สศค.เตรียมเสนอ คสช.ใส่เงินร่วมทุนตั้ง"เอไอไอบี"โดยมีจีนเป็นหัวเรือใหญ่ เผยวงเงินเบื้องต้น1.5แสนลบ. นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กรณีที่จีนเสนอให้ไทยเข้าร่วมจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) ขณะนี้ สศค.ได้เสนอเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาแล้ว หากเห็นชอบ ขั้นตอนต่อไปจะหารือในรายละเอียดของการร่วมเป็นสมาชิก รวมถึงวงเงินในการร่วมจัดตั้งด้วย "เรายังไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องวงเงินที่จะร่วมในการจัดตั้ง เพราะยังต้องมีรายละเอียดที่จะหารือในการร่วมเป็นสมาชิก รวมถึง การพิจารณาอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกของคสช. ซึ่งเราได้เสนอเรื่องให้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว”นายเอกนิติกล่าว ทั้งนี้ ที่ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา นางหยิน ไหฮอง ที่ปรึกษาด้านการเมือง สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้เข้าหารือทวิภาคีกับสศค.เพื่อให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกในการจัดตั้ง เอไอไอบี ซึ่งจะมีจีนเป็นแกนนำในการจัดตั้ง เบื้องต้นสศค.ประเมินว่า ไทยจะมีความสามารถสนับสนุนด้านการเงินได้ประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.5 แสนล้านบาท ใช้ระยะเวลาระดมทุนประมาณ 5-7 ปี แต่ความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งธนาคาร เอไอไอบี มองว่า ยังต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยต้องหารือกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อกำหนดบทบาทและทิศทางร่วมกันในรายละเอียด ทั้งนี้ สศค.พิจารณาว่า การจัดตั้ง เอไอไอบี จะเป็นประโยชน์กับไทย โดยเฉพาะกรณีที่ไทยมีแผนจะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้เงินทุนจากแหล่งต่างๆ และจีนเองก็ต้องการเข้ามามีบทบาทในเวทีอาเซียน มีลักษณะคล้ายกับเวิลด์แบงก์และเอดีบี ส่วนกรณีที่กลุ่มประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดียและจีน (BRIC) จะร่วมกันจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้น นายเอกนิติ กล่าวว่า ขณะนี้ ไทยยังไม่มีท่าทีเกี่ยวกับเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกของการจัดตั้งธนาคารดังกล่าว นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวคิดการจัดตั้ง เอไอไอบี โดยมีจีนเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดตั้ง และจีนได้เชิญชวนประเทศสมาชิกในอาเซียนร่วมเป็นสมาชิกในการก่อตั้งด้วยนั้น เรื่องนี้โดยส่วนตัวมองว่า ไม่มีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธการเข้าร่วมดังกล่าว “ในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองแล้ว จีนช่วงหลังๆ เศรษฐกิจเขาเติบโตมาก ความมั่งคั่งก็มากขึ้นด้วย แต่ถามว่าเขามีบทบาทใน ไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) เวิลด์แบงก์ (ธนาคารโลก) และ เอดีบี (ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย) มากน้อยแค่ไหน เพราะไอเอ็มเอฟ ยุโรปจับจอง เวิลด์แบงก์ อเมริกาจับจอง ส่วนเอดีบี ญี่ปุ่นก็จับจอง โดยธรรมชาติ จีนจึงหันไปทาง BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) ในแง่หลักการ ถ้าเขาเปิดให้เราร่วมจัดตั้งด้วย ไม่มีเหตุผลอะไรไปปฏิเสธเขา” นายประสารกล่าว สำหรับเงินที่ใช้ในการร่วมลงทุน เขากล่าวว่า หากเรื่องนี้เป็นระดับนโยบายของภาครัฐ ก็คงเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่ต้องหาเงินมาใส่เข้าไป ซึ่งวิธีการสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การออกพันธบัตรระดมทุนแล้วนำเงินไปร่วมลงทุน ส่วนถ้าจะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ ก็ต้องดูรูปแบบของเอไอไอบีด้วยว่า จัดตั้งอย่างไร ถ้าเป็นในรูปของหุ้น กรณีนี้กฎหมายยังไม่เปิดช่องให้ ธปท. นำเงินสำรองระหว่างประเทศเข้าร่วมลงทุนได้ เขากล่าวด้วยว่า รูปแบบของ เอไอไอบี จะเหมือนกับเวิลด์แบงก์และเอดีบี คือเป็นการปล่อยสินเชื่อเพื่อการลงทุนพัฒนาประเทศ ซึ่งการจัดตั้ง เอไอไอบี น่าจะเป็นการช่วยในเรื่องการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น เพราะระยะหลังๆ เวิลด์แบงก์และเอดีบีแทบไม่มีบทบาทมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่เกิดการแข่งขันด้วย ส่วนความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะขอใช้บริการโดยกู้เงินจาก เอไอไอบี เพื่อมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศนั้น นายประสาร กล่าวว่า ปกติแล้วการกู้เงินผ่านธนาคารลักษณะนี้จะมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงจึงเหมาะกับประเทศที่ยังไม่มีเครดิตที่ดีนักในตลาดการเงินโลก กรณีของไทยช่วงหลังชื่อเสียงของเราดีขึ้น เวลาอยากกู้เงินในตลาดโลก ก็สามารถเข้าตลาดการเงินได้เลย ซึ่งมีดอกเบี้ยที่ถูกกว่า สำหรับแนวคิดการจัดตั้ง เอไอไอบี ถือเป็นแนวคิดของจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภูมิภาคเอเชียเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงกันในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงร่วมมือกับองค์กรเพื่อการพัฒนาอื่นๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือภายในภูมิภาค ซึ่งจะมุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม พลังงาน การสื่อสาร อุตสาหกรรม การเกษตร การพัฒนาชุมชนเมือง และโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เห็นว่า การจัดตั้ง เอไอไอบี จะเป็นการเพิ่มแหล่งเงินทุนให้กับประเทศไทยและประเทศสมาชิกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยจีนเสนอให้มีการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) โดยประเทศที่แสดงความสนใจเข้าเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง ในเดือนต.ค.-พ.ย.2557 อย่างไรก็ตามล่าสุดในการประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์ ซัมมิท ครั้งที่ 6 วันที่ 15-16 ก.ค. ที่ประเทศบราซิล ได้บรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) วงเงินเบื้องต้น 5 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมจัดตั้งกองทุนเงินสำรองอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Exchange) มูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกในกรณีเกิดวิกฤติ Tags : เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ • สศค. • คสช.