เสนอ'ประยุทธ์'ชี้ขาด ส่งต่อครม.ใหม่เดินหน้าทันที โครงสร้างพื้นฐาน2.4ล้านล้าน ไม่รวม'รถไฟความเร็วสูง' สนข.เตรียมชง “ประยุทธ์”เคาะยุทธศาสตร์คมนาคม 8 ปี วงเงินกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ชงรัฐบาลใหม่เดินหน้าได้ทันที หวังฟื้นเชื่อมั่นระยะยาว แต่ยังไม่รวมรถไฟความเร็วสูง ขณะสศช.เสนอโครงการระบบราง ยันสร้างทางคู่ขนาดราง 1 เมตรเพียงพอรองรับการขนส่งในประเทศ ส่วนรางมาตรฐาน 1.4.35 เมตรสำหรับรถไฟความเร็วสูง แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่าสนข.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของไทยระยะเวลา 8 ปีช่วงปี 2558-2565 กระทรวงคมนาคมได้เตรียมที่จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อบริหารราชการแผ่นดินพิจารณาแล้ว โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ต้องการให้ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ก่อนที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลเนื่องจากต้องการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการเรื่องนี้ได้ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งบริหารประเทศในช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้ นอกจากนี้การที่มีความชัดเจนเรื่องแผนการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว สำหรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทยที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้ คสช.พิจารณา ประกอบด้วย 5 แผนงาน ซึ่งยังไม่รวมโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ คสช.ให้มีการศึกษาเพิ่มเติม วงเงินรวมประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท แผนงานแรก การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง วงเงินประมาณ 6.7 แสนล้านบาท โดยโครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการในการดำเนินการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เช่น โครงการรถไฟทางคู่ 17 เส้นทางวงเงินรวมกว่า 4.7 แสนล้านบาท โครงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณทั่วประเทศ โครงการซ่อมบำรุงรถจักร และรถจักรดีเซลไฟฟ้า โครงการจัดหารถโบกี้บรรทุกสินค้า และโครงการจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ เป็นต้น ส่วนรถไฟความเร็วสูงตามแผนงานที่เสนอให้พิจารณา คสช.อาจจะทางอาจจะไม่รวมโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงไว้ในแผนยุทธศาสตร์เลย หรืออาจเลือกเอาบางโครงการที่มีศักยภาพและมีความจำเป็นในอนาคต ที่ สนข. ได้เสนอไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ - เชียงใหม่ 3.8 แสนล้านบาท คสช.อาจพิจารณาดำเนินการในระยะที่ 1 กรุงเทพ - พิษณุโลก วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท ส่วนเส้นทางกรุงเทพ - หนองคาย วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท อาจมีการปรับแผนในการผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง-หนองคาย ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมกับ รถไฟความเร็วสูงในประเทศลาวและจีน ซึ่งจะเป็นโครงการที่มีศักยภาพในอนาคตหลังจากที่รถไฟความเร็วสูงในลาวจะสร้างเสร็จ โดยจะต้องมีการศึกษาวงเงินสำหรับโครงการดังกล่าวอีกครั้ง พัฒนาขนส่งสาธารณะ-ถนนกทม.1.2 ล้านล้าน แผนงานที่สอง การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ใน กทม.และปริมณฑล วงเงินรวมประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท โดยโครงการสำคัญในแผนงานนี้คือโครงการรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง โดยโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑล หรือโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย โดยจะมีการประกวดราคาเพิ่มเติมอีก 112 กิโลเมตร หรืออีก 5 โครงการในระหว่างปี 2557 - 2558 นอกจากนี้ มีโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,416 ล้านบาท ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์สั่งให้มีการดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2558 นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างถนนและสะพานใน กทม.และปริมณฑลเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่ขยายตัว ได้แก่ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อถนนราชพฤกษ์ - ถนนกาญจนาภิเษก แนวเหนือ-ใต้ และโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย สร้างทางหลวงเชื่อมฐานผลิต สำหรับแผนงานที่ 3 เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศสู่ประชาคมอาเซียน วงเงินประมาณ 6.4 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการโครงการสร้างโครงข่ายทางหลวงชนบทสนับสนุนการเกษตรและการท่องเที่ยว การสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างเมืองหลักและระหว่างฐานการผลิตหลักของประเทศ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง นอกจากนี้ แผนงานที่ 4 พัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำเพื่อเพิ่มการขนส่งทางน้ำเพิ่มขึ้น 20% วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือปากบารา โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าในแม่น้ำป่าสัก โดยการก่อสร้างระบบป้องกันตลิ่งเพื่อพัฒนาร่องน้ำทางเดินเรือ เป็นต้น พัฒนาสุวรรณภูมิเฟส2รวม8.9หมื่นล้าน สำหรับการพัฒนาท่าอากาศยาน เป็นแผนงานสุดท้าย วงเงินรวมประมาณ 8.9 หมื่นล้านบาท เช่น แผนการเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานในประเทศ เช่น แผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท การพัฒนาท่าอากาศดอนเมืองระยะที่ 2 - 3 (2561 - 2565) รวมทั้งแผนพัฒนาท่าอากาศยานท่าอากาศยานภูเก็ต "แผนงานที่ 5 นี้จะมีการหารือถึงความเหมาะสมในการลงทุน โดยโครงการลงทุนในการพัฒนาแผนงานนี้แนวทางการลงทุนอาจให้รัฐวิสาหกิจ เช่น บริษัทการท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงทุนเองเนื่องจากมีศักยภาพเพียงพอ หรืออาจให้เป็นการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (พีพีพี) รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโดยใช้กลไกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เป็นทางเลือกในการลงทุนเช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ที่มีขนาดการลงทุนเกินกว่า 1 แสนล้านบาทในแผนงานอื่นๆ ก็ให้มีการศึกษาทางเลือกของการลงทุนในรูปแบบต่างๆ" เผยภาคเอกชนต้องการรางคู่ก่อน ด้านแหล่งข่าวจากคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยด้วยว่าในการประชุม ร่วมกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าคสช. ฝ่ายเศรษฐกิจ เมื่อเร็วๆนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการคมนาคมขนส่งของประเทศ ได้แก่ กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ สนข.ได้ให้ข้อมูลกับ พล.อ.อ.ประจิน เกี่ยวกับการลงทุนในระบบรางของประเทศไทย ภายหลังได้มีข้อเสนอว่าในการลงทุนรถไฟทางคู่ที่ คสช.กำลังผลักดัน ควรจะมีการสร้างโดยใช้รางขนาด 1.435 เมตร เพื่อให้รองรับระบบรางในอนาคต "ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้การลงทุนรถไฟทางคู่สามารถรองรับการขนส่ง ทั้งคนและสินค้าได้ในเวลาอันรวดเร็วขึ้น" ใช้ราง1.435เมตรทั่วประเทศใช้ทุนสูง อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงให้ พล.อ.ประจิน ทราบว่าปัจจุบันเส้นทางรถไฟของประเทศไทยมีประมาณ 4,000 กิโลเมตร หากจะมีการเปลี่ยนแปลงรางเป็นขนาด 1.435 เมตร ทั้งหมด รวมทั้งสร้างรถไฟทางคู่ขึ้นมาใหม่ในขนาดรางเดียวกันจะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล เนื่องจากจะต้องมีการจัดซื้อหัวรถจักรใหม่ด้วย โดยเพื่อให้ใช้วิ่งในรางใหม่ที่จะมีการสร้าง ปัจจุบัน ค่าก่อสร้างรางรถไฟในแต่ละก.ม.ต้องใช้งบประมาณมากกว่าการก่อสร้างทางถนนประมาณ 10 เท่า เล็งใช้รถไฟความเร็วสูงราง1.435เมตร แหล่งข่าวกล่าวว่าข้อเสนอที่ต้องการให้ไทยสร้างราง ขนาด 1.435 เมตร เพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับทางรถไฟของประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต แหล่งข่าวกล่าวว่าปัจจุบันขนาดรางรถไฟในประเทศเพื่อนบ้านมีขนาดเท่ากับรางรถไฟของไทยคือขนาด 1 เมตร ซึ่งเมื่อมีการปรับปรุงให้มีสภาพดีขึ้นก็จะสามารถทำความเร็วได้ถึง 90 - 100 ก.ม./ช.ม. และเมื่อมีทางคู่อีกเส้นหนึ่งที่ขนานกันก็จะทำให้การขนส่งโดยระบบรางมีความคล่องตัวขึ้นโดยไม่ต้องเปลี่ยนรางใหม่ทั้งระบบ ส่วนในอนาคตจะมีรางรถไฟที่ประเทศจีนลงทุนให้ สปป.ลาวขนาดราง 1.435 เมตรนั้นในอนาคตเมื่อไทยศึกษาเส้นทางสำหรับรถไฟความเร็วสูงก็จะมีการลงทุนโดยใช้ขนาดราง 1.435 เมตร ซึ่งก็จะเชื่อมต่อเส้นทางไปยังประเทศจีนได้โดยเบื้องต้นได้ศึกษาการเชื่อมต่อในเส้นทาง กรุงเทพ - หนองคาย “ตอนที่มีการวางแผนที่จะมีการสร้างรถไฟความเร็วสูง เราได้วางแผนว่าจะสร้างรางขนาด 1.435 เมตรเอาไว้ เนื่องจากเป็นรางที่จะสามารถทำความเร็วได้ในระดับมากกว่า 150 ก.ม./ช.ม.ขึ้นไป ซึ่งตามแผนรถไฟความเร็วสูงจะใช้สำหรับการขนส่งคนหรือสินค้าที่มีมูลค่าสูง ขณะที่รถไฟขนาดรางปกติจะใช้สำหรับขนส่งสินค้าประเภทฮาร์ดแวร์ หรือผู้โดยสารที่ไม่ต้องการความเร่งรีบในการเดินทางมากนัก” แหล่งข่าวกล่าว Tags : แหล่งข่าว • สนข. • ยุทธศาสตร์ • คสช. • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา • ครม. • ระบบขนส่งสาธารณะ • โครงสร้างพื้นฐาน • รถไฟความเร็ว