(รายงาน) ธปท.ชี้ความเชื่อมั่นต่างชาติฟื้น การเมืองนิ่ง-ทุนไหลเข้าเอเชีย นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โชว์ตัวเลขค่าธรรมเนียม'ซีดีเอส'ลดลงต่อเนื่อง สะท้อนความเชื่อมั่นนักลงทุนฟื้นตัว นอกจากสัญญาณที่ปรากฏให้เห็นจากเงินทุนไหลเข้าตลาดทุนและค่าเงินบาทแข็งค่า มีรายละเอียดดังนี้ นางรุ่ง กล่าวว่านักลงทุนต่างชาติเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มากขึ้น สะท้อนได้จากเงินทุนที่ไหลเข้าต่อเนื่องทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรตลอดเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันถ้าดูค่าธรรมเนียมของตราสารอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (ซีดีเอส) จะเห็นว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ค่าธรรมเนียมของตราสารชนิดนี้ปรับลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คุมอำนาจจากรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. ซึ่งเข้าสู่เดือนที่ 3 "ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ถ้ามองจากด้านอื่นที่ นอกเหนือจากเงินทุนไหลเข้า เช่น ดูผ่านตราสารซีดีเอส ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่นักลงทุนสามารถจ่ายเพื่อซื้อเครื่องมือการเงินเพื่อลดความเสี่ยงของการถือตราสารหนี้ของรัฐบาลไทย จะเห็นว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ค่าธรรมเนียมของเราลดลงมากสุดเมื่อเทียบประเทศอื่นในภูมิภาค" สำหรับค่าธรรมเนียมตราสารซีดีเอสช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ของไทยปรับลดลงมากสุดในภูมิภาค โดยลดลงประมาณ 0.28% หรือ ลดลงจากระดับ 1.33% เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 มาอยู่ที่ 1.05% ขณะที่มาเลเซียลดลง 0.12% โดยลดจากระดับ 0.97% มาอยู่ที่ 0.85% และ ฟิลิปปินส์ ลดลง 0.07% หรือลดจากระดับ 0.95% มาอยู่ที่ 0.88% การที่ค่าธรรมเนียมตราสารซีดีเอสของไทยปรับลดลงมากสุดในภูมิภาค สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยเป็นพิเศษ ประกอบกับในช่วงนี้สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีข่าวดีออกมาต่อเนื่อง จึงมีผลให้นักลงทุนต่างชาติเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในประเทศไทย ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ทำให้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย "ช่วงที่ผ่านมานักลงทุนในตลาดโลกมีความเชื่อมั่นในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น และประเทศไทยก็เริ่มมีข่าวดีทยอยออกมา ทั้งเรื่องเศรษฐกิจที่เดินหน้าได้มากขึ้น การเมืองมีความคืบหน้า เช่น การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดการแต่งตั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ รวมทั้งคณะรัฐมนตรี ข่าวเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเพิ่มน้ำหนักลงทุนในไทย เห็นได้จากเงินทุนที่ไหลเข้าทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรตลอดเดือนก.ค." แต่การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ธปท.จะติดตามการเคลื่อนไหวของเงินบาทไทยผิดไปจากสภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจหรือไม่ ขณะเดียวกันก็จะคอยดูแลไม่ให้เงินบาทมีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนมากจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคธุรกิจ "การพิจารณาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ธปท. ไม่อยากให้ดูเพียงช่วงสั้นหรือแบบวันต่อวัน แต่ควรพิจารณาในภาพระยะยาว เพราะถ้าย้อนดูช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วงนั้นประเทศไทยเผชิญปัญหาทางการเมือง ทำให้เงินบาทไทยอ่อนค่าลงไปมากเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค" แต่หลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง นักลงทุนต่างชาติเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ก็กลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีกครั้งทำให้ค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น ดังนั้นการแข็งค่าของเงินบาทไทยในช่วงนี้จึงเป็นลักษณะไล่ตาม (CATCH UP) ค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา เงินบาทไทยมีระดับการแข็งค่าประมาณ 3.4% "หลังจากปัจจัยการเมืองเริ่มทยอยหมดไป ทำให้ต่างชาติเพิ่มการลงทุน ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งระยะสั้นอาจจะมากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ อยู่บ้าง แต่ถ้าดูตั้งแต่ต้นปีมา เงินบาทยังแข็งค่าน้อยกว่าบางประเทศ เช่น รูเปี๊ยะห์ของอินโดนีเซีย ซึ่งถ้าวัดดูเราถือว่าอยู่ใกล้กับ ริงกิตของมาเลเซีย และวอนของเกาหลีใต้" สำหรับผู้ประกอบการภาคส่งออกของไทยนั้น อยากแนะนำให้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ เพราะต้องไม่ลืมว่าเงินบาทสามารถเคลื่อนไหวได้ในทั้ง 2 ทิศทาง จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งปัจจัยภายนอกก็มีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะการตีความเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลักอย่างสหรัฐ ซึ่งตรงนี้มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายมากเช่นกัน Tags : รุ่ง มัลลิกะมาส • ธปท. • ค่าธรรมเนียม • เศรษฐกิจ • ชำระหนี้ • นักลงทุน