ทริสเรทติ้ง เผยภาคเอกชนไทยยังแข็งแกร่ง ส่วนใหญ่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ ห่วง "สายการบิน-ท่องเที่ยว-ส่งออก" ทริสเรทติ้ง เผยภาคเอกชนไทยโดยภาพรวมยังแข็งแกร่ง ส่วนใหญ่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ แต่ห่วง 3 กลุ่มอุตสาหกรรม "สายการบิน-ท่องเที่ยว-ส่งออก" ฟื้นตัวช้า ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยเฉพาะธุรกิจสายการบิน เจอ 2 เด้ง ทั้งนักท่องเที่ยวชะลอเดินทางเข้าไทย บวกการแข่งขันรุนแรงจากโลว์คอสท์แอร์ไลน์ และต่างประเทศ ยังเกาะติดกลุ่มอสังหาฯและสื่อสาร หลังเลื่อนประมูล 4 จี เผย 7 เดือนที่ผ่านมา ปรับเพิ่มเรทติ้งไป 6 บริษัท ส่วนที่ปรับลดมี 2 แห่ง นายสันติ กีระนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง ให้สัมภาษณ์ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ภาพรวมธุรกิจของภาคเอกชนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ออกมาไม่ค่อยดีนัก จากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ลดลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาส และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ส่งผลกระทบกับทุกอุตสาหกรรม โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คือ กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มธนาคาร และกลุ่มพลังงาน เพราะยังมีการเติบโตอยู่แม้ว่าการเติบโตจะชะลอตัวไปบ้าง ทั้งนี้กลุ่มโรงพยาบาลที่พึ่งรายได้จากคนไข้ชาวต่างชาติเป็นหลัก จะได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ส่วนกลุ่มธนาคารพบว่าการเติบโตของรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยลดลง จากรายงานของนักวิเคราะห์สำนักต่างๆ พบว่ารายได้ดอกเบี้ยหายไปกว่า 50% นอกจากนี้ธนาคารที่มีลูกค้าเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ก็มีปัญหา เพราะสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่อยู่เหนือความคาดหมาย ขณะที่กลุ่มพลังงาน ซึ่งมีลูกค้าเป็นภาคอุตสาหกรรมอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง เพราะภาคเอกชนไม่มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน แต่ในส่วนของภาคครัวเรือนไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ต้องติดตามสำหรับกลุ่มพลังงาน คือ การปฏิรูปพลังงาน เพราะมี 2 ฝั่งที่มีความเห็นในเรื่องนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อีกฝ่ายอยากให้แปรรูปไปเลย อีกฝ่ายอยากให้รัฐกลับมาเป็นเจ้าของ จับตากลุ่มอสังหาฯ-สื่อสาร สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น คือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เพราะความต้องการหรืออุปสงค์ชะลอตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ ผู้ประกอบการเปิดโครงการต่างๆ ลดลง แต่หลังจากที่ปัญหาทางการเมืองคลี่คลาย ความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยกลับมา เป็นห่วงว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ผู้ประกอบการจะเร่งกลับมาเปิดโครงการใหม่หรือไม่ เพราะจะทำให้ซัพพลายในตลาดเพิ่มขึ้นไปมาก ในขณะที่ยังมีสต็อกเดิมก็ยังค้างอยู่ ทั้งๆ ที่ในช่วง 6 เดือนแรกแทบจะไม่มีการเปิดโครงการใหม่เลย "กลุ่มอสังหาฯ ยังเป็นกลุ่มที่ต้องจับตาดูต่อไป พื้นฐานของธุรกิจก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แม้ว่าซัพพลายจะสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้คนกลัวว่าจะเกิดฟองสบู่มา 4-5 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เกิด ที่สำคัญราคาก็ไม่ได้ปรับลดลงแต่อย่างใด" นอกจากนี้ยังต้องติดตามข้อมูลของกลุ่มสื่อสารด้วย แม้โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมไม่ได้มีปัญหา แต่ทางกสทช.ได้มีการเลื่อนประมูลโครงการ 4 จี ออกไป 1 ปี จากแผนเดิมจะประมูลไม่เกิน พ.ย.นี้ ทำให้แผนการลงทุนของผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย คงต้องมีการปรับเปลี่ยน เกิดภาพรวมไม่ชัดเจนขึ้น หากการเลื่อนประมูลออกไปไม่เกิน 1 ปี ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจไม่มาก แต่หากเลื่อนออกไปเกินปี 2558 ก็ต้องติดตามดูต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น ห่วง3กลุ่มอุตสาหกรรมฟื้นตัวช้า เขากล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลังของปีนี้ ฐานะการเงินของบริษัทเอกชนไทยยังแข็งแกร่ง แม้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ แต่เป็นห่วง 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังไม่เห็นภาพการฟื้นตัว ประกอบด้วยกลุ่มสายการบิน กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มการส่งออก "ปัญหาทางการเมือง นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปเยอะ ทั้งจากจีน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ทำให้ในไตรมาสแรก กระทบทั้งกลุ่มท่องเที่ยว และสายการบิน ซึ่งต้องเจอปัญหาการแข่งขันจากโลว์คอสท์แอร์ไลน์ และการแข่งขันจากสายการบินต่างประเทศ โดยในช่วงไตรมาสแรก กลุ่มท่องเที่ยวมีรายได้แค่ 1 ใน 4 ของประมาณการณทั้งปี จากที่ควรจะทำให้ได้ 50% ของประมาณการรายได้ทั้งปี เพราะเป็นช่วงไฮซีซัน ทำให้คาดการณ์ว่าปีนี้ทั้งปี โรงแรม หรือท่องเที่ยวจะทำรายได้ไม่ได้ตามเป้า แค่ 70% ก็ถือว่าเก่งแล้ว” สำหรับกลุ่มส่งออก ภาคเกษตรยังมีปัญหาจากโรคระบาดในกุ้งที่ยังไม่จบ และปัญหามาตรการที่ต่างประเทศใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่นปัญหาเรื่องการจัดการแรงงานต่างประเทศ การค้ามนุษย์ เป็นต้น จับตาความเชื่อมั่นฟื้นยั่งยืนหรือไม่ เขากล่าวต่อว่า หลังปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองคลี่คลาย ความมั่นใจและความเชื่อมั่นของคนในประเทศก็กลับมาดีขึ้น จากช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมาไม่ค่อยดี กำลังซื้อผู้บริโภคหายไป อย่างไรก็ตามต้องติดตามดูว่าความเชื่อมั่นที่ฟื้นตัวจะอยู่นานแค่ไหน หากอยู่ได้นานก็ถือเป็นปัจจัยบวกกับภาคธุรกิจ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการแก้ปัญหาของประเทศในเชิงโครงสร้าง หลังจากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาได้มีการแก้ปัญหาเร่งด่วน หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปแล้ว 7เดือนแรกเพิ่มเรทติ้ง6บริษัท ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนที่ผ่าน ทริสได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตเรทติ้งไป 6 บริษัท ประกอบด้วยบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) บริษัท ไทยคม (THCOM) บริษัท ศุภาลัย (SPALI) บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน และ (CNS) นอกจากนี้ยังได้ปรับมุมมอง บริษัท ช.การช่าง (CK) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) จากเป็นลบ (Negative) เป็นบวก (Positive) ขณะเดียวกันปรับมุมมองของบริษัท บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เป็นลบ จากหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบทั้งโรคระบาดในกุ้ง และมาตรการ การกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีจากต่างประเทศ และปรับมุมมอง บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป (CGS) เป็นลบ หลังมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหาร แล้วกระทบต่อส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) Tags : ทริสเรทติ้ง • สันติ กีระนันท์ • เอกชน • เศรษฐกิจ