รายได้ภาษีวืดเป้า1.6แสนล้าน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 22 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    กระทรวงการคลัง คาดจัดเก็บรายได้ปีงบ 57 ต่ำเป้า 1.6 แสนล้านบาท ชี้ไม่กระทบแผนเบิกจ่าย

    ยันมีเงินทดแทนจากการเรียกคืน 2 รัฐวิสาหกิจกว่า 6 หมื่นล้านบาท เผยเสนอแผนปรับโครงสร้างภาษีให้ คสช. พิจารณาแล้ว พร้อมเดินหน้าสนองนโยบาย คสช. คืนความสุขให้ประชาชน โดยเข็นพันธบัตรออมทรัพย์วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยสูงกว่า 4%

    นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงการคลังว่า การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นวาระการประชุมตามปกติในแต่ละเดือน โดยได้มีการทบทวนถึงนโยบายการทำงานที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบให้ในแต่ละส่วนงานว่า มีความคืบหน้าอย่างไร ในส่วนของแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2557 ซึ่งกรมจัดเก็บภาษีได้รายงานยอดรายได้ที่จะหายไปรวมประมาณ 1.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น กรมสรรพากรรายได้จะต่ำเป้าหมายไม่เกิน 1 แสนล้านบาท กรมสรรพสามิตรายได้ต่ำเป้าหมายไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท และ กรมศุลกากรรายได้ต่ำเป้าหมายไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท

    ได้เงินกสทช.-บบส.แทน

    ทั้งนี้ ยอดรายได้ที่หายไป จะถูกทดแทนมาบางส่วนหรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท จากการเรียกเงินคืนจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และ มีรายได้จากบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินที่จะเข้ามาอีกประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท

    อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลจะไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมาย แต่ก็ไม่กระทบต่อการบริหารจัดการรายจ่าย เพราะในความเป็นจริง ยอดการใช้จ่ายของรัฐบาลก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุนที่ยังมีความล่าช้า ทำให้ยอดรายได้ยังเพียงพอกับรายจ่ายที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ความเข้มแข็งของฐานะการคลังก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยระดับเงินคงคลังล่าสุดอยู่ที่ 3.8 แสนล้านบาท

    สำหรับแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีนั้น เขากล่าวว่า ไม่ได้มีการหารือเรื่องดังกล่าวในที่ประชุมครั้งนี้ เนื่องจาก กระทรวงการคลังได้สรุปแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีต่างๆให้ทางคสช.ได้พิจารณาหมดแล้ว หากคสช.เห็นชอบ ก็คงจะประกาศออกมา โดยดูช่วงเวลาที่เหมาะสม

    “เราในฐานะผู้ปฏิบัติ ได้นำเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีไปหมดแล้ว ส่วนที่เหลือก็ต้องรอให้คสช.พิจารณา โดยโครงสร้างที่เสนอจะมีทั้งการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือ อาจจะมีการออกประกาศกระทรวง หรือ กรม ก็ได้ ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะสมในการออกประกาศก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบด้วย”เขากล่าว

    เล็งดันระบบภาษีหนุนเอสเอ็มอี

    ทั้งนี้ โครงสร้างภาษีที่เสนอปรับนั้น จะเกี่ยวข้องกับ กรมจัดเก็บภาษีต่างๆ โดยหลักใหญ่จะเกี่ยวข้องกับกรมสรรพากร ซึ่งได้เสนอปรับทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้เสนอ นั้น ทางคสช.ก็ได้ออกประกาศไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนั้น ได้เสนอในลักษณะการต่ออายุอัตราภาษีที่จัดเก็บ

    อย่างไรก็ดี ในส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น ได้มีการหารือกันว่า จะมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะเมื่ออัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลทั่วไปได้ปรับลดลงมาที่ 20% ทำให้มีอัตราเดียวกันกับผู้ประกอบการการเอสเอ็มอี ทำให้เอสเอ็มอีแข่งขันได้ยากขึ้น

    นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ยังได้เสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีใหม่ให้แก่คสช.ได้พิจารณาด้วย อาทิ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งได้เคยมีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณามาหลายรัฐบาล แต่ยังไม่มีการพิจารณาอนุมัติ

    เล็งออกพันธบัตรออมทรัพย์เพิ่ม

    นายรังสรรค์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของงานเร่งด่วนที่คสช.ได้มอบนโยบายไว้กับกระทรวงการคลัง คือ การคืนความสุขให้แก่ประชาชน ซึ่งกระทรวงการคลังได้ดำเนินการผ่านการออกพันธบัตรออมทรัพย์อายุ 7 ปี และ 10 ปี วงเงินจำนวน 3 หมื่นล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า 4% ต่อปี

    สำหรับพันธบัตรดังกล่าว ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ได้ขายออกหมดแล้ว โดยเปิดโอกาสให้แก่ผู้สูงอายุในการเข้าซื้อในระยะแรกก่อน ถือว่า เป็นการคืนความสุขให้แก่ประชาชน เพราะเราให้ดอกเบี้ยในอัตราสูง ซึ่งทางคสช.ก็อยากให้ดูว่า เราสามารถเพิ่มวงเงินเพื่อขายในอัตราดอกเบี้ยสูงได้อีกหรือไม่ เราก็ขอดูก่อน เพราะการออกพันธบัตรจะมีค่าใช้จ่ายรองรับ ซึ่งคาดว่า จะสรุปได้ภายในเดือนนี้

    นายสุชาติ ธนฐิติพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) เปิดเผยว่า การออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อมาทดแทนรุ่นเดิมที่ครบอายุไปนั้น ในเบื้องต้นเป็นพันธบัตรอายุ 7 ปี และ 10 ปี อัตราผลตอบแทน 4.25% และ 4.75% ตามลำดับ ซึ่งถือว่าน่าสนใจเพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 7 ปี และ 10 ปี ปัจจุบันผลตอบแทนประมาณ 3.45% และ 3.67% ตามลำดับ ซึ่งในเบื้องต้นจะทยอยขายไปเรื่อยๆ จนถึงสิ้นเดือนส.ค.2557 นี้ วงเงินรวมกันประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดีโดยเฉพาะนักลงทุนกลุ่มที่ลงทุนอยู่เดิม

    “ส่วนอัตราผลตอบแทนดังกล่าวคงไม่กระทบต่ออัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้แต่ประการใดเพราะขนาดที่ออกถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดตราสารหนี้โดยรวมและกลุ่มเป้าหมายก็เป็นนักลงทุนบุคคลที่ซื้อแล้วถือยาวจนครบอายุเป็นหลักด้วย” นายสุชาติ กล่าว

    Tags : รัฐวิสาหกิจ • โครงสร้างภาษี • คสช. • พันธบัตร • กระทรวงการคลัง • เอสเอ็มอี • ออมทรัพย์

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้