'ซีเอ็มไอเอ็ม'บรรลุข้อตกลงเพิ่มวงเงิน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 18 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สมาชิกอาเซียน+3บรรลุข้อตกลงเพิ่มวงเงินกองทุนซีเอ็มไอเอ็มเป็น2.4แสนล้านดอลลาร์มีผลบังคับใช้17ก.ค.2557

    รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งธนาคารกลางฮ่องกง ได้ลงนามในความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (ซีเอ็มไอเอ็ม) ฉบับปรับปรุง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.2557

    สำหรับ ซีเอ็มไอเอ็ม ฉบับปรับปรุงใหม่นี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินหลัก ของภูมิภาคในการเสริมสร้างสภาพคล่อง ระหว่างกันกรณีที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน หรือขาดสภาพคล่องระยะสั้น

    ส่วนสาระสำคัญของซีเอ็มไอเอ็มฉบับนี้ คือ การขยายขนาดและสัดส่วนของวงเงินสมทบของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 จากเดิม 1.2 แสนล้านดอลลาร์ เป็น 2.4 แสนล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันยังปรับสัดส่วนวงเงินที่ประเทศสมาชิกจะขอรับได้ โดยไม่เชื่อมโยงกับเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศจากเดิม 20% เป็น 30%

    นอกจากนี้ยังเพิ่มบทบาทการเป็นกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากเดิมที่จะให้ความช่วยเหลือภายหลังจากที่ประเทศสมาชิกประสบวิกฤติแล้วเท่านั้น

    "ความตกลงฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคที่แข็งแกร่งขึ้น โดยถือเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศสมาชิกโดยฉับพลัน รวมทั้งป้องกันการเกิดผลกระทบ และการลุกลามต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอื่น และของภูมิภาคอาเซียน+3" รายงานข่าวระบุ

    สำหรับวัตถุประสงค์การจัดตั้ง ซีเอ็มไอเอ็ม เกิดขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องระยะสั้นให้กับประเทศในกลุ่มอาเซียน+3 และส่งเสริมระบบการบริหารจัดการระหว่างประเทศที่มีอยู่เดิม

    กองทุนนี้มีจุดเริ่มต้นจากเมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 2540 ทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ต้องการผลักดันและส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินให้แน่นแฟ้นขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศต่างๆ ได้ลงนามเห็นชอบและรับหลักการดังกล่าวระหว่างการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2543 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย

    ช่วงเริ่มต้นของกองทุนนี้ ความร่วมมือยังเป็นลักษณะจับคู่ทำข้อตกลงกันเอง (ทวิภาคี) จนกระทั่งเมื่อปี 2550 ได้รวมข้อตกลงในแบบทวิภาคีมาเป็นข้อตกลงความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงเดียวกัน (พหุภาคี) และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2553 และที่ประชุมได้เลือกสิงคโปร์เป็นสถานที่จัดตั้งสำนักงานใหญ่ของกองทุนซีเอ็มไอเอ็ม

    ประเทศภาคีในซีเอ็มไอเอ็มทั้ง 13 ประเทศ มีวงเงินสำรองรวม 1.2 แสนล้านดอลลาร์ ประกอบด้วย เงินสมทบจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 20% หรือ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนกลุ่มประเทศบวกสาม คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สมทบเงินในสัดส่วน 80% หรือ 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์

    ซีเอ็มไอเอ็ม เป็นการกันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของแต่ละประเทศภาคีมาสมทบไว้เป็นกองกลาง ประเทศภาคีจึงมีภาระผูกพันเพียงการยืนยันการสมทบเงิน โดยประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือจะโอนเงินตามที่ผูกพันไว้ให้แก่ประเทศผู้ขอรับความช่วยเหลือตามสัดส่วนที่ได้มีการตกลงกันไว้

    ล่าสุดเมื่อเดือนส.ค.2556 ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้ร่วมกันจัดทำร่างความตกลง ซีเอ็มไอเอ็ม ฉบับปรับปรุงเสร็จแล้ว โดยจะใช้ร่างความตกลงซีเอ็มไอเอ็มฉบับปรับปรุงนี้ทดแทนความตกลงเดิม โดยมีสาระสำคัญ คือการเพิ่มวงเงิน ให้สูงขึ้นเป็น 2 เท่า หรือเป็น 2.4 แสนล้านดอลลาร์

    ในส่วนของประเทศไทยนั้น จะเพิ่มวงเงินผูกพันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศใน ซีเอ็มไอเอ็ม จากเดิม 4.552 พันล้านดอลลาร์ เป็น 9.104 พันล้านดอลลาร์ โดยเงินสมทบมาจากทุนสำรองระหว่างประเทศในบัญชีของ ธปท.

    กรณีของประเทศไทยหากเกิดปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงินขึ้น สามารถรับความช่วยเหลือได้ 2.5 เท่าของวงเงินสมทบ หรือเท่ากับ 2.276 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มจาก 1.138 หมื่นล้านดอลลาร์

    ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้ลงนามในร่างตกลงความร่วมมือดังกล่าวหมดแล้ว เหลือเพียงประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่ยังไม่ได้ลงนามเนื่องจากยังไม่มีรัฐสภา อย่างไรก็ตามหลังสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป โดยคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) ขึ้นมาดูแลบริหารประเทศ ทำให้ประเทศไทยสามารถลงนามในสัญญาดังกล่าวได้ ส่งผลให้สัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.2557

    Tags : กองทุน • วงเงิน • ซีไอเอ็มบีเอ็ม

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้