คสช.อนุมัติไทยร่วมเป็นสมาชิกธนาคารเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชียโดยใส่เงินหนุนเบื้องต้น933ล้านดอลลาร์ ร.อ.นายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษกคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ(คสช.) เปิดเผยว่า คสช. เห็นชอบไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย(Asian Infrastructure Investment Bank หรือ เอไอไอบี) โดยไทยจะสนับสนุนเงินทุนประมาณ993 ล้านดอลลาร์ ในการเข้าเป็นสมาชิกธนาคารดังกล่าว สำหรับวงเงินลงทุนทั้งหมดนั้น จะมีทั้งสิ้น 1 แสนล้านดอลลาร์ เพียงแต่ช่วงแรกของการจัดตั้ง ประเทศสมาชิกจะร่วมลงเงินกันในวงเงินรวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ "เบื้องต้นวงเงินลงทุน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเบื้องต้นจะใส่เงินเข้า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมาจาก 75% จากสมาชิก 22 ประเทศโดยคิดจากสัดส่วนตามจีดีพีของแต่ละประเทศ ส่วนที่เหลืออีก 25% มาจากประเทศนอกสมาชิก เบื้องต้นก็จะมี 22 ประเทศในเอเชีย เข้าร่วมสมาชิกขณะที่ไทยจะลงทุนประเดิมเบื้องต้นทั้งสิ้น 993 ล้านดอลลาร์" สำหรับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งธนาคารดังกล่าว เพื่อรักษา โอกาสให้ไทย สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดรายละเอียดการระดมเงินทุน การจัดสรรหุ้น สิทธิการออกเสียง โครงสร้างการบริหาร ธรรมาภิบาล ตลอดจนรายละเอียดสำคัญของบันทึก ความเข้าใจ(เอ็มโอยู) และร่างความตกลงเพื่อการจัดตั้ง เอไอไอบี เขาระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวเกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยมากที่สุด และยัง ไม่มีผลผูกพันว่า ไทยจะเข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นของ เอไอไอบีจนกว่าการเจรจาเพื่อยกร่างความ ตกลงเพื่อการจัดตั้ง เอไอไอบี แล้วเสร็จและมีการลงนาม ด้าน นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คสช.ได้อนุมัติ ให้กระทรวงการคลังเข้าร่วมกับสมาชิกอาเซียน ในการหารือกับกระทรวงการคลังของสาธารณรัฐ ประชาชนจีน ถึงรายละเอียดการจัดตั้ง เอไอไอบี ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้เสนอแนวคิด ในการจัดตั้ง ธนาคารดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อการลงทุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านต่างๆ และจะเป็นแหล่งเงินทุนอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย และประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีความต้องการเงินลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสูงมาก เขากล่าวด้วยว่า คสช.ได้ตระหนักดีถึงความจำเป็นในการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานของประเทศว่า เป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัว และการพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค รวมทั้งผลักดันให้ไทยเป็น ศูนย์กลางด้านคมนาคม และระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดย คสช.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง รายงานผลการหารือให้ คสช.ทราบ ในรายละเอียด เพื่อขออนุมัติลงนามเอ็มโอยูต่อไป ที่ผ่านมา กองทัพโดย คสช.ซึ่งเข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อเดือนพ.ค.ได้ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และก่อนหน้านี้ คสช.ได้ เห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายปี 2558 (ต.ค.2557-ก.ย.2558) รวมถึงส่วนของงบ ลงทุน 4.5แสนล้านบาท ซึ่งโดยส่วนใหญ่ใช้ลงทุนในโครงการจัดการน้ำ และการพัฒนา ระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ สำหรับแนวคิดการจัดตั้ง เอไอไอบี ถือเป็นแนวคิดของจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภูมิภาคเอเชียเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงกันในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงร่วมมือกับองค์กรเพื่อการพัฒนาอื่นๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือภายในภูมิภาคซึ่งจะมุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม พลังงาน การสื่อสาร อุตสาหกรรม การเกษตร การพัฒนาชุมชนเมือง และโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจีนเสนอให้ธนาคารดังกล่าว มีเงินทุนจัดตั้งเริ่มต้นจำนวน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เบื้องต้นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง เอไอไอบี จะเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชีย และในอนาคตจะเปิดโอกาสให้ประเทศนอกภูมิภาคเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ จีนได้ขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งเอไอไอบี โดยขณะนี้มีสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ได้แสดงท่าทีตอบรับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในการจัดตั้ง เอไอไอบี แล้ว รายงานข่าวจาก สศค. เห็นว่า การจัดตั้ง เอไอไอบี จะเป็นการเพิ่มแหล่งเงินทุนให้กับประเทศไทยและประเทศสมาชิกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยจีนเสนอให้มีการลงนามเอ็มโอยู โดยประเทศที่แสดงความสนใจเข้าเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง ในเดือนต.ค.-พ.ย.2557 Tags : คสช. • ร่วมทุน • เอไอไอบี