กสทช.สอบหุ้นต่างด้าว'มือถือ' เรียก3รายแจงโครงสร้างถือหุ้น24ก.ค.นี้ กสทช.เรียก 3 ค่ายมือถือ "เอไอเอส-ดีแทค-ทรู" แจงปมต่างด้าวถือหุ้น 24 ก.ค.นี้ 'เศรษฐพงค์'ลั่นตรวจสอบละเอียดทุกด้าน ใช้เป็นเกณฑ์ประมูล 4จี ระบุป้องกันครอบงำ-ปัญหาความมั่นคง ด้านนักวิเคราะห์ระบุ'ดีแทค-เอไอเอส' แต่ไม่กระทบธุรกิจ เนื่องจากบริษัทสื่อสารทั้ง 3 บริษัทเคยผ่านเกณฑ์แล้ว ขณะราคาหุ้นร่วงกังวลผลกระทบ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า กสทช.เตรียมเรียกผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย หารือเรื่องการตรวจสอบผู้ถือหุ้นของต่างชาติ ในวันที่ 24 ก.ค.นี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการประมูลคลื่น 4 จี ก่อนหน้านี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ระงับการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ หรือ 4 จี ออกไป 1 ปี "แต่กทค.ยังจะต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เพื่อรองรับการประมูลหลังประกาศ คสช. ที่ให้นำประกาศมาตรการเยียวยาคุ้มครองผู้บริโภคมาใช้คุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการสิ้นสุดลงโดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะสามารถจัดประมูลได้ในเดือน ก.ย.2558" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 ราย ได้แก่ 1.บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) 2.บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) 3.บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ได้รับใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) จาก กทค.ในการประมูล 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อประชุมและหารือเรื่องการตรวจสอบผู้ถือหุ้นของต่างชาติในสัดส่วน 49% ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และให้เป็นไปตามประกาศของ กสทช. เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2554 กทค.จะดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียด และหากตรวจสอบพบว่า เอกชนรายใดมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายและประกาศ กสทช. ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ได้ "จะดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดในทุกๆ ด้าน ตามลำดับการถือครองหุ้นทางตรง และทางอ้อม" ชี้เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ ทั้งนี้ โอเปอเรเตอร์ที่เข้าร่วมประชุมจะต้องเตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจงประกอบด้วย 1.ภาพรวมการประกอบธุรกิจของบริษัท และนิติบุคคลที่เป็นบริษัทใหญ่ บริษัทย่อย และบริษัทร่วม รวมถึงโครงสร้างการถือหุ้น และการถือครองธุรกิจของกลุ่มบริษัทในเครือ 2.ข้อกำหนดหรือสิทธิในการออกเสียงของผู้ถือหุ้นของบริษัท และ 3.โครงสร้างการบริหารภายในบริษัท โดยแสดงให้เห็นถึงรายชื่อ และตำแหน่งของผู้บริหารที่มีความสำคัญ "การตรวจสอบการถือหุ้นของผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม ถือเป็นการทำตามกฎกติกาที่มีอยู่แล้วอย่างเข้มงวด เพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ได้เลือกปฏิบัติรายใดรายหนึ่ง โดยจะตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบการถือหุ้นทั้งทางตรง ทางอ้อม การถือหุ้นไขว้ และการตั้งบริษัทนอมินีถือหุ้นแทนด้วย” นายเศรษฐพงค์ กล่าว อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบอย่างเข้มงวดสำหรับการถือหุ้นของต่างชาตินั้น นอกจากเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการครอบงำและมีอำนาจในการบริหารจัดการของนักลงทุนต่างชาติแล้ว ยังเพื่อความมั่นคงในระบบโทรคมนาคมของประเทศด้วย ขณะเดียวกันการติดต่อสื่อสารโทรคมนาคมถือเป็นหัวใจของการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ หากยอมให้ต่างด้าว โดยเฉพาะทุนที่มีหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจต่างชาติสนับสนุนเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมในประเทศ อาจมีผลกระทบและเกิดความเสี่ยงในการกำกับดูแลได้ โบรกฯชี้ดีแทค-เอไอเอส'เสี่ยง' นางสาวมินทรา รัตยาภาส นักวิเคราะห์ บล.เคเคเทรด กล่าวว่า กรณีการทบทวนเกณฑ์การถือหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในกลุ่มธุรกิจสื่อสาร ยอมรับว่ามีผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อราคาหุ้นในกลุ่มสื่อสารที่ปรับลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากการเลื่อนประมูลคลื่น 1,800 และ 900 เพื่อใช้กับโครงข่าย 4G ที่ล่าช้าออกไป 1 ปี ที่เป็นสาเหตุกดดันราคาหุ้นอย่างต่อเนื่อง หากมีการทบทวนเกณฑ์การถือหุ้นต่างประเทศ ประเมินว่าบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) น่าจะมีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากกลุ่มเทเลนอร์ ถือหุ้นในทางตรงและทางอ้อมรวมกันประมาณ 90% ขณะที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) มีผู้ถือหุ้นต่างประเทศคือ Singtel Strategic Investments PTE LTD. ถือหุ้นในสัดส่วน 23.31% และบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) มีบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นในสัดส่วน 41.62% บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Telenor Asia PTE LTD ถือหุ้นในสัดส่วน 42.61% และมีบริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นอีก 22.42% ทั้งนี้ บริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ มี Telenor Asia PTE LTD เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น ชี้ไม่กระทบธุรกิจสื่อสาร การทบทวนเกณฑ์การถือหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ จะไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มสื่อสาร เนื่องจากทั้ง 3 บริษัท คือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส รวมถึง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ล้วนเคยผ่านเกณฑ์ในการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 2,100 มาแล้ว เท่ากับได้รับการการันตีเป็นบริษัทสัญชาติไทยจาก กสทช. "ยอมรับว่าต้องการติดตามกฎเกณฑ์และนิยามของคำว่าบริษัทต่างชาติว่าจะเป็นอย่างไร จึงจะสามารถประเมินได้ว่า การทบทวนกฎเกณฑ์ครั้งนี้จะกระทบต่อแผนการดำเนินธุรกิจหรือไม่" เลื่อน4จีกระทบเอไอเอสมากสุด บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า การประมูลคลื่น 1,800 และ 900 เพื่อใช้กับโครงข่าย 4G ต้องเลื่อนไปจากคำสั่งของ คสช. ออกไป 1 ปี ซึ่งน่าจะเป็นช่วง ก.ค. 2558 เนื่องจากคลื่นความถี่ 900 ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ 1800 ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กำลังจะครบกำหนด 15 ก.ย. 2557 และ 2558 ตามลำดับ จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้ง 3 รายน่าจะไม่มากนัก ยกเว้น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส น่าจะกระทบมากที่สุด เพราะบริษัทเป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่ยังไม่ได้ให้บริการ 4G เพราะคลื่นความถี่ที่มีอยู่ คือ 1800 และ 2100 ได้ให้บริการลูกค้า 3G เป็นส่วนใหญ่ และถือว่าเต็มที่แล้ว จึงไม่มีคลื่นความถี่เหลือมาให้บริการ 4G เหมือนกับคู่แข่งขันอีก 2 ราย คือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ในระยะเวลา 1 ปีจากนี้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง หากลูกค้าบางรายต้องการที่จะใช้ 4G และในกรณีเลวร้าย ประเมินว่าน่าจะกระทบต่อฐานลูกค้า 1-2% ราย จากที่มีอยู่ทั้งหมด 42 ล้านราย แต่ไม่น่าจะกระทบต่อประสิทธิภาพ และ ความสามารถในการทำกำไร ทั้งนี้ ประเมินว่า ปี 2557 และปี 2558 บริษัทน่าจะทำกำไรได้ 3.98 หมื่นล้านบาท และ 4.79 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.8% และ 20.3% ตามลำดับ ทรูไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ถือว่ากระทบน้อยมาก เนื่องจากมีฐานลูกค้า 2G ที่อยู่บนคลื่นความถี่ 1800 ที่กำลังจะหมดอายุใน 15 ก.ย. 2557 อยู่ราว 2-3 ล้านราย หากไม่มีการประมูลคลื่นดังกล่าวกลับมา จะทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่สามารถใช้บริการ 2G ได้ แต่ กสทช. มีแผนที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อให้บริการลูกค้า 2G ต่อเนื่อง จึงคาดว่าจะไม่กระทบต่อบริษัท ขณะที่ฐานลูกค้ากลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับทรูน้อยมาก ราคาหุ้น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ขึ้นมาเกินมูลค่าพื้นฐาน ระยะสั้นนักลงทุนน่าจะหาจังหวะขายทำกำไรระยะสั้น ส่วนบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ถือว่าไม่กระทบเลย เนื่องจากการให้บริการ 2G บนคลื่น 2100 ยังมีเวลาเหลืออีก 4 ปี คือ จะหมดอายุ 15 ก.ย. 2561 ขณะที่บริษัทยังมีคลื่นความถี่เหลือมากพอที่จะให้บริการ 4G ปัจจุบัน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น มีฐานลูกค้า 28 ล้านราย เป็นลำดับ 2 รองจากแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ราคาหุ้น DTAC ปิดตลาดวานนี้ (22 ก.ค.) ลดลง 1.50 บาท หรือ 1.36% อยู่ที่ 108.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 728.53 ล้านบาท ราคาหุ้น ADVANC ปิดตลาด ลดลง 8.00 บาท หรือ 3.74% อยู่ที่ 206.00 บาท มูลค่าการซื้อขายสูงสุด 4,472.07 ล้านบาท ราคาหุ้น TRUE ปิดตลาด ลดลง 0.50 บาท หรือ 4.20% อยู่ที่ 11.40 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2,969.44 ล้านบาท Tags : พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ • เอไอเอส • ดีแทค • ทรู • ต่างด้าว • กสทช. • ความมั่นคง • ค่ายมือถือ