นักเศรษฐศาสตร์จีนชี้'หยวน'ผงาด ติด1ใน3สกุลเงินหลักโลกใน5ปี นักเศรษฐศาสตร์จีน มั่นใจเงินหยวนผงาด ติดหนึ่งในสามสกุลเงินหลักของโลกใน 5 ปี เผยมูลค่าธุรกรรมเพิ่มถึง 10 ล้านล้านหยวน คาดสิ้นปีนี้พุ่งแตะ 15 ล้านล้านหยวน จากการเปิดเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ ชี้การค้าเออีซีกับจีน หนุนการใช้เงินหยวนเพิ่มขึ้น นายจาง เหลย ผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของธนาคารแห่งประเทศจีน (แบงก์ ออฟ ไชน่า) ประจำประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา "การใช้เงินหยวนทำธุรกรรมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โอกาสและความท้ายทาย" วานนี้ (17 ก.ค.) ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคือระหว่างปี 2552-2556 หยวนสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการและนักธุรกิจไทย และทั่วโลกอย่างมาก ในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ นายจาง กล่าวว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การซื้อขายเงินหยวนระหว่างธนาคารพาณิชย์ มีมูลค่าประมาณ 10 ล้านล้านหยวน ในจำนวนนี้เป็นธุรกรรมทำกับแบงก์ ออฟ ไชน่า 4 ล้านล้านหยวน หากพิจารณาเฉพาะปี 2556 มีมูลค่าการซื้อขายถึง 1.2 ล้านล้านหยวน ซึ่งเป็นมูลค่าเทียบเท่า 1 ใน 3 ของธุรกรรมใช้เงินหยวนในต่างประเทศตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สะท้อนได้ว่าหยวนช่วยขับเคลื่อนการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก "ยังไม่ถึงครึ่งปีแรกของปีนี้ คือเฉพาะเดือนม.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมา มียอดธุรกรรมใช้เงินหยวนแล้ว 3.2 ล้านล้านหยวน ดังนั้น การใช้หยวนทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง" นายเหลยกล่าว นายจาง กล่าวว่ามูลค่าการใช้หยวนทำธุรกรรมในต่างประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง เป็นเพราะการสนับสนุนของภาครัฐจีน และความร่วมมือจากแบงก์ ออฟ ไชน่า ซึ่งเป็นธนาคารเอกชนอยู่ภายใต้การดูแลของแบงก์ชาติจีน เป็นสองแรงหนุนใช้หยวนชำระทำธุรกิจระหว่างประเทศ มีการออกผลิตภัณฑ์การเงิน ทั้งที่เป็นบอนด์กับกองทุนหรือเงินกู้สกุลเงินหยวน คาดอีก 5 ปีหยวนติด1ใน3สกุลเงินโลก นอกจากนี้จีนยังมีมาตรการสนับสนุน ให้ใช้หยวน ด้วยการออกดัชนีชี้วัดใช้หยวนด้านการค้าอย่างไร พร้อมมีดัชนีออฟชอร์เป็นดัชนีการค้าข้ามประเทศ เข้ามาช่วย "เราเชื่อมั่นว่า ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลจีน ในการขับเคลื่อนให้เกิดเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ จะยิ่งช่วยสนับสนุนการใช้หยวนเป็นสกุลเงินสากลใช้ชำระทางการค้าระหว่างประเทศ สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวมากขึ้นพร้อมกัน และ 3-5 ปีข้างหน้า ช่วยให้เงินหยวนยิ่งเป็นสกุลเงินสำคัญใช้ชำระการค้าระดับโลก และติด 3 อันดับแรกสกุลเงินหลักของโลกได้" ชี้ใช้เงินหยวนเกินคาด ด้านนายเฉา หยวนเจิ้ง ประธานฝ่ายศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจ แบงก์ ออฟ ไชน่า สำนักงานใหญ่ เห็นสอดคล้องกับนายเหลยว่า การส่งเสริมและพัฒนาหยวนให้เป็นสกุลเงินสากลช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทำได้เกินความคาดหวัง นายเฉากล่าวว่ามูลค่าธุรกรรมใช้หยวนซื้อขายอยู่แค่ 1.5 ล้านล้านหยวน แต่ปัจจุบันไม่ถึง 10 ปีกลับทำได้ 10 ล้านล้านหยวน เป็นการเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ดังนั้นคาดว่าปลายปีนี้มูลค่าหยวนใช้ทำธุรกรรมในต่างประเทศอาจเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านล้านหยวนได้ "ปัจจุบันมีการใช้หยวนทำธุรกรรมใน 116 ประเทศทั่วโลก และจีนจะใช้การใช้เขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้เพื่อนำร่อง เป็นศูนย์กลางสำคัญสามารถกู้ยืมเงินหยวนระหว่างชาวจีนกับนักลงทุนต่างชาติในการเทรด หรือทำเคลียริ่งเงินหยวนได้เสรีมากขึ้น เซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางเทรดหยวนออฟชอร์นอกเหนือจากฮ่องกง และจะช่วยสนองตอบในการนำหยวนขึ้นเป็นสกุลเงินสากลของโลกได้" นายหยวนเจิ้งอธิบาย ชูเซี่ยงไฮ้เขตศก.ดันหยวนผงาด นายเฉากล่าวอีกว่าอีก 3 ปีข้างหน้า ภายใต้เขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ใช้หยวนเทรด น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย เพราะนอกจากหยวนขึ้นเป็นสกุลเงินสำคัญมากขึ้นในระดับโลกแล้ว คนไทยยังสามารถใช้หยวนเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์และการค้า นายหยวนเจิ้งชี้ว่า การพัฒนาและความร่วมมือทางการค้าระหว่างจีนกับไทย ยังตัวเชื่อมโยงการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนที่กำลังจะเป็นเออีซีในปีหน้า เพราะอาเซียนบวกจีนถือเป็นตลาดที่มีประชากรมหาศาล เป็นเขตการค้า 10 ประเทศอาเซียนและจีน ซึ่งอนาคตอัตราภาษีระหว่างประเทศจะกลายเป็น 0% "ไทยอยู่ในพื้นที่ที่ได้เปรียบเป็นศูนย์กลางอาเซียน เชื่อมโยงกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงที่ยังต้องการการพัฒนา ปรับปรุงสาธารณูปโภค ยูนนานถือเป็นจุดยุทธศาสตร์หน้าด่านของจีนที่ช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนได้" ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ ออฟ ไชน่า ย้ำว่าจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย เป็นตลาดสำคัญที่มีการใช้หยวนชำระเพื่อลดความเสี่ยงได้ การใช้หยวนจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการค้า และเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทยในการทำการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับจีน อีกทั้งช่วยนักธุรกิจไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้เร็วขึ้น เป็นทางเลือกที่ดีมากในการใช้หยวนชำระทำเคลียริ่ง จี้ไทยใช้ระบบเคลียริ่งแบบมาเลย์ ส่วนนายทาง จื้อหมิ่น คณบดีวิทยาลัยนานาชาติสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มองว่าปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับจีนที่ใช้เงินหยวน ประมาณกว่า 400 ล้านดอลลาร์ มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน มูลค่าการค้ายังมีน้อย และครึ่งปีแรกปีนี้มูลค่าการซื้อขายด้วยหยวนมีเพียง 140 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเพียง 2%ของเงินหยวนที่มีในไทยรองจากดอลลาร์และเยน ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ใช้เงินหยวนเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ถึง 1% จากเงินทุนสำรองที่มีอยู่ 1.7 แสนล้านดอลลาร์ ดังนั้น นางทาง แนะนำให้ไทย มีการใช้ระบบเคลียริ่งคล้ายกับมาเลเซีย โดยมาเลเซีย มีการใช้เงินหยวนไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากธนาคารท้องถิ่น แต่สามารถโอนผ่านไปที่แบงก์ในฮ่องกงได้เลย ซึ่งง่ายสำหรับไทย ที่ไม่ต้องเจรจาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล เพียงแต่ไทยสามารถขออนุญาตจากธปท.ก็พอ ส่วนข้อดีการใช้หยวนว่าจะช่วยเสริมสภาพคล่องและป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้นายจื้อหมิ่น ยังเสนอให้มีการเจรจาหารือกันใหม่ ระหว่างไทยกับจีน คุยกันใหม่ในเรื่องเงื่อนไขข้อตกลงการทำสวอปค่าเงิน ในกรณีที่เกิดวิกฤตทางการเงินที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินของทั้งสองประเทศ ปัจจุบันไทยมีสัญญาทำสวอปกับจีนอยู่ประมาณ 7 หมื่นล้านหยวน ซึ่งปัญหาอยู่ที่ปัจจุบันไทยไม่เคยนำวงเงินนี้มาใช้ นอกจากขอเป็นโควตาเอาไว้เท่านั้น โดยทางธปท.มีการกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าจะใช้เมื่อเกิดกรณีพิเศษเท่านั้น Tags : เงินหยวน • นักเศรษฐศาสตร์ • แบงก์ ออฟ ไชน่า • การลงทุนระหว่างประเทศ • จาง เหลย • มาเลย์