ภาคีต้านคอร์รัปชันชู"สธ.-ก.ล.ต."เป็นองค์กรต้นแบบแก้ทุจริตด้านก.ล.ต.เตรียมทำดัชนีชี้วัดต้านคอร์รัปชัน นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.เตรียมทำดัชนีชี้วัดความคืบหน้าในการร่วมแก้ไขปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์กว่า 500 แห่ง โดยจัดทำอันดับคะแนน 0-5 ประกาศในเว็บไซต์ของก.ล.ต.แยกเป็นรายอุตสาหกรรม พร้อมกับให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เผยแพร่คะแนนของบริษัทจดทะเบียนในบทวิเคราะห์ด้วย เพื่อให้นักลงทุนใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุน เริ่มดำเนินการในเดือนหน้านี้ ปัจจุบันสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ ไอโอดี มีเกณฑ์การให้คะแนนเรื่องธรรมาภิบาล หรือซีจีของบจ. และได้มีการเผยแพร่ในรายงานประจำปีอยู่แล้ว เพียงแต่โดยทั่วไปยังไม่รู้รายละเอียด หรือความหมายของคะแนนที่ได้ ก.ล.ต.จึงนำคะแนนเหล่านั้นมาปรับแล้วจัดอันดับคะแนนให้เข้าใจง่ายและเผยแพร่ออกไป เพื่อกระตุ้นให้บจ.ใส่ใจในเรื่องนี้มากขึ้น โดยล่าสุดมีบริษัทจดทะเบียนที่ได้คะแนนอยู่ในระดับ 4 แล้ว 14 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เช่น กสิกรไทย กรุงศรี และทิสโก้ เป็นต้น "ก.ล.ต.จะพยายามผลักดันให้หน่วยงานในกำกับทั้งบริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ได้อันดับคะแนนอยู่ในระดับ 4 ภายในเดือนมี.ค.ปี2558 เพื่อให้เป็นธุรกิจต้นแบบ พร้อมกับขอความร่วมมือให้หน่วยงานเหล่านี้ และกองทุนต่างๆ มีการวางระบบการลงทุน ว่าต่อไปจะไม่ลงทุนในบริษัทที่ได้คะแนนต่ำกว่า 3 แต่ยอมรับว่าในเรื่องนี้ต้องใช้เวลา คงไม่ได้เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้" ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการ วานนี้ (16 มิ.ย.) ว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ได้ยกให้ 2 หน่วยงานเป็นต้นแบบองค์กรในการต่อต้านคอร์รัปชัน คือ กระทรวงสาธารณสุข จากการที่ได้ออกมานำข้าราชการไทย ปฏิเสธการครอบงำของนักการเมือง และประกาศจะสร้างความโปร่งใสในการทำหน้าที่ และการให้บริการแก่ประชาชน ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างและการออกใบอนุญาตของหน่วยงานภายใต้สังกัด เช่น การออกใบอนุญาตขององค์กรอาหารและยา (อย.) เป็นต้น อีกหน่วยงานคือ สำนักงานก.ล.ต. ที่ได้ประกาศแนวทางในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในธุรกิจตลาดทุน "การประกาศเจตนารมณ์ของทั้ง 2 องค์กร ถือเป็นตัวอย่างให้องค์กรอื่นๆ กล้าลุกขึ้นมาต่อต้านคอร์รัปชันในองค์กรของตนเอง โดยองค์กรฯพร้อมสนับสนุนและจะเก็บข้อมูลของทั้ง 2 องค์กร นำไปเผยแพร่ให้กับหน่วยงานภาคราชการและเอกชนเพื่อเป็นตัวอย่างต่อไป นอกจากนี้องค์กรฯจะเป็นเจ้าภาพเปิดเวทีให้ภาคเอกชนทั้งหมดสรุปแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อเสนอให้ทันต่อการจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเดือนส.ค.นี้" เขากล่าวต่อว่า สำหรับ 8 มาตรการเร่งด่วน ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่ได้เสนอคสช.ไปนั้น ทาง คสช. มีท่าทีตอบรับเป็นอย่างดี มั่นใจว่าการแก้ไขปัญหาจะคืบหน้ามากขึ้น และพยายามผลักดันให้สำเร็จก่อนการจัดตั้งสภาปฏิรูป เพราะทั้ง 8 มาตรการ เป็นสิ่งที่คสช.ดำเนินการได้ทันทีภายใต้คำสั่งของคสช. ไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ทั้งนี้ 8 มาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย 1. การสร้างความไว้วางใจและการมีส่วนร่วมของประชาชน 2. รัฐเป็นผู้นำในการสร้างวัฒนธรรมต่อต้านคอร์รัปชัน 3.กำหนดให้มีมาตรฐานที่โปร่งใสในกระบวนการให้บริการของภาครัฐ 4. แก้ปัญหาคอร์รัปชันในรัฐวิสาหกิจ 5. แก้ปัญหาการเรียกสินบนในการออกใบอนุญาต ที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนและนักธุรกิจมานาน 6.แก้ปัญหาคอร์รัปชันที่ต้นตอและช่วยให้มาตรการอื่นๆ ปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ 7.แก้ปัญหาประชาชนโดนเอารัดเอาเปรียบ และ 8.การสร้างมาตรการทางกฎหมายในการติดตามและจับกุมลงโทษคนโกง Tags : ชาลี จันทนยิ่งยง • ก.ล.ต. • ต้านคอรัปชั่น • ทุจริต