"กลุ่มซีไอเอ็มบี" เดินหน้าขยายเครือข่ายในอาเซียนเล็งขอไลเซ่นส์แบงก์ในเวียดนามและพม่าเพิ่ม กลุ่มซีไอเอ็มบี มีเป้าหมายที่จะเป็นกลุ่มการเงินอันดับ 1 หนึ่งในอาเซียนที่มีเครือข่ายครอบคลุมทุกประเทศในอาเซียนภายในปี 2558 โดยในขณะนี้ทีมบริหารอยู่ระหว่างเริ่มทำการศึกษาแนวทางควบรวมกับทาง RHB Capital (RHBC) และ Malaysia Building Society BHD (MBSB) ว่าจะมีความคุ้มค่าเพียงใด ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มซีไอเอ็มบี เปิดเผยว่า นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศเวียดนามและพม่า รวมถึงอยู่ระหว่างมองหาโอกาสการทำธุรกิจธนาคารในประเทศฟิลิปปินส์เช่นกัน เนื่องจากฟิลิปปินส์ ได้ขยายเพดานการถือหุ้นต่างชาติในธนาคารพาณิชย์เป็น 100% จากเดิม 60% โดยจะต้องศึกษารายละเอียดต่างๆ รวมถึงกฎระเบียบของธนาคารกลางมาเลเซียด้วย ในส่วนของประเทศไทยขณะนี้ ยังไม่มีแผนที่จะมองหาโอกาสในการควบรวมกับสถาบันการเงินอื่นเพิ่ม แม้จะมีข่าวว่าธนาคารเมย์แบงก์สนใจที่จะเข้ามาซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย ส่วนกรณีของ RBH ในประเทศไทยก็ยังไม่มีแผนที่จะนำมารวมกับธนาคารซีไอเอ็มบีไทยแม้ว่าในมาเลเซียจะมีการควบรวมเกิดขึ้น เนื่องจากขนาด RHB ในไทยยังเล็กมาก สร้างกำไรให้กลุ่มซีไอเอ็มบี6-7% ด้านนายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารสร้างกำไรให้กับกลุ่มซีไอเอ็มบีคิดเป็นสัดส่วน 6-7% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 10% ในปี2558 แต่หลังจากนี้มีตัวแปรจากการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นทำให้ขนาดของกลุ่มใหญ่ขึ้น ทำให้เป้าหมายดังกล่าวอาจต้องทบทวนใหม่ ขณะที่เป้าหมายสินเชื่อในปีนี้เชื่อว่าจะเติบโตได้ 15% ตามที่ตั้งไว้ แม้ว่าครึ่งปีแรกจะขยายตัวเพียง 4% จากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมาส่วนเป้าหมายรายได้ในปีนี้ยังคงไว้ที่ 15% นอกจากนี้ ดาโต๊ะ ศรี กล่าวเสริมอีกว่า กลุ่มซีไอเอ็มบีมองโอกาสการเติบโตนอกเหนือจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ล่าสุด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด ในประเทศไทย บริษัทในเครือบริษัทซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล แอสเซท แมเนจเม้นท์ เบอร์หาด ประเทศมาเลเซีย ได้เข้าลงนามเพื่อทำสัญญาซื้อขายกับบริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) ในการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ฟินันซ่า จำกัด ในประเทศไทย เป็นเงิน 225 ล้านบาทโดยภายหลังจากธุรกรรมการซื้อขายเสร็จสิ้น บลจ.ฟินันซ่า จะรวมเป็นหนึ่งกับ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ในประเทศไทย คาดควบรวมเสร็จภายในครึ่งหลังปีนี้ ส่วนนายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด กล่าวว่า กระบวนการควบรวมคาดว่าจะแล้วเสร็จในครึ่งหลังของปี2557 นี้ ซึ่งภายหลังการควบรวมจะทำให้บริษัทมีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) เพิ่มขึ้นเป็น 70,350 ล้านบาท จากปัจจุบันที่ 34,050 ล้านบาท ขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 12 ในอุตสาหกรรมกองทุน จากเดิมอยู่ที่ 14 โดยมีเป้าหมายว่าภายในสิ้นปีนี้เอยูเอ็มของบริษัทจะขยับแตะ 80,000 ล้านบาท และโตขึ้นอีก 50% ในปี 2558 โดยมีเป้าหมายที่จะขยับขึ้นมาติดอยู่ใน 10 อันดับแรก (TOP 10) ภายใน 24 เดือนข้างหน้าด้วย "การควบรวมกิจการกันจะส่งผลดีต่อการทำธุรกิจของบริษัทในระยะยาว เพราะเรื่องของธุรกิจจัดการกองทุนเป็นเรื่องของขนาดด้วยเช่นกัน (Economy of Scale) หลังควบรวมสินทรัพย์ของบริษัทโตขึ้นเท่าตัวทำให้เกิดพลังในการควบรวมซึ่งน่าจะเห็นผลเต็มที่ 100% ในปีหน้าเป็นต้นไป ในแง่ของผลประกอบการของบริษัทเองก็เชื่อว่าจะพลิกกลับมามีกำไรได้ในปีหน้าเช่นกัน ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้น มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมาก" ครึ่งแรกปีนี้เอยูเอ็มโตขึ้น36% นายจุมพล กล่าวอีกว่า ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เอยูเอ็มของบริษัทโตขึ้นมา 36% จากสิ้นปี 56 ที่ 25,000 ล้านบาท ส่วนสินทรัพย์ที่จะรับมาจากบลจ.ฟินันซ่านั้นบริษัทมั่นใจว่า จะรักษาไว้ได้ทั้งหมด ทั้งในส่วนของ"กองทุนเปิดดัชนีธุรกิจพลังงานและธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (FAM EPIF)" ซึ่งมีนโยบายลงทุนในหุ้นพลังงาน ปัจจุบันผู้ถือหน่วยหลักเกิน 90% คือ "บมจ.ปตท." ที่ยังมีเวลาอีก 3 ปี ในการดำเนินการเพื่อให้ถือหน่วยไม่เกิน 1 ใน 3 ตามเกณฑ์ของสำนักงานก.ล.ต.ภายในเดือนมิ.ย.2560 นั้น มีแผนเรื่องนี้อยู่แล้ว และมั่นใจว่าจะทำได้และรักษาสินทรัพย์ในส่วนนี้เอาไว้ได้ ส่วนสินทรัพย์ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเองนั้นก็มีการออกไปพบกับลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบลจ.ฟินันซ่ามาแล้วและแม้การเข้าออกของลูกค้าในธุรกิจนี้จะถือเป็นเรื่องปกติ แต่บริษัทก็ยังมั่นใจว่าจะสามารถรักษาฐานลูกค้าและสินทรัพย์ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเอาไว้ได้ทั้งหมดเช่นกัน รวมถึงลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบมจ.ธนาคารกรุงเทพ ด้วยผลการดำเนินงานที่ดีและบริการที่ดีของบริษัทเชื่อว่าจะได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพใช้บริการต่อไปรวมทั้งในส่วนของบมจ.ธนาคารกรุงเทพด้วยเช่นกัน "การควบรวมนี้จะทำให้สินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการเพิ่มขึ้นที่ 70,350 ล้านบาท แยกออกเป็น การเติบโตจากธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการเพิ่มขึ้นเป็น 25,540 ล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 8 ขณะที่กลุ่มธุรกิจกองทุนรวมมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 44,131 ล้านบาท ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 11 โดยมีฐานลูกค้ารวมกันกว่า 50,000 บัญชี ในส่วนของธุรกิจจัดการกองทุนคน ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญบริษัทเองจะดูแลทั้งหมด หลังจากควบรวมกิจการแล้ว หากมีบลจ.ใดสนใจ ที่จะขายบริษัทก็พร้อมเข้าไปเจรจาเพื่อขยายสินทรัพย์อีกด้วย" Tags : สุภัค ศิวะรักษ์ • ซีไอเอ็มบี