ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เวทีสัมมนา ครั้งที่ 2 "การปฏิรูปประเทศไทย : การเข้าสู่อำนาจของสมาชิกรัฐสภา" โดยสถาบันพระปกเกล้าร่วมกับกระทรวงกลาโหม จัดขึ้นที่กระทรวงกลาโหม นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ปาฐกถาพิเศษถึงแนวทางการดำเนินงานภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีสมาชิก 220 คน เลือกนายกฯ และให้นายกฯ เลือกรัฐมนตรีอีก 35 คนนั้น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้รัฐมนตรีมีหน้าที่ 2 ด้าน ทั้งงานบริหารและส่งเสริมให้มีการปฏิรูปและปรองดองในชาติ ตามเจตนารมณ์ของคสช. หวังว่าจะไม่ให้การยึดอำนาจเสียเปล่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าวว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ประกอบด้วย 250 คน มีหน้าที่ 2 อย่าง คือ จัดทำข้อเสนอด้านปฏิรูปต่างๆ ทั้ง 11 ด้าน และให้ความเห็นกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ สปช. จึงไม่มีอำนาจจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเอง แต่มีสิทธิ์เสนอแนะ อภิปราย ข้อคิดเห็นให้ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ ส่วน กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญมีสมาชิก 36 คน จะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมใน 10 ประเด็นที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 ต้องทำให้ประชาธิปไตยเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ไม่ใช่ลอกฝรั่งมาทั้งหมด จากนี้จะใช้เวลาอีก 11 เดือนหรือประมาณ 325 วัน จะได้เห็นรัฐธรรมนูญใหม่ เว้นแต่ กมธ. จะร่างไม่เสร็จภายใน 120 วัน หรือ สปช. ไม่เห็นชอบ หรือพระมหากษัตริย์ทรงยับยั้ง "รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาตรา 35 (4) หากซื้อเสียงแล้วถูกตัดสิน โอกาสจะกลับมาเล่นการเมืองนั้นแทบไม่มี จึงเป็นการสกัดกั้นการซื้อเสียงของนักการเมืองได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อป้องกันหุ่นเชิดทางการเมืองจึงเสนอให้ตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิตหากพบหลักฐานการซื้อเสียงอย่างชัดเจน" นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าว