กกต. เข้าให้ข้อมูล คสช. เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการฟอกเงิน ระบุ มีกฎหมายรองรับแล้ว แต่อาจต้องปรับปรุงแนวทางปฏิบัติให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง หรือ เลขาฯ กกต. เปิดเผยภายหลังเข้าพบ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ว่า กกต. ได้เข้าให้ข้อมูลต่อฝ่ายกฎหมายของ คสช. เกี่ยวกับการป้องกันการฟอกเงินว่า กกต. มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาตรา 53 (1) (2) ที่ระบุห้ามไม่ให้ผู้สมัครจัดทำให้ เสนอให้ เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งในวรรคท้ายของมาตราได้ระบุว่า หากพบความผิดถึงที่สุดให้อำนาจ กกต. ส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ดำเนินการ และกรณีที่ กกต. เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแก่ ส.ส. หรือ ส.ว.นั้น แล้วศาลพิจารณาคดีถึงที่สุดแล้ว กกต. ก็สามารถส่งเรื่องให้ ปปง. พิจารณาได้เช่นกันหากดำเนินคดีอาญาถึงที่สุดทรัพย์สินจะต้องตกเป็นของแผ่นดิน เบื้องต้นได้รายงานให้ คสช. รับทราบว่า ทาง กกต. มีกฎหมายที่จะควบคุมการฟอกเงินอยู่แล้ว แต่จะต้องมีการปรับปรุงในส่วนของแนวทางปฏิบัติให้เข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องมีการพิจารณาในชั้นของสภาปฏิรูปว่าการกำหนดระยะเวลาให้ กกต. จัดการเลือกตั้งภายใน 45 - 60 วัน โดย กกต. จะต้องใช้อำนาจแจ้งไปยัง ปปง. เพื่อให้รายงานการทำธุรกรรมของผู้สมัครและหลังจากที่มีการจัดการเลือกตั้งภายใน 30 วัน กกต.ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเพื่อให้มีสมาชิกเข้าไปทำหน้าที่และสามารเปิดสภาได้ ซึ่งกำลังมีการพิจารณาว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีความเหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้ การหารือครั้งนี้ พล.อ.ไพบูลย์ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา อาทิ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กรมราชทัณฑ์ และอื่นๆ อีกกว่า 20 หน่วยงาน