ชี้ทางรอดสินค้าชุมชนสร้างแบรนด์ยกระดับ "พรีเมียม" นำเสนอความหลากหลายที่ตำแหน่ง ถูกและคุณภาพพอใช้ วานนี้ (24 ก.ค.) มีการจัดเสวนาเรื่อง" การพัฒนารูปแบบความร่วมมือภาคเกษตรและอุตสาหกรรมด้วยเครือข่าย ppp@p "จัดโดยสำนักงานสนับสนุนกองทุนการวิจัย (สกว.) นางสาวสุวรรณดี ไชยวรุตม์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทเถ้าแก่น้อย ฟู้ดส์แอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนารูปแบบความร่วมมือห่วงโซ่อุปทานระดับโลกกับการพัฒนาโครงสร้างด้านเกษตรและอาหารไทย ในอนาคตจะต้องทำร่วมกัน โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค และผลิตเพื่อเป็นวัตถุดิบส่วนใหญ่ ให้สินค้าแต่ละหมวดเติบโต ดูแลคู่ค้า เป้าหมายหลักคือให้มีวัตถุดิบเพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพในอุตสาหกรรมและลดการนำเข้า ทั้งนี้สินค้าที่จะอยู่รอดในอนาคตได้ คือ สินค้าระดับพรีเมียมที่วางตำแหน่ง ราคาแพงและดีมาก อีกทั้งนำเสนอความหลากหลายที่ตำแหน่ง ถูกและคุณภาพพอใช้ ดังนั้นสินค้าชุมชนที่ผลิตอย่างประณีต พิถีพิถัน สร้างความสุขจากเรื่องเล่าที่มีฐานจากวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและธรรมชาติรวมถึงวิธีการผลิต โดยมีหัวใจสำคัญคือ การสร้างแบรนด์ชุมชน จะสามารถวางขายได้ แต่ควรมีเป้าหมายหลักคือ ให้กำไรตกอยู่ที่เกษตรกร นางทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การกำหนดโครงสร้างของ PPP&P เพื่อเป็นโมเดลขับเคลื่อนเพื่อเศรษฐกิจการค้าและความมั่นคงด้านอาหารในรายสินค้ายุทธศาสตร์ ท่ามกลางกระแสตลาดโลกและการแข่งขันนั้น ภาคเกษตรจะต้องมีการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีห้องปฏิบัติการและการตรวจรับรอง ซึ่งจะต้องได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยี เครื่องจักร และนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา สำหรับข้อเสนอการขับเคลื่อนสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งของชุมชนและประเทศชาติ ต้องมีตลาดเชื่อมโยง อุปสงค์ อุปทาน เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม มีระบบมาตรฐาน ตรวจสอบรับรองตลอดห่วงโซ่ คิวอาร์โค้ด มีการสร้างการร่วมกลุ่มเกษตรกร วิจัยพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้และระบบส่งเสริม พัฒนาบุคลากร ลดการสูญเสีย และส่งเสริมเงินทุน รวมถึงมีระบบขนส่งและปัจจัยการผลิตที่ดี ทั้งเรื่องพันธุ์ ปุ๋ย การควบคุมป้องกันโรค การใช้พื้นที่ และน้ำ นางสาวลัดดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กรอบการพัฒนาการเกษตรและอาหาร ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 มีประเด็นท้าทาย เช่น กฎกติกาใหม่ของโลกและประชาคมอาเซียน ความอ่อนแอในภาคเกษตร ฐานทรัพยากรลดลง สังคมสูงอายุ พฤติกรรมการบริโภค การใช้พลังงานที่ผลิตจากพืช และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ยังไม่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาในภาคเกษตรมากนัก และไทยจะปรับตัวอย่างไรเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หลายประเทศใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทำการเกษตรของตัวเองและลดการนำเข้าจากไทย ซึ่งต้องบูรณาการทั้งหมด โดยมีแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรของไทย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลอดห่วงโซ่มูลค่า นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า เส้นทางเกษตรกรรมยั่งยืนของสังคมในการผลิตแบบตลาดจำเพาะ ผู้ผลิตต้องตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศ สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ผลิตต้องสร้างความจำเพาะในคุณค่าของสินค้าโดยใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีกลไกของกิจกรรมและการจัดการที่ดี โดยมีการเชื่อมต่อกิจกรรมกลางน้ำด้วยการผูกโยงเครือข่ายสร้างเป็นตลาดจำเพาะที่มีกลไกรับรองคุณค่า มีช่องทางในการกระจายสินค้าที่เป็นธรรม ส่วนผู้บริโภคจะต้องได้รับคุณค่าจากการบริโภคอาหารที่ได้คุณภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย เข้าถึงได้และมีอยู่อย่างเพียงพอสำหรับรูปแบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าเกษตรจะต้องมีเกษตรพันธสัญญารูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นระบบธุรกิจที่ มีการอำนวยความสะดวกและประสานการผลิตต้นน้ำสู่ปลายน้ำเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการจัดการการผลิตและการตลาดภายใต้ระบบสหกรณ์และการสนับสนุนของมูลนิธิ-องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรหรือชุมชน รวมถึงมีการสร้างห่วงโซ่คุณค่าจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ โดยมีการจัดการการผลิตและการตลาดภายใต้กิจการเพื่อสังคมและระบบการค้าที่เป็นธรรม Tags : สุวรรณดี ไชยวรุตม์ • บริษัทเถ้าแก่น้อย • เศรษฐกิจ • ธุรกิจ • สินค้า • สกว. • ฟู้ดส์แอนด์มาร์เก็ตติ้ง • อย. • อุปสงค์ • อุปทาน • ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ • ลัดดาวัลย์ คำภา • สมพร อิศวิลานนท์