ชี้ศก.ครึ่งปีหลังฟื้นแต่หวั่นแบล็คมันเดย์

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 23 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "พิสิฐ"ชี้ศก.ครึ่งปีหลังฟื้น หลังเปลี่ยนแปลงการเมือง หวังปฏิรูปปท.คาดเติบโต1%หวั่นเกิด"แบล็คมันเดย์"

    วันนี้ (23 ก.ค.) ที่โรงแรมแคนทารี่ ฮิลส์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมจัดการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "เกาะกระแสเศรษฐกิจไทยกับตลาดทุนโลก" โดย ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย พร้อมทั้งมีการเสวนาในหัวข้อ "อนาคตเศรษฐกิจไทย..ก้าวไกลสู่ตลาดทุน" มีนางพรนิภา หาชัยภูมิ กรรมการและผู้จัดการ บตท. นายนรินทร์ โอภามุรธาวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายวานิชธนกิจ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายสุรเดช เกียรติธนากร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) และนางภิมลภา สันติโชค ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมเสวนา

    ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม กล่าวว่า ความวุ่นวายทางการเมืองที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยซึ่งจะเห็นว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ตัวเลขจีดีพีติดลบและคาดว่าไตรมาส 2 จะไม่ต่างกันนัก สาเหตุหลักๆมาจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐ การบริโภคของประชาชนโดยเฉพาะชาวนาที่เป็นผู้บริโภครายใหญ่เกิดปัญหาโครงการรับจำนำข้าว การลงทุนของภาคเอกชนที่ไม่เชื่อมั่นกับบรรยากาศทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 และความไม่ชัดเจนของงบประมาณปี 2558

    ทั้งนี้ เมื่อมีการรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.2557 ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลายฝ่ายมีความกังวลในสถานการณ์ว่าจะแย่ลงไปอีกหรือไม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงวันนี้ราว 2 เดือน ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองพบว่า เศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว เนื่องมาจากมีการใช้จ่ายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ได้อนุมัติแล้วโดยเฉพาะงบประมาณจำนำข้าวของชาวนา งบประมาณปี 2558 มีความชัดเจน ส่วนเรื่องของจีดีพีคาดว่าไม่น่าเป็นห่วงเหมือนช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะเติบโตในราว 1 เปอร์เซ็นต์เนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจค่อนข้างแย่

    อีกทั้งเมื่อเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมามีการจัดระเบียบสังคมให้หลายฝ่ายหลายภาคส่วนปฏิบัติตามกฎหมายจึงเป็นผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ที่สำคัญที่ต้องติดตามต่อไปคือ การปฏิรูปประเทศ และถ้าหากทำให้เกิดผลได้จริง สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ประเทศไทยก็จะก้าวสู่แนวหน้าของประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในอนาคต

    ดร.พิสิฐ กล่าวต่อว่า สำหรับเศรษฐกิจโลกในปีนี้เป็นสัญญาณดีที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ อียูและญี่ปุ่นได้ฟื้นตัวชัดเจนแล้ว นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐทำให้บรรยากาศการจ้างงานดีขึ้น และเมื่อมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่างๆดีขึ้นจะช่วยฉุดให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้นตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ที่ผ่านมาจีนที่มีทุนสำรองกว่า 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯได้ทุ่มเงินลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ ในมุมหนึ่งเป็นผลดีต่อทั้งจีนและสหรัฐฯ คือ ทางฝั่งสหรัฐฯ มีเงินราคาถูกมาให้ใช้ ทำให้การขาดดุลไม่เป็นภาระหนักมากนัก

    ส่วนอีกมุมหนึ่งจีนก็ช่วยแก้ปัญหาให้ตนเอง เพราะตามหลักการแล้วเมื่อจีนมีเงินสำรองมากๆจะทำให้เงินหยวนแพงขึ้น ดังนั้นการนำเงินไปลงทุนซื้อตราสารหนี้สหรัฐฯ จะส่งผลให้เงินหยวนอ่อนค่าลงซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่จีนพยายามพยุงเศรษฐกิจของตน แต่ผลที่ตามมาคือเกิดสภาวะเงินท่วมโลก ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้เงินต่างๆเข้ามาในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนในประเทศไทยจำนวนมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แล้วส่งผลให้ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะกระทบกับการส่งออกในอนาคตได้

    ทั้งนี้จุดเสี่ยงที่น่าจับตามองต่อไป คือ เมื่อเงินถูกย้ายไปจากที่หนึ่งไปอีกทีหนึ่งได้อย่างง่ายดายแล้ว และเมื่อตลาดหุ้นพุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงจุดหนึ่งที่นักลงทุนเห็นว่าตลาดหุ้นแพงมากเกินไปแล้วทุกคนต่างเทขายขึ้นมาก็อาจเกิด "แบล็กมันเดย์" ได้เหมือนกันและจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงเช่นกัน

    สำหรับการเสวนาในหัวข้อ "อนาคตเศรษฐกิจไทย..ก้าวไกลสู่ตลาดทุน" เป็นการพูดคุยกันถึงเรื่องตราสารหนี้ประเภท Securitization หรือ การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ บตท. โดย นางพรนิภา หาชัยภูมิ กรรมการและผู้จัดการ บตท. กล่าวว่า บตท.เป็นองค์กรหลักในการพัฒนาตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อเติมเต็มระบบการเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทยและช่วยให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมากขึ้น ตราสารหนี้ประเภท Securitization

    โดยเฉพาะตราสารหนี้หนุนโดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ MBS จะได้รับความนิยมมากขึ้นและเป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักลงทุน อีกทั้งการทำธุรกรรม Securitization นี้จะช่วยพัฒนาตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มสภาคล่องให้กับสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีตราสารคุณภาพดีให้ผู้ลงทุนเลือกลงทุนมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ตลาดรองเป็นเสมือนผู้ที่กรองหนี้ที่มาหนุนหลังตราสารให้ได้คุณภาพอีกชั้นหนึ่ง ให้มั่นใจว่ากองสินเชื่อที่มาหนุนนั้นมีคุณภาพ

    ทั้งนี้สำหรับความกังวลที่ว่า สินเชื่อบ้านที่ทางธนาคารขายให้ บตท.นั้นจะเป็นสินเชื่อที่ดีหรือไม่ ทาง บตท.ยืนยันว่าเป็นสินเชื่อที่ดีแน่นอนเนื่องจากกระบวนการให้สินเชื่อของธนาคารมีขั้นตอนและคัดกรองมาแล้วถึงจะให้สินเชื่อลูกค้าได้ อีกทั้งทาง บตท.ก็เลือกสินเชื่อที่มีเกรดค่อนข้างดีและเลือกธนาคารที่เชื่อถือได้ คือ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ จึงเชื่อมั่นในตราสารประเภท Securitization ของ บทต.ได้อย่างแน่นอน

    นายสุรเดช เกียรติธนากร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันเทรนการลงทุนจะเพิ่มมากขึ้น ผู้ที่มีเงินทุนจะเริ่มหาแหล่งลงทุนที่หลากหลายขึ้น ไม่เฉพาะแต่กองทุน ทองคำ หุ้น แต่จะรวมถึงตราสารหนี้ด้วย และตราสารหนี้ของทาง บตท.เมื่อดูตัวเลขที่ผ่านมาในรอบ 2 ปี เติบโตขึ้นจากหลักพันล้านสู่หลักหมื่นล้าน ซึ่งคาดว่าจะจะเติบโตขึ้นในอนาคตอย่างน้อยอยู่ในระดับหมื่นล้านได้อย่างแน่นอน เนื่องจากผลตอบแทนค่อนข้างดีและความเสี่ยงน้อย และหากมีการสื่อสารให้นักลงทุนเข้าใจได้ง่ายการลงทุนกับตราสารหนี้ของ บตท. ก็จะกลายเป็นการลงทุนที่เหนียวแน่นเหมือนการลงทุนกับบริษัทอื่น ๆ หรือการลงทุนในหุ้นบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีแฟนคลับลงทุนไปเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง

    Tags : ดร.พิสิฐ • คณะเศรษฐศาสตร์ • แบล็คมันเดย์ • การเมือง • ปฏิรูป • เศรษฐกิจ • ศก. • ตราสารหนี้ • บตท. • ธนาคาร

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้