ทุนไหลเข้าหนุนบาทแข็งหลุด32

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 22 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ทุนไหลเข้าหนุนบาทแข็งหลุด32 นักลงทุนมั่นใจศก.ฟื้นครึ่งปีหลัง

    เงินไหลเข้าหุ้น-บอนด์ ดันเงินบาทแข็งค่า หลุด 32 ธปท.ชี้นักลงทุนมั่นใจเศรษฐกิจเอเชียหลังผลเลือกตั้งอินโดฯชัด แนวโน้มเศรษฐกิจไทยฟื้น หลัง สศช.เล็งปรับเพิ่มจีดีพีปีนี้โต 2.5% ขณะนักวิเคราะห์หวั่นกระทบส่งออกต่ำเป้า แม้พาณิชย์เผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้ส่งออก ประเมินไตรมาส 3 ฟื้นแรง มั่นใจเป้าปีนี้ 3.5%

    ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องนับจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ โดยเป็นผลจากเงินทุนต่างชาติไหลเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ ตามทิศทางเดียวกับค่าเงินหลายสกุลในภูมิภาค

    วานนี้ (21 ก.ค.) ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ 31.93-31.94 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากราคาปิดเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 32.13-32.14 ต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้นประมาณ 0.66% นับเป็นการแข็งค่ามากสุดในภูมิภาค รองลงมาได้แก่ ค่าเงินรูเปี๊ยะห์อินโดนีเซีย ที่ปิดตลาดแข็งค่าขึ้นราว 0.39%

    นักลงทุนต่างชาติ เข้าซื้อสุทธิในตลาดหุ้นต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 1-21 ก.ค. นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยรวม 17,051.93 ล้านบาท ขณะที่ตลาดตราสารหนี้มียอดซื้อสุทธิรวม 55,000 ล้านบาท

    ตั้งแต่ ต้นปี ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับกลางๆ เมื่อเทียบกับสกุลเงินภูมิภาค 9 สกุล โดยแข็งค่าขึ้น 2.75% เป็นลำดับที่ 4 ตามหลังรูเปี๊ยะห์อินโดนีเซียที่แข็งค่า 5.93% ริงกิตมาเลเซียที่ 3.6% รูปีอินเดียที่ 2.81%

    ธปท.ชี้ตลาดเชื่อมั่นศก.เอเชีย

    นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ได้แก่ นักลงทุนในตลาดการเงินโลกมีความเชื่อมั่นในตลาดเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่ผลการเลือกตั้งของอินโดนีเซียมีความชัดเจน

    ขณะเดียวกันยังมีข่าวว่า สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อาจปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดยมองว่าเศรษฐกิจที่จะเร่งตัวในช่วงครึ่งหลังของปีทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจทั้งปี 2557 จะขยายตัวได้สูงกว่า 2.5%

    นอกจากนี้กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตให้บริษัทต่างประเทศสามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้สะดวกขึ้น น่าจะช่วยให้ตลาดทุนไทยมีความกว้างและลึกมากขึ้นในอนาคต ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยบวก

    นางรุ่ง กล่าวว่า ความเชื่อมั่นต่อการเมืองไทยและเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทำให้นักลงทุนต่างชาติปรับฐานะการลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ปรับลดน้ำหนักความสำคัญของการลงทุนในไทยลงไป

    "เริ่มเห็นเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรมากขึ้นตั้งแต่เดือนมิ.ย.ต่อเนื่องถึงเดือนก.ค. ซึ่งแตกต่างจากเดือนพ.ค.ที่เงินทุนไหลออกและเงินบาทอ่อนค่ามากสุดในภูมิภาค ช่วงนี้จึงเหมือนเงินบาทปรับตัวไล่ตามภูมิภาคจากที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้เคลื่อนไหวนัก"

    ดังนั้นการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในระยะนี้จึงอาจเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่มีภาระเงินตราต่างประเทศ เช่น ต้องการซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อนำเข้าสินค้า หรือต้องการชำระคืนหนี้ต่างประเทศ รวมถึงผู้ที่ต้องการไปลงทุนในต่างประเทศ

    ชี้แข็งค่าเร็วกระทบส่งออก

    นายปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทที่ทะลุระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่าเร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากเม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้าไทยต่อเนื่อง โดยในเดือนมิ.ย.เพียงเดือนเดียว มีเงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้กว่า 3 หมื่นล้านบาท และ ในสัปดาห์แรกของเดือนก.ค.ก็ไหลเข้าอีกกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

    “การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาตินั้นเป็นผลจากเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น หลังจาก คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ฟื้นความเชื่อมั่น รวมไปถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำ ทำให้เงินไหลเข้าตลาดประเทศเกิดใหม่ ซึ่งการแข็งค่านั้นหากเทียบกับเพื่อนบ้าน เราพบว่าอยู่ในระดับเดียวกับภูมิภาค”

    ยอมรับว่าการแข็งค่าที่รวดเร็วถือว่าน่ากังวล เพราะจะส่งผลต่อการส่งออกไทย ทำให้มีศักยภาพการแข่งขันที่ลดลงจากรายได้ในรูปค่าเงินบาทลดลงด้วย เดิมทีประเทศไทยมีปัญหาในการส่งออกอยู่แล้ว จากปัญหาด้านโครงสร้างที่ไทยไม่สามารถปรับตัวตามความต้องการของเศรษฐกิจโลกได้ ทั้งสินค้าเกษตรที่มีรายได้ต่ำ รวมไปถึง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยยังผลิตฮาร์ดดิสไดร์ ที่มีความนิยมลดลง ซึ่งเรามองว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้การส่งออกในปีนี้ไม่ขยายตัวตามที่คาดไว้ จากเดิมที่เราประเมินว่าการส่งออกจะขยายตัว 1 % อาจไม่ถึงเป้าหมายที่มองไว้

    ไม่ห่วงแข็งค่าทิศทางเดียวภูมิภาค

    นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่า แม้จะเป็นทิศทางเดียวกับภูมิภาค แต่ระดับการแข็งค่าถือเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผลจากสหรัฐที่ยังคงมาตรการดอกเบี้ยต่ำ และยุโรปที่ลดดอกเบี้ย ตลอดจนการปรับพอร์ตเงินทุนของนักลงทุนในประเทศต่างๆที่ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ โดยลดเงินลงทุนในประเทศที่มีความขัดแย้ง และในประเทศที่การเติบโตของเศรษฐกิจไม่ดีนัก ทั้งในยูเครน และรัสเซียลง ไหลเข้ามายังกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น

    ทั้งนี้แม้ไทยจะดูแข็งค่าเป็นอันดับ 2 ในวานนี้ (21 ก.ค.) แต่หากเปรียบเทียบการแข็งค่าจากต้นปี เรายังไม่ถือว่าแข็งค่ามากนัก เพราะในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินเราเคยอ่อนค่าจากปัญหาการเมือง สวนทางกับเพื่อนบ้าน ทำให้เรายังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอยู่ แต่การอ่อนค่านั้นเรายังมีมุมมองว่าจะเป็นระยะสั้น เพราะใน 3-6 เดือนข้างหน้า เฟดจะสิ้นสุดมาตรการคิวอี และเป็นที่คาดหมายว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในที่สุด ปัจจัยดังกล่าวจะดึงเงินทุนในประเทศต่างๆกลับไปยังสหรัฐ ส่งผลให้เงินทุนไหลออก และค่าเงินบาทอ่อนค่าได้

    อย่างไรก็ตามสำหรับผลกระทบกับภาคการส่งออกนั้น ตนมองว่าตราบใดที่ค่าเงินบาทเรายังเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันภูมิภาค ก็ยังไม่น่าห่วง เพราะเรายังสามารถแข่งขันได้ และเรามองว่าการขยายตัวการส่งออกปีนี้จะอยู่ที่ 3 % แต่สิ่งที่น่าห่วงจริงๆคือปัญหาด้านโครงสร้างที่เรายังไม่สามารถปรับตัวได้ทันความต้องการตลาดโลก

    โพลล์ผู้ส่งออกคาดไตรมาส3ฟื้น

    นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนย.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ส่งออกจำนวน 205 ราย เกี่ยวกับภาวะธุรกิจส่งออกในไตรมาสที่ 3 (ก.ค.-ก.ย.) พบว่าการส่งออกมีแนวโน้มสูงขึ้น มั่นใจว่าทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าที่ 3.5%

    ผลการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการส่งออกคาดว่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 3 จะดีขึ้น 48.3% ไม่เปลี่ยนแปลง 44.2% และลดลง 7.5% ส่งผลให้ค่าดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกมีค่าเท่ากับ 70.4 ซึ่งสูงกว่าค่าปกติที่ 50 แสดงให้เห็นว่านักธุรกิจมองว่าการส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง

    สินค้าสำคัญที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป ยางพารา และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

    “ผลสำรวจสอดคล้องกับการคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่คาดว่าการส่งออกจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งตามสัญญาณเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่เริ่มดีขึ้น ทั้งสหภาพยุโรปที่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และสหรัฐฯ ที่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤตการณ์ความหนาวเย็นยาวนานจากช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้มูลค่าการส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวได้มากขึ้น”นางอัมพวัน กล่าว

    ส่งออกรถยนต์ทรงตัว

    นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุด คาดว่ายอดขายรถยนต์รวมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ประมาณ 10-15% เนื่องจากกำลังซื้อภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่งผลมาจากสภาพความวุ่นวายทางการเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ การอัดฉีดเม็ดเงินจำนำเข้าให้กับเกษตรกร และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะส่งผลสูงสุดในไตรมาส 4 ซึ่งคาดว่าจะมียอดขายเท่ากับไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา

    ส่วนตลาดส่งออกในไตรมาส 3 ยังคงมียอดส่งออกใกล้เคียงกับไตรมาส 2

    ส่วนยอดขายทั้งปี 2557 จะถึงเป้าหมายที่คาดไว้จำนวน 2.4 ล้านคันหรือไม่นั้น จะต้องรอผลการประเมินที่จะสรุปได้ในวันพุธที่ 23 ก.ค.นี้ แต่อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าจะมียอดขายทั้งในประเทศ และต่างประเทศเกิน 2 ล้านคันอย่างแน่นอน

    เครื่องนุ่งห่มคาดโต5%

    ด้าน นายสุกิจ คงปิยะจารย์ อดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ในวงรอบธุรกิจเครื่องนุ่งห่มในภาวะปกติ ยอดขายในไตรมาส 3 จะต่ำกว่าไตรมาสอื่นๆ และจะกลับมามียอดขายสูงสุดในช่วงไตรมาส 4 ดังนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มจึงประเมินยอดขายรวมทั้งปี โดยในปี 2557 คาดว่าจะมียอดส่งออกขยายตัวประมาณ 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งในปี 2556 มียอดส่งออกขยายตัวเพียง 1% ดังนั้นจึงถือว่ายอดส่งออกเครื่องนุ่งห่มในปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยตลาดหลักยังคงเป็น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ส่วนการส่งออกใน 5 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 2.7%

    ในขณะที่ยอดขายในประเทศ ประเมินได้ยาก เพราะไม่มีการตรวจนับสถิติที่เป็นทางการ แต่คาดว่าจะมีสัดส่วน มูลค่า 50% ของยอดการผลิตทั้งหมด และอีก 50% จะเป็นมูลค่าการส่งออก มีมูลค่ารวมทั้งหมดประมาณ 2 แสนล้านบาท

    Tags : ธปท. • เศรษฐกิจ • สศช. • จีดีพี • นักวิเคราะห์ • พาณิชย์ • รุ่ง มัลลิกะมาส • ธนาคารแห่งประเทศไทย • ปิยศักดิ์ มานะสันต์ • อัมพวัน พิชาลัย • สุกิจ คงปิยาจารย์

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้