การประชุมสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุป อย่างเป็นทางการว่า กลุ่มได้ปรับประมาณการณ์การผลิตรถยนต์ในปีนี้ลง 2 แสนคัน จาก 2.4 ล้านคัน เหลือ 2.2 ล้านคัน โดยในจำนวนนี้มาจากการปรับลดเป้ายอดขายในประเทศจาก 1.2 ล้านคัน เหลือ 1 ล้านคัน ขณะที่การส่งออกยังคงเป้าเดิม 1.2 ล้านคัน ตัวเลขที่ลดลง 2 แสนคัน อาจจะดูเหมือนมาก และสร้างความตกอกตกใจให้กับหลายคนพอสมควร แต่หากติดตามข่าวสารมาตลอดตั้งแต่ต้นปี จะพบว่าเป็นทิศทางที่ค่ายรถประเมินล่วงหน้า และเตรียมการตั้งรับเอาไว้แล้ว สำหรับตัวเลขที่ได้จะมาจากที่สมาชิกแต่ละรายนำผลประกอบการ และแผนธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังมาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเป้าขายในประเทศล่าสุดจำนวน 1 ล้านคันนั้น สูงกว่าที่ผู้บริหารค่ายรถยนต์ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ เช่น ฮิโรชิ นาคางาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ที่มองว่าน่าจะมียอดต่ำกว่า 1 ล้านคัน เล็กน้อย เนื่องจากยอดขายในช่วง 5 เดือนแรก หดตัวลงไปค่อนข้างรุนแรง 42-43% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2556 อีกทั้งปัจจัยที่จะผลต่อตลาดหลายอย่าง ยังไม่ดีนัก ไม่ว่าจะเป็นดัชนีเศรษฐกิจ ราคาพืชผลการเกษตร ทั้งยางพารา หรือว่าข้าว รวมไปถึงผลกระทบจากโครงการรถคันแรกที่ยังส่งผลมาถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามผู้บริหารอีซูซุ ก็ยังมองว่า สถานการณ์ตลาดไม่ได้เลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหักตัวเลขของรถคันแรกออกไป ยอดขายปีนี้ก็หดตัวลงไม่มาก และก็ยังเชื่ออีกว่าหลังจากบ้านเมืองนิ่งมากขึ้น มีมาตรการผลักดันเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ตลาดรถยนต์น่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ส่วนพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฎิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ก็เห็นไปในทางเดียวกันว่า ช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ตลาดตกลงไปมาก ฉะนั้นทำให้คาดว่ายอดขายโดยรวมทั้งปีน่าจะอยู่ในระดับ 9.5 แสนคัน แต่ถ้าหากตลาดฟื้นเร็วจากการเมือง และเศรษฐกิจ เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี ความรู้สึกเรื่องการตื่นตัวในการบริโภคเริ่มกลับมาดีขึ้น หลังจากที่ดัชนีความมั่นใจผู้บริโภคตกลงโดยตลอดก่อนหน้านี้ การกระตุ้นของตลาดของผู้ค้า โดยเฉพาะการมีรถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด ก็อาจจะเพิ่มขึ้นไปถึง 9.85 แสนคัน ในส่วนของฮอนด้าก็ปรับเป้าลงจาก 1.6 แสนคันเหลือ 1.35 แสนคัน ด้านวัลลภ ตรีฤกษ์งาม ผู้อำนวยการฝ่ายการขาย และการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่า ตลาดน่าจะอยู่ที่ระดับ 9 แสนคัน หลังจากการออกตัวช่วงต้นปีทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตัวเลขยอดขายอย่างเป็นทางการล่าสุด เดือน มิ.ย.ออกมา หลังจากบ้านเมืองสงบ ค่ายรถชี้ว่า เริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น จากยอดขายที่ทำได้ 7.37 หมื่นคัน ซึ่งเป็นการขยับขึ้นมาสู่ระดับสูงกว่า 7 หมื่นคันอีกครั้ง หลังจากร่วงไปอยู่ต่ำกว่า 7 หมื่นคันก่อนหน้านี้ ทั้งๆที่ปกติ มิ.ย. ไม่ถือว่าเป็นเดือนแห่งการขายรถ ซึ่งสัญญาณตัวเลขการขายที่เพิ่มขึ้น และปัจจัยอื่นๆ รวมทั้งการมีรถใหม่ออกสู่ตลาดหลายรุ่น เช่น ปิกอัพ นิสสัน นาวารา ฮอนด้า แอคคอร์ด ไฮบริด และอีกหลายๆรุ่นที่จะตามมา เช่น ปิกอัพมิตซูบิชิ หรืออาจจะรวมถึงโตโยต้า ทำให้เป็นแรงผลักดันตลาดให้กลับมาสู่ระดับ 1 ล้านคันได้อีกครั้ง แม้ว่าตลาดในประเทศจะทำได้ 1 ล้านคัน หรือต่ำกว่า แต่แวดวงยานยนต์เห็นว่าภาพรวมอุตสาหกรรมยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดส่งออกยังทำได้ดี และตัวเลขคาดการณ์ 1.2 ล้านคันนั้น สูงกว่าปีที่แล้วที่ทำได้ 1.1 ล้านคัน โดยช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา การส่งออกเพิ่มขึ้น 3.6% ทั้งนี้แนวโน้มของการส่งออกน่าจะยังคงอยู่ในทิศทางที่เติบโตต่อไป เนื่องจากบริษัทแม่หลายค่าย ให้ความสำคัญกับกิจกรรมนี้มากขึ้น เช่น นิสสันที่เตรียมส่งออกปิกอัพใหม่ไป 45 ประเทศ หรือข่าวที่ออกจากญี่ปุ่นว่า มิตซูบิชิ เตรียมส่งรถอีโค คาร์ รุ่น แอททราจ จากไทย ให้กับไครสเลอร์เพื่อทำตลาดในเม็กซิโกในเร็วๆนี้อีกด้วย Tags : ยานยนต์ • จับตา • อุตสาหกรรม • รถยนต์ • ตลาดรถยนต์