กูรูด้านบริหารจัดการ แนะเอเชียเร่งเพิ่มขีดแข่งขัน เดินเข้าสู่ยุคใหม่ สิ้นสุดอิทธิพลครอบงำจากฝั่งตะวันตก ชี้การเกิดเออีซีปีหน้าหากดำเนินการทุกด้านได้ 70% ถือเป็นผลสำเร็จ เตือนการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในภูมิภาคต้องเชื่อมโยงถึง ใช้ประโยชน์ได้จริง ชูชนชั้นกลาง 10 ปีหน้า เพิ่มเป็น 1.7 พันล้านคน พลังสำคัญขับเคลื่อนอาเซียน วานนี้ (23 ก.ค.) ในงานฉลองครบรอบ 50 ปี สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) หรือ ทีเอ็มเอ “Leaders’ Conference: A Journey of Excellence” ได้เชิญนักวิชาการระดับโลก มาแสดงวิสัยทัศน์ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค องค์กร และบุคคล นายคิชอร์ มาห์บูบานี คณบดีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ สถาบันนโยบายภาครัฐ ลี กวน ยู กล่าวระหว่างนำเสนอข้อมูลเรื่อง "รัฐบาลในอนาคต" ว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ สิ้นสุดยุคเอเชียถูกครอบงำจากตะวันตกโดยกำลังเห็นการกลับมาผงาดของเอเชียอีกครั้ง "ในปี 1820 หรือเกือบ 2000 ปีมาแล้ว เศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่คือจีนกับอินเดีย แต่ช่วง 200 ปีที่ผ่านโลกอยู่ภายใต้การครอบงำของชาติตะวันตก ซึ่งช่วงนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีแต่ความผิดปกติ ตอนนี้เอเชียกำลังกลับมา ขณะที่พลังอำนาจตะวันตกกำลังถดถอย" นายมาห์บูบานี ยังอธิบายถึงการบริหารการปกครองของรัฐบาลในอนาคตว่า อีก 25 ปีข้างหน้าสังคมไม่มีประชาธิปไตยอย่างจีน อาจกลายเป็นประเทศที่มีรัฐบาลที่มีผลงานดีที่สุด ตรงข้ามกับรัฐบาลประชาธิปไตยจากฟากตะวันตก อาจจะเผชิญกับความล้มเหลว 3 ข้อนำชาติสู่ความเป็นเลิศ เขายังได้นำประสบการณ์ในการปกครองประเทศสิงคโปร์ มาเสนอแนะเป็นแนวทางให้ประเทศต่างๆรวมไทย เพื่อใช้ปรับปรุงพัฒนาการบริหารจัดการ ให้เกิดรัฐบาลมีธรรมาภิบาล ด้วยสูตรง่ายๆ 3 ข้อ ข้อแรก คือ การสร้างคุณธรรมประชาธิปไตย สร้างความเป็นเลิศให้ประเทศ ด้วยการหาบุคลากรดีที่สุดเท่าที่หาได้มาบริหารจัดการประเทศ และเลือกคนดีที่สุดเข้ามาทำงาน ข้อสองเป็นเรื่องการปฏิบัตินิยม ตามข้อคิดของอดีตผู้นำจีนที่ว่า ไม่ว่าแมวเป็นสีไหนขอให้จับหนูได้ก็พอ เป็นการลอกเลียนแบบวิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่งสิงคโปร์ทำอยู่ในขณะนี้ เรียนรู้จากทุกส่วนของโลก เพื่อนำมาปรับหาวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดให้เข้ากับประเทศตัวเอง ส่วนข้อสุดท้าย คือ ความซื่อสัตย์ของรัฐบาลที่สิงคโปร์มีมากที่สุดเทียบประเทศอื่น ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญทำให้สิงคโปร์ได้รัฐบาลและกลุ่มผู้นำที่มุ่งทำประโยชน์เพื่อประเทศและประชาชนมากที่สุด แนะ10ข้อดันขีดแข่งขันเป็นเลิศ ด้านนายสเตฟาน กาเรลลี ผู้เชี่ยวชาญด้านความสามารถแข่งขัน จากสถาบันพัฒนาการบริหารจัดการระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มดี กล่าวในหัวเรื่อง "ความสามารถแข่งขันของประเทศ ทำอย่างไรถึงทำได้สำเร็จ" ด้วยคำแนะนำ 10 ด้านเพื่อให้ประเทศมีขีดแข่งขันเป็นเลิศ ได้แก่ การสร้างภาวะแวดล้อมด้านกฎระเบียบกฎหมายที่มีความเสถียร โปร่งใส เป็นที่ต้องการของประชาชน และช่วยกำหนดทิศทางชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจปรับตัวได้ถ้ามีกฎเกณฑ์แน่นอน ,การมีรัฐบาลมีประสิทธิภาพ ไม่มีคอร์รัปชัน กระบวนการตัดสินใจความรับผิดชอบโปร่งใส, ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี สาธารณูปโภคพื้นฐานดีมีการเชื่อมโยงถึงกัน พร้อมยกตัวอย่างเนเธอร์แลนด์มีโลจิสติกส์ดีที่สุด สะท้อนว่ารัฐบาลมีโครงสร้างพื้นฐานดีเยี่ยม การมุ่งเน้นทำสิ่งเหมาะสมถูกต้องสร้างขีดแข่งขันให้ได้ ซึ่งเป็นการพัฒนาครอบคลุมเรื่องสาธารณูปโภค การจัดการภาษี การเข้าถึงการศึกษาและความรู้ พัฒนาเศรษฐกิจในประเทศให้มีความหลากหลายโดดเด่นในหลายด้านอย่างที่สวิตเซอร์แลนด์ทำได้ ผลิตได้ทั้งนาฬิกา ขายช็อคโกแลต และเป็นศูนย์กลางการเงินสำคัญของยุโรป การพัฒนาสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งอยู่นอกเมืองใหญ่ ให้สามารถใช้เทคโนโลยีท้องถิ่นเพื่อผลิตการส่งออกได้ ข้อเจ็ดเป็นการสร้างชนชั้นกลางให้เป็นกลุ่มแข็งแกร่ง เพราะคนกลุ่มนี้จะช่วยสร้างสมดุลอำนาจระหว่างชนชั้นล่างและชนชั้นบน ในการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง การลงทุนพัฒนาประชาชนให้มีความรู้ สามารถเรียนฝึกทำงานไปพร้อมๆกัน ข้อเก้าพยายามคาดการณ์อนาคตค้นหาเทคโนโลยีและแนวทางหรือแหล่งเงินทุนใหม่ๆอย่างไมโครไฟแนนซ์เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี และการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ พัฒนาบริหารแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมของประเทศ ให้สามารถสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศได้ อย่างที่เกาหลีใต้ทำได้สำเร็จ และติดกลุ่มดีที่สุดเรื่องนี้ เออีซีทำได้70%ถือว่าสำเร็จ ทั้งนี้ นายมาห์บูบานี กล่าวถึงการที่อาเซียนกำลังจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 ว่า แม้การเจรจาจัดตั้งเออีซีของชาติสมาชิกจะเหมือนปูเดินช้าเบี้ยวไปเบี้ยวมา แต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาปูตัวนี้เดินได้เร็วขึ้น โดยเห็นว่าหากการรวมตัวเป็นเออีซี ทำได้สำเร็จ 70-80% ถือว่าจุดพลุฉลองได้ อย่างไรก็ตาม เห็นว่า เออีซีควรมีบทบาทมากกว่านี้ ในการโน้มน้าวรัฐบาลแต่ละประเทศให้เปิดเสรีมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ภาคธุรกิจและภาครัฐบางประเทศเท่านั้นมียุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ ชนชั้นกลางพลังขับเคลื่อนเออีซี นายมาห์บูบานี ยังตั้งข้อสังเกตว่า ชนชั้นกลางอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น จาก 500 ล้านคนในปี 2553 เป็น 1.7 พันล้านคนในปี 2563 หรืออีก 10 ปีข้างหน้าเทียบปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และในปีอีก 20 ปีข้างหน้าจะทวีคูณเป็น 4.9 พันล้านคน ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ภูมิภาค เออีซีในปีหน้า จะอยู่ตรงกลางของการปรับเปลี่ยนที่สำคัญของอาเซียน โดยเออีซีก็อยู่ในสถานะได้ประโยชน์จากทั้งจีนและอินเดีย ถือว่าอาเซียนเป็นจุดยุทธศาสตร์ดีมาก หากผู้กำหนดนโยบายทำได้ดีจะช่วยให้ภูมิภาคเปิดกว้าง สามารถบูรณาการภูมิภาคให้มีระบบระเบียบที่ดีได้ เขายังให้มุมมองด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียนที่กำลังเป็นเออีซีว่า จะต้องไม่สร้างอย่างเดียว แต่ให้คำนึงถึงผลประโยชน์รอบด้าน การสร้างเส้นทางรถไฟ ถนนหนทางหรือสนามบิน ต้องเป็นการสร้างเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงถึงกัน "การลงทุนสร้างเอาแต่สวยงาม แต่ใช้เดินทางไปไหนมาไหนไม่ได้ ไม่เกิดประโยชน์ เป็นเรื่องอันตราย สร้างแล้วต้องนำมาใช้ปฏิบัติได้จริง ถ้าใช้ไม่ได้จริงจะกลายเป็นการลงทุนในเรื่องไร้สาระ" Tags : สิงคโปร์ • ลี กวน ยู • ตะวันตก • เอเชีย • จีน • อินเดีย • สมาคมการจัดการธุรกิจ • ครอบงำโลก • เออีซี