ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์คาดเงินบาทครึ่งปีหลังอยู่ที่33บาท/ดอลลาร์พร้อมคงเป้าจีดีพีปีนี้โต1.6%หลังการเมืองนิ่ง น.ส.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB กล่าวว่า ศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ประเมินว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลัง อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ ถึงแม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จากการที่การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพดีขึ้น แต่ EIC ประเมินว่า ค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งปีหลัง จากเงินทุนไหลออกจากประเทศเกิดใหม่ ซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่มีแนวโน้มคงที่ที่ 2% ในช่วงครึ่งปีหลัง และเป็นระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคพอสมควร และจากการที่ส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้เพียงเล็กน้อย และไม่ช่วยดุลการค้ามากนัก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ 1.6% ซึ่งเป็นเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ โดยมีแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่จะช่วยชดเชยภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการไว้ โดยปัจจัยบวกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย คือ 1.สถานการณืการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ส่งผลให้การเมืองมีความชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นต่อภาคเอกชน 2.การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนภาครัฐ รวมไปถึงการให้ความสำคัญต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ3.การช่วยเหลือภาคเกษตรกรผ่านการจ่ายคืนค่าจำนำข้าวให้กับเกษตรกรและแนวทางในการช่วยเหลือ SME ผ่านการให้สินเชื่อต่างๆ สำหรับการส่งออกไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 1% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลจาก การลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตร การชะลอตัวของอุปสงค์จากประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งกระทบชัดเจนต่อสินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการส่งออกรถยนต์ โดยมีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนรถอีโคคาร์ที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่ารถประเภทอื่นๆ และการสูญเสียความนิยมของสินค้าอิเลกทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม EIC ประเมินว่าการส่งออของไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวและมีบทบาทในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 และขยายตัวได้ในระดับ 1% ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองปีนี้ คือ การบริโภคที่จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังมีแรงกดดันด้านรายได้ และภาระหนี้ภาคครัวเรือน รวมถึงการตรวจสอบการใช้จ่ายภาครัฐจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร.และคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในด้านความโปร่งใส แต่อาจส่งผลให้การลงทุนภาครัฐในบางส่วนมีความล่าช้า Tags : สุทธาภา อมรวิวัฒน์ • ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ • ค่าเงินบาท • จีดีพี