"นริศ" ส่งคดีฟ้องร้องทุจริตในเอสเอ็มอีแบงก์ให้ "สาลินี" ว่าที่ประธานแบงก์คนใหม่ มั่นใจสะสางปัญหาในองค์กรได้ นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ อดีตประธานคณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งแต่งตั้งให้นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์แทนตน โดยกล่าวว่า ในฐานะที่นางสาลินีเคยทำงานเป็นผู้บริหารของธปท.เชื่อว่า จะสามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่สะสมอยู่ในธนาคารได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกรณีที่นางสาลินีจะสามารถเข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวอย่างเต็มเวลา เขากล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ตนได้เตรียมส่งมอบผลการดำเนินงานทุกด้านให้แก่นางสาลินี เพื่อให้สามารถสานงานต่อได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีคดีฟ้องร้องทุจริตอดีตผู้บริหารของธนาคารในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีคดีใหญ่ๆ กว่าสิบคดีที่ต้องการให้นางสาลินีได้เข้ามาช่วยสานต่อ เพื่อผลประโยชน์ต่อธนาคารและผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ คดีทุจริตส่วนใหญ่ ได้ถูกตรวจพบโดยธปท.ดังนั้น จึงมั่นใจว่า คดีทุจริตดังกล่าวจะได้รับการสะสาง สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงที่ตนเข้ามารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการ หรือตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน เขากล่าวว่า สามารถบริหารงานธนาคารให้มีกำไรก่อนหักสำรองหนี้สูญทุกๆ ปี ล่าสุดปี 2556 ธนาคารมีกำไรก่อนหักสำรองฯ ประมาณ 1.6 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 389 ล้านบาท โดยยอดหนี้เสียได้ทยอยลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ผลจากการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีประสิทธิภาพในช่วงปี 2552 ถึง 2554 ทำให้หนี้ทยอยกลับมาตกชั้นเป็นหนี้เสีย ทำให้ยอดหนี้เสียยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้ ในช่วงปี 2552 - 2554 ยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น โดยปลายปี 2554 ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 9.75 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นสินเชื่อในช่วงต้นปี 2552 จำนวน 4.34 หมื่นล้านบาท ซึ่งการปล่อยสินเชื่อในระยะแรกๆ นี้ จะยังไม่แสดงอาการหนี้เสีย แต่จะเริ่มปรากฏในช่วงปีถัดมา ทำให้ยอดการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในช่วงปี 2553-2555 เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาท "เหตุที่ต้องตั้งสำรองหนี้สูญจำนวนมาก มาจากการปล่อยสินเชื่อที่ขาดหลักประกัน หลักประกันไม่เพียงพอ แม้กระทั่ง ไม่ต้องมีบุคคลค้ำประกันในช่วงเวลาดังกล่าว และ แม้กระทั่งในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ธนาคารพ้นภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์แล้ว กำไรจากการดำเนินงานก่อนสำรองหนี้สูญ ยังต่ำ หรือ ขาดทุน เนื่องจาก ช่วงเวลาดังกล่าว เกิดปัญหาใหม่ที่ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน"เขากล่าว สำหรับการปล่อยสินเชื่อในปี 2555-2556 นั้น ยอดสินเชื่อคงค้างได้ลดลงเป็นเงิน 4.1 พันล้านบาท โดยสินเชื่อปลายปี 2556 ลดลงเหลือ 9.35 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน ได้มีการสืบข้อเท็จจริงความเสียของการปล่อยสินเชื่อผิดปกติในช่วงปี 2552-2554 และ ได้ข้อยุตินำมาสู่การออกคำสั่งให้อดีตกรรมการผู้จัดการพ้นจากตำแหน่งและฟ้องคดีทางศาลให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1.79 พันล้านบาท และ แจ้งความดำเนินคดีอาญาข้อหายักยอกฉ้อโกงอีก 1 คดี "การดำเนินงานในช่วงเวลาดังกล่าว ต้องปรับปรุงการดำเนินงานและหยุดการอำนวยสินเชื่อที่หละหลวม และเร่งรัดแก้ปัญหาหนี้เสีย ทำให้สินเชื่อคงค้างลดลงด้วย ขณะเดียวกัน เราได้เพิ่มดอกเบี้ยรับ โดยการเรียกเก็บดอกเบี้ยต่ำให้สูงขึ้น และ จัดเก็บดอกเบี้ยจากการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ในปี 2556 เรามีกำไรสูงสุดตั้งแต่จัดตั้งธนาคารมา"เขากล่าว Tags : นริศ ชัยสูตร • สาลินี วังตาล • เอสเอ็มอีแบงก์ • คสช.