บาทแข็งค่ารอบ8เดือนตามเงินภูมิภาค จากเงินทุนไหลเข้าตลาดเอเชีย "พิสิฐ" มองแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง หลังภาพการเมืองชัด นักลงทุนเชื่อมั่น ขณะทุนนอกไหลเข้าตลาดพันธบัตร หลังคสช.ยึดอำนาจ กว่า 8.4 หมื่นล้านบาท สมาคมตราสารหนี้ฯคาดทั้งปีต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ หลังเงินไหลออกช่วง 5 เดือนแรกกว่า7หมื่นล้าน ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามสกุลเงินเอเชีย แตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน ตามทิศทางการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างชาติ โดยมีเงินไหลเข้าทั้งตลาดหุ้นและพันธบัตร สกุลเงินเอเชียอ่อนค่าลงในช่วงท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังเหตุเครื่องบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ตกลงในภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมือง และสกัดกั้นความต้องการของนักลงทุนในการเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง แต่สกุลเงินเอเชียทรงตัวอยู่ได้ ขณะที่นักลงทุนระบุว่าสกุลเงินดังกล่าวดูเหมือนได้ประโยชน์จากนักลงทุนที่ต้องการสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง แม้ยังคงมีความวิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเมือง บาทและรูเปี๊ยะห์ปรับตัวโดดเด่นในช่วง 2 วันที่ผ่านมา โดยสกุลเงินทั้งสองปรับตัวขึ้นประมาณ 0.9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์แล้วในสัปดาห์นี้ ซึ่งค่าเงินบาท แข็งค่าแตะระดับ 31.82 วานนี้ (22 ก.ค.) ซึ่งเป็นระดับแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ที่ผ่านมา นักบริหารเงินจากธนาคารญี่ปุ่นในสิงคโปร์ กล่าวว่าหากพิจารณาตลาดไทยจะพบว่ามีสัญญาณเงินไหลเข้าทั้งสู่ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ค่าเงินบาทปรับตัวขึ้นมากกว่า 3% จากระดับต่ำสุดที่เข้าทดสอบเมื่อต้นเดือนมิ.ย. โดยปรับขึ้นขณะที่ความตึงเครียดทางการเมืองของไทยลดน้อยลง หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เข้าควบคุมอำนาจในเดือนพ.ค. เพื่อยุติความปั่นป่วนทางการเมือง นายเดสมอนด์ ฟู นักวิเคราะห์ของเวสเทิร์น แอสเซท แมเนจเมนต์ ในสิงคโปร์กล่าวว่า นักลงทุนอาจย้ายเงินลงทุนมายังเอเชีย ขณะที่ถอนเงินลงทุนจากยุโรปตะวันออกอันเนื่องมาจากความตึงเครียดในยูเครน โดยประเมินว่าสินทรัพย์ในเอเชียให้ผลตอบแทนที่น่าดึงดูดใจหลังจากพิจารณาความเสี่ยงแล้ว 'พิสิฐ'ชี้หลังการเมืองชัด เงินไหลเข้า นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานกรรมการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ไทยบีเอ็มเอ) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่อง หากภาพการเมืองมีความชัดเจนไม่ว่าจะเป็นการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว รวมถึงการจัดตั้ง สนช. และรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งถ้าเรื่องเหล่านี้มีความชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ ก็น่าจะดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาต่อเนื่อง “ความคลี่คลายเหล่านี้จะทำให้ตลาดทุนโลกให้ความเชื่อมั่นกับตลาดทุนไทย ทำให้มีเงินไหลเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราทำสิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เข้มแข็งขึ้น อุดช่องโหว่การทุจริต จัดการกับปัญหานโยบายประชานิยมในอดีตที่นำมาซึ่งหนี้สินมากมายของภาครัฐได้ พวกนี้จะดึงดูดเงินต่างชาติให้เข้ามาลงทุนได้มาก” นายพิสิฐกล่าว สำหรับเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศไทยนั้น ถือว่าเป็นไปทิศทางเดียวกับภูมิภาค โดยได้ปัจจัยหนุนจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งปัจจัยภายในเป็นเรื่องการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น โดยจะเห็นว่าเงินทุนต่างชาติเริ่มไหลกลับเข้าไทยตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย. หลังจากที่คลายความกังวลจากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ส่วนปัจจัยต่างประเทศ จะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาแม้เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่แต่ราคาหุ้นราคาสินทรัพย์ต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้นทำนิวไฮ ทำให้นักลงทุนเริ่มมองหาแหล่งลงทุนอื่นๆ โดยเงินส่วนนี้ไหลกลับเข้ามาในตลาดเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย “เงินที่ไหลเข้ามี 2 องค์ประกอบหลัก โดยช่วงเดือนพ.ค.หลังมีรัฐประหาร นักลงทุนตกใจในช่วงแรกก็เทขายออกไปก่อน หลังจากนั้นก็ไหลกลับเข้ามาใหม่ ประกอบกับตลาดหุ้นของสหรัฐพุ่งขึ้นมาต่อเนื่องด้วย นักลงทุนจึงเริ่มที่จะมองทางเลือกลงทุนอื่นๆ เงินบางส่วนจึงไหลเข้ามาในตลาดบอนด์บ้านเรา”นายพิสิฐกล่าว เดือนครึ่งเงินเข้าบอนด์8.4หมื่นล. นายสุชาติ ธนฐิติพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ช่วง 1 - 21 ก.ค. มีเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ 53,000 ล้านบาท โดยมีการเข้าซื้อตราสารหนี้ระยะยาวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. เป็นต้นมาทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม การไหลเข้าของเงินทุนดังกล่าว เป็นการเข้ามาทั้งภูมิภาค ซึ่งในส่วนของตลาดตราสารหนี้เองส่วนใหญ่จะไหลเข้ามาในตราสารหนี้ระยะยาวอย่างชัดเจนในช่วงอายุตราสารหนี้ตั้งแต่ 5 - 20 ปี ทำให้อัตราผลตอบแทน(ยีลด์) ของตราสารหนี้ระยะยาวในช่วงเดือนที่ผ่านมาปรับตัวลงมาเฉลี่ย 0.15% และแนวโน้มเชื่อว่ายังน่าจะไหลเข้าต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี เพียงแต่ปริมาณการไหลเข้าคงไม่ได้มากเหมือนในอดีต “ปัจจุบันเงินลงทุนต่างชาตินับถึงปัจจุบันกลับมาเป็นยอดไหลเข้าสุทธิ 14,000 ล้านบาท แล้ว โดยในช่วง 5 เดือนแรกมีเงินไหลออกไป 70,000 ล้านบาท แต่ในช่วงเดือนมิ.ย.-21 ก.ค. มีเงินไหลเข้า 84,000 ล้านบาท ทำให้พลิกกลับมาเป็นยอดไหลเข้าสุทธิอีกครั้งและทั้งปีก็น่าจะยังเป็นยอดไหลเข้าสุทธิอยู่แต่ไม่มาก ส่วนเงินที่ไหลเข้ามาในตราสารหนี้ระยะยาวคงไม่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วและแรงเหมือนเงินร้อนที่ไหลเข้ามาในระยะสั้นแต่ประการใด คิดว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็คงเห็นข้อมูลและคงติดตามดูแลในเรื่องเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนอยู่แล้วในระดับหนึ่งจึงไม่น่ากังวลแต่ประการใด” บลจ.กรุงศรีคาดแนวโน้มบาทแข็งต่อ นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า แนวโน้มเงินบาทช่วงครึ่งหลังของปียังมีทิศทางแข็งค่าขึ้นแต่ไม่มาก โดยอยู่ในกรอบ 31.0 - 32.0 บาทต่อดอลลาร์ และในปีหน้าแนวโน้มก็ยังทรงตัวในลักษณะนี้จากเงินทุนที่ไหลกลับเข้ามาในภูมิภาคทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย เพียงแต่ระดับการแข็งค่าคงไม่ได้แข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว "ธปท.คงจะมีการดูแลในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอยู่และคงเข้าแทรกแซงเป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจนเกินไปหรือส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกซึ่งในปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวดีนัก" Tags : ตลาดเอเชีย • พันธบัตร • คสช. • ตราสารหนี้ • ยึดอำนาจ • เงินบาท • ดอลลาร์ • พิสิฐ ลี้อาธรรม