'บีโอเจ'เร่งเอเชียรีโมเดลเศรษฐกิจ

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 25 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "บีโอเจ"หนุนชาติเอเชียรวมไทย รีโมเดลเศรษฐกิจเติบโตแบบสมดุล รับมือภาวะตระหนก จากกระแสเงินทุนไหลออก

    ช่วงสหรัฐทยอยลดคิวอี แนะทั้งภูมิภาคเพิ่มอุปสงค์ภายในจากชนชั้นกลาง ควบคู่กับการเร่งแก้ปัญหาประชากรศาสตร์ สร้างพลวัตแข็งแกร่งขับเคลื่อนภูมิภาค พร้อมเร่งผู้ดูแลกฎระเบียบใช้นโยบายเศรษฐกิจการเงินผสมผสาน โดยเฉพาะมาตรการดูแลการเงินแบบเฉพาะเจาะจง ป้องกันความเสี่ยงจากสินเชื่อขยายตัวเร็วก่อฟองสบู่

    ในโอกาสที่ ฮารูฮิโกะ คูโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เดินทางมาเยือนไทย ตามคำเชิญของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วานนี้ (24 ก.ค.) เขาได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ระหว่างงานเลี้ยงต้อนรับในหัว “เอเชียมีส่วนช่วยโลกเติบโต” ว่า จากประสบการณ์การเป็นผู้ว่าการบีโอเจมานาน 16 เดือน และจากการเป็นอดีตประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) มาหลายปี เขามองเศรษฐกิจเอเชียเวลานี้มี "ชนชั้นกลาง" ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น และคนกลุ่มนี้ถือเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียในอนาคต

    "ชนชั้นกลางขณะนี้ ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจโลกขยายตัว แนวโน้มนี้บ่งบอกว่าเอเชียใช้โมเดลสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจสมดุลมากขึ้น เอเชียกำลังลดพึ่งพาการส่งออกที่อาศัยดีมานด์เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว มาเป็นอุปสงค์จากภายในเกิดจากรายได้เพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง ผลักดันเศรษฐกิจขยายตัว"

    นายคูโรดะ เตือนถึงความท้าทาย ซึ่งจะเป็นปัญหาในการปรับเปลี่ยน เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่สมดุลว่า อยู่ที่การผสมผสานใช้การส่งออกควบคู่กับอุปสงค์ภายใน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติเอเชียให้ขยายตัวได้ทั้งในระยะกลางถึงยาว โดยชาติเอเชียจำเป็นต้องรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ ความเสี่ยงที่เกิดจากการขยายตัวของสินเชื่อในประเทศ ซึ่งต้องมาพร้อมกับการสร้างเสถียรภาพให้ระบบการเงินภายในประเทศ

    ยกกรณีญี่ปุ่นเร่งเอเชียแก้ปัญหา

    ผู้ว่าการบีโอเจยังให้คำแนะนำอ้างอิงประสบการณ์ของญี่ปุ่นในอดีตและปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ว่า ญี่ปุ่นเผชิญกับปัญหาอย่างที่หลายประเทศเอเชีย โดยเฉพาะไทยและเกาหลีใต้มีแนวโน้มต้องเผชิญเช่นกัน คือการรับมือกับประชากรสูงวัยที่มีเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดลดลง ในทิศทางเดียวกับจำนวนแรงงานในประเทศที่ปรับลดลงเช่นกัน

    โครงสร้างประชากรศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ อาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของประเทศ อาจทำให้เกิดปัญหาการขาดดุลการคลังในอนาคต ญี่ปุ่นจึงใช้วิธีบริหารจัดการระบบสาธารณสุขกับระบบประกันรับมือเรื่องนี้

    เขากล่าวว่า ญี่ปุ่นหวังให้ชาติเอเชียอื่นๆ นำประสบการณ์ของญี่ปุ่นไปปรับใช้ และย้ำว่าชาติเอเชียต้องใช้ความพยายามแต่เนิ่นๆ เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงประชากรศาสตร์ เพื่อให้การพัฒนาสร้างอุปสงค์ในประเทศเกิดผลสำเร็จ และช่วยให้เกิดเศรษฐกิจเติบโตได้แบบสมดุล ซึ่งจะเป็นพลวัตใหม่ช่วยเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียได้

    ระวังสินเชื่อโตเกินก่อฟองสบู่

    นายคูโรดะ เตือนชาติเอเชียว่า จากประวัติศาสตร์การเงินโลกให้บทเรียนเอเชียว่า ให้ระวังฟองสบู่ที่เกิดขึ้นจากการมองโลกในแง่ดีปล่อยให้สินเชื่อในประเทศขยายตัวมากเกินไป ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดเป็นฟองสบู่ในญี่ปุ่น ฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐ หรือสินเชื่อขยายตัวร้อนแรงเกินไปในยุโรป ฟองสบู่เหล่านี้ล้วนนำพาไปสู่ความล้มเหลวกลายเป็นวิกฤตการเงินมาจากการเติบโตเกินไปของสินเชื่อ

    "อันตรายอยู่การปล่อยให้สินเชื่อในประเทศเพิ่ม การกู้เงินระยะสั้นเกิดขึ้นขณะที่ตลาดการเงินไม่ได้รับการพัฒนาเชิงลึก การใช้นโยบายผ่อนคลายและไม่มีมาตรการควบคุมดูแลการไหลของเงินทุนเข้ามาในเอเชีย ปล่อยให้เงินทุนเหล่านี้ก่อความบิดเบือนในระบบการเงิน ราคาสินทรัพย์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของหลายประเทศปรับขึ้นเพราะเงินนอกที่ไหลเข้ามา ราคาที่ปรับขึ้นได้ส่งผลกระทบลูกโซ่ถึงภาคการเงินของประเทศ"

    ดังนั้นผู้ว่าการบีโอเจจึงแนะนำผู้ดูแลกฎระเบียบของไทยและชาติเอเชีย ป้องกันการเกิดความบิดเบือนและความเสี่ยงอาจเกิดขึ้น ด้วยการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการกระแสเงินทุน ให้กระแสเงินทุนไหลเข้ามาเพื่อช่วยให้เกิดผลิตภาพและเป็นการลงทุนก่อเกิดประสิทธิภาพภายในประเทศ ภายใต้ภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป

    ชมธปท.ใช้มาตรการดูแลดี

    นายคูโรดะยกกรณีหลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะไทยนั้น ทางธปท. ได้นำนโยบายเป็นมาตรการควบคุมดูแลภาคการเงินแบบเฉพาะเจาะจง (MACRO PRUDENTIAL MEASURES) เหมือนอย่างที่สหรัฐและในยุโรปเคยใช้มาแล้ว ซึ่งธปท.สามารถนำมาตรการนี้มาใช้ดูแลสถาบันการเงิน เพื่อจำกัดการขยายตัวของสินเชื่อภายในประเทศรวมถึงสินเชื่อภาคครัวเรือนได้เป็นอย่างดี

    นอกจากนี้ เขามองว่า ประเทศเอเชียควรพัฒนาปรับโครงสร้างพื้นฐานการเงินสำคัญอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนามาตรฐานการตรวจสอบทางบัญชี การมีธรรมาภิบาลในภาคการเงินและภาคเอกชน และพัฒนาผู้เล่นเป็นตัวกลางในภาคการเงิน อย่างไรก็ดีแต่ละประเทศในเอเชียควรใช้มาตรการต่างๆ แบบผสมผสาน ซึ่งขึ้นอยู่กับเป้าหมายและลักษณะระบบการเงินในประเทศ แต่ขอให้แต่ละประเทศยึดนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว ที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจสดใสขยายตัวมากขึ้น

    เร่งปรับภาคการเงินรับมือลดคิวอี

    นายคูโรดะ ยังกล่าวถึง อุปสงค์ในชาติเอเชียรวมไทย จะสามารถขยายตัวช่วยผลักดันเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องว่า ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การป้องกันการขยายตัวของสินเชื่อเข้าไปในส่วนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งต้องได้มาตรการควบคุมดูแลภาคการเงินแบบเฉพาะเจาะจงจากผู้กำหนดนโยบายการเงิน ,การดำเนินการและพัฒนาในทางปฏิบัติเพื่อให้ภาคการเงินมีประสิทธิภาพกับการรับมือและป้องกันภาวะตื่นตระหนกทางเศรษฐกิจ และสุดท้ายคือการสร้างความยืดหยุ่นให้ระบบการเงิน เพื่อป้องกันความเสียหายอาจเกิดขึ้นจากภาวะตื่นตระหนก

    เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกประเทศในเอเชีย ต้องปรับภาคการเงินมีนโยบายผลักดันผลิตภาพและมีประสิทธิผลไว้ให้พร้อมเพื่อเตรียมรับมือภาวะตื่นตระหนก ในกรณีต่างกระแสเงินลงทุนจากทั่วโลกไหลเข้าออกอย่างรวดเร็ว ในช่วงที่สหรัฐทยอยลดใช้นโยบายผ่อนคลายการเงิน (คิวอี) เพราะบางประเทศในเอเชียอาจเผชิญกับทุนไหลออกมาก โดยเฉพาะประเทศมีปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดและปัญหาขาดดุลการคลัง ต้องระวังและเตรียมพร้อมรับมือปัญหาดังกล่าว

    หนุนสร้างเครือข่ายความปลอดภัย

    ผู้ว่าบีโอเจยังกล่าวถึงการสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมว่า เป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศในเอเชียต้องมี เพื่อป้องกันภาวะตื่นตระหนก และช่วยลดวิกฤตอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งในอดีตอาเซียนบวก 3 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ว่าเคยลงนามในความริเริ่มที่เชียงใหม่ เป็นข้อตกลงสวอปค่าเงินช่วยเหลือกันในยามฉุกเฉิน

    นอกจากนี้ เขาเพิ่มเติมว่า ประเทศในเอเชียไม่ควรให้ความสำคัญแต่การส่งออก แต่ต้องสนับสนุนการบริโภคในประเทศ การส่งเสริมธุรกิจระดับท้องถิ่นให้เติบโต เพื่อมีส่วนช่วยผลักดันให้อุปสงค์ภายในขยายตัว

    ในภาคการเงินผู้เล่นในภาคธนาคารของญี่ปุ่น พยายามขยายธุรกิจออกไปในตลาดต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบริษัทญี่ปุ่นในต่างประเทศที่กระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ ในเอเชีย เป็นการช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้บริษัทญี่ปุ่นในต่างประเทศได้

    วิกฤตการเมืองกระทบเอเชียไม่มาก

    ระหว่างการถามตอบ คูโรดะกล่าวถึงปัญหาการเมืองและความมั่นคงเกิดขึ้นในหลายประเทศแถบเอเชีย โดยเขากล่าวว่า ในฐานะผู้ว่าการบีโอเจ เขามองปัญหาต่างๆ อย่างระมัดระวัง และยังจับตาดูพัฒนาการเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง

    เขายอมรับว่า ความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์การเมือง อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจญี่ปุ่น ช่วง 2 เดือน สถานการณ์ในยูเครนเป็นหนึ่งในความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์การเมืองครั้งใหญ่ที่สุดที่โลกเผชิญอยู่ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเขาได้รับข้อมูลที่สัมมนาระดับโลกที่กรุงนิวยอร์กว่า วิกฤตทั่วโลกในขณะนี้มีผลต่ออุปทานทั่วโลกคิดเป็น 3%ของทั้งหมด ที่ผ่านมาปัญหาในอิรักก็ส่งผลต่อราคาน้ำมันช่วงสั้นๆ

    โดยความกังวลเรื่องราคาโภคภัณฑ์ และความกังวลในตลาดการเงิน ทำให้เขามองว่าความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์การเมืองทั้งในยูเครนและที่ผ่านมาในอิรัก ไม่ได้ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกล่าช้ามากนัก แต่ในฐานะผู้ว่าการบีโอเจยังต้องเฝ้าติดตามและระวังความเสี่ยงเหล่านี้ไว้

    ชมไทยยืดหยุ่นรับการเมืองเปลี่ยน

    ในช่วงท้ายการถามตอบ คูโรดะกล่าวถึงพัฒนาการของการเมืองไทยนั้น เป็นที่สนใจของนักการเมืองญี่ปุ่น เพราะไทยเป็นฐานการผลิตและมีสาธารณูปโภคพร้อม และไทยเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการของบริษัทญี่ปุ่นมากมายหลายแห่ง และไทยกับญี่ปุ่นก็มีสัมพันธ์การค้ากับไทยมายาวนานทำให้การค้าทั้งสองประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ดังนั้นอะไรก็ตามส่งผลกระทบต่อไทย ย่อมเป็นที่สนใจของนักการเมืองญี่ปุ่นด้วย

    Tags : บีโอเจ • ชาติเอเชีย • เศรษฐกิจ • คิวอี • ประชากรศาสตร์ • ฮารูฮิโกะ คูโรดะ • ญี่ปุ่น

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้