค.ทำสถิติเกือบ 5 พันล้านดอลลาร์แล้ว ส่วนความผันผวนแบบมีขึ้นมีลง ซึ่งเกิดกับดุลบัญชีการค้าของไทยนั้น เฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.8 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือนนับตั้งแต่เดือนม.ค.2556

    บทวิเคราะห์ชี้ว่าช่วงที่ธนาคารกลางกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว พากันคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้ความต้องการไล่ล่าหาอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าของนักลงทุนทั่วโลก อาจทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบบาท ส่วนความเสี่ยงจากกรณีที่ดอลลาร์อ่อนค่าลงนี้ รวมไปถึงดอกเบี้ยสหรัฐปรับขึ้นเร็วและพัฒนาการเชิงลบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ โดยความเสี่ยงทั้งสองเรื่องนี้ อาจกระตุ้นให้เงินลงทุนจากต่างประเทศไหลออกจากไทยได้

    Tags : มอร์แกน สแตนเลย์ • เงินไหลเข้า • ตราสารหนี้ • ตลาดหุ้น

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้