ไอเอ็มเอฟเตือนตื่นตระหนก'รอบใหม่'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 16 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ไอเอ็มเอฟเตือนตื่นตระหนก'รอบใหม่' ฉุดเศรษฐกิจ'ยูโรโซน'ฟื้นตัว

    กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประกาศเตือนว่าเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนกครั้งใหม่เกี่ยวกับสถาบันการเงิน อาจทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนยุติการฟื้นตัว ทำลายความเชื่อมั่นในตลาด และส่งผลให้ยูโรโซนประสบกับภาวะเงินฝืด

    ไอเอ็มเอฟระบุในรายงานว่า "เนื่องจากยูโรโซนไม่สามารถปรับนโยบายได้มากนักในระยะใกล้ ดังนั้นถ้าหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงไม่ว่าจะภายในหรือภายนอกยูโรโซน เหตุดังกล่าวก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน, ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนหยุดชะงักลง และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อร่วงลงหรืออาจทำให้เกิดภาวะเงินฝืด"

    เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวมาเป็นเวลานานหนึ่งปีแล้ว แต่ยังคงเติบโตในระดับที่อ่อนแอเกินกว่าที่จะชดเชยภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ดำเนินมานานสองปีได้ นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจในยูโรโซนยังไม่สามารถส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงจากระดับสูง

    ยูโรโซนประกอบด้วยสมาชิก 18 ประเทศในปัจจุบัน โดยอัตราการว่างงานในยูโรโซนอยู่ที่ 11.6 % ในเดือนพ.ค. เทียบกับระดับสูงสุดที่ 12.0 % ในเดือนก.ย. 2556 โดยอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่แตะระดับ 9.8 % ในเดือนเม.ย. 2555

    มีรายงานในสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับการทำผิดกฎระเบียบในบริษัทแห่งหนึ่งของตระกูลเอสปิริโต ซานโต ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารแบงโก เอสปิริโต ซานโต (BES) ซึ่งเป็นธนาคารจดทะเบียนที่ใหญ่ที่สุดของโปรตุเกส และข่าวนี้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมของประเทศสมาชิกยูโรโซนบางประเทศพุ่งสูงขึ้น และทำให้นักลงทุนกังวลว่าอาจเกิดวิกฤติหนี้ขึ้นอีก

    ไอเอ็มเอฟระบุว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอเกินไป หลังจากรัฐบาลประเทศสมาชิกยูโรโซนพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจ, ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ดำเนินมาตรการกระตุ้นการเติบโต และมีการดำเนินมาตรการสะสางปัญหาในภาคการเงิน

    ยูโรสแตท ซึ่งเป็นสำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป (อียู) รายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนดิ่งลง 1.1 % ในเดือนพ.ค. หลังจากปรับตัวขึ้นในเดือนเม.ย. โดยตัวเลขนี้ตอกย้ำถึงความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในยูโรโซน

    ไอเอ็มเอฟเรียกร้องให้ยูโรโซนดำเนินมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ทางเศรษฐกิจ, ปฏิรูปภาคธนาคาร (หรือมาตรการจัดตั้งสหภาพธนาคาร) ให้แล้วเสร็จ และผลักดันการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง

    ไอเอ็มเอฟระบุว่า "ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวและตลาดการเงินพุ่งขึ้น ความก้าวหน้าในการปฏิรูปก็อาจจะอ่อนแรงลง ทั้งในระดับประเทศและในระดับของยูโรโซน"

    นายยัวร์คี คาไตเนน ว่าที่กรรมาธิการด้านเศรษฐกิจของยุโรป กล่าวว่าการดำเนินมาตรการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอาจช่วยหนุนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (อียู) ให้เพิ่มขึ้นอีก 1.5-6.0 % ในช่วง 5 ปีข้างหน้า และกล่าวเสริมว่ายุโรปจำเป็นต้องรักษาวินัยทางการคลังต่อไป

    นายคาไตเนน ซึ่งเป็นตัวแทนของฟินแลนด์ในคณะกรรมาธิการยุโรป(อีซี) กล่าวต่อรัฐสภายุโรปว่า "เพื่อเป็นการสานต่อความพยายามในอดีต การปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณจำเป็นจะต้องดำเนินต่อไปเพื่อแก้ไขยอดหนี้สินที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี แผนยุทธศาสตร์ทางการคลังใดๆ จำเป็นต้องเอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและต้องมีความยุติธรรม"

    ไอเอ็มเอฟประกาศเตือนว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แท้จริงในยูโรโซนยังไม่กลับขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติหนี้ และอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำจนน่ากังวล

    นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังระบุเตือนว่า รัฐบาลประเทศสมาชิกยูโรโซนไม่ควรปรับลดงบรายจ่ายลงไปอีก ถ้าหากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำลง

    ไอเอ็มเอฟระบุว่า "จุดยืนทางการคลังที่เป็นกลางในวงกว้างถือเป็นสิ่งที่เหมาะสม แต่ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่ควรทำให้มีการดำเนินความพยายามปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณลงไปอีก เพราะการทำเช่นนั้นจะถือเป็นการทำร้ายตัวเอง"

    เศรษฐกิจยูโรโซนซึ่งมีขนาด 9.6 ล้านล้านยูโร ฟื้นตัวขึ้นอย่างน่าผิดหวังในไตรมาสแรก โดยได้รับแรงกดดันจากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจในอิตาลี, เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส นอกจากนี้ เยอรมนียังเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซาในระยะนี้ ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่ชะลอตัว

    ไอเอ็มเอฟระบุว่า การขยับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและการอ่อนค่าของยูโร ซึ่งไอเอ็มเอฟมองว่าอยู่ในภาวะดุลยภาพในวงกว้าง จะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจยูโรโซน

    อัตราเงินเฟ้อของราคาผู้บริโภคยูโรโซนเคลื่อนตัวอยู่ใต้ระดับ 1 % นับตั้งแต่เดือนต.ค. 2556 และไอเอ็มเอฟแสดงออกอย่างชัดเจนว่าพร้อมที่จะดำเนินมาตรการแก้ไข ถ้าหากราคาผู้บริโภคทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเกินไปเป็นเวลานานเกินไป หรือถ้าหากเกิดภาวะเงินฝืด

    ไอเอ็มเอฟระบุว่า "ราคาผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งรวมถึงราคาผู้บริโภคพื้นฐาน โดยความเปลี่ยนแปลงของราคาอาหารและพลังงาน การแข็งค่าของยูโร และการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ล้วนเป็นปัจจัยที่มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ปัจจัยเหล่านี้ไม่สามารถอธิบายการปรับตัวลงของอัตราเงินเฟ้อได้ทั้งหมด"

    นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจในระยะนี้ ไม่มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปเป็นเวลายาวนาน

    ธนาคารยูนิเครดิตระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนประจำปี 2557/58 ว่า "เราคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจเติบโตเร็วขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 หรือฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนมิ.ย.

    แต่อัตราการเติบโตรายไตรมาสมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เล็กน้อย และต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ในผลสำรวจภาคธุรกิจ"

    ทั้งนี้ จะมีการรายงานตัวเลขประเมินขั้นต้นสำหรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนประจำไตรมาส 2 ในวันที่ 14 ส.ค.

    นักวิเคราะห์ของไอเอ็มเอฟระบุในรายงานอีกฉบับว่า ถ้าหากอีซีบีดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หรือมาตรการพิมพ์เงินใหม่เพื่อขยายขนาดงบดุลของอีซีบีอย่างต่อเนื่อง อีซีบีก็จำเป็นต้องรับประกันว่าประเทศสมาชิกยูโรโซนทุกประเทศจะได้รับผลดีจาก QE แทนที่จะมีประโยชน์เพียงแค่ประเทศขนาดใหญ่เท่านั้น

    ไอเอ็มเอฟระบุว่า "ถ้าหากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำเกินไปอีซีบีก็ควรจะพิจารณาเรื่องการขยายขนาดงบดุลครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการดำเนินมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์"

    Tags : ไอเอ็มเอฟ • สถาบันการเงิน • ยูโรโซน • เศรษฐกิจ • การว่างงาน • อียู • ยัวร์คี คาไตเนน • ปฏิรูป

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้