ทหารไทยเผยไตรมาส 2 มีกำไร 2,575 ล้านบาท ส่งผลงวดครึ่งปีแรกกำไรโตเกิน 100% เอ็นพีแอลเหลือ 3.4% นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่างวดไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 2,575 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 61% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าส่งผลให้กำไรงวด 6 เดือนแรกของปี 2557 มีจำนวน 4,177 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ 2,068 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปีที่แล้ว หรือเพิ่มขึ้น 101.9% กำไรที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้มาจากรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิที่เพิ่มขึ้น 4% ตามการขยายสินเชื่อ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 14% จากการขยายตัวของค่าธรรมเนียมจากการขายแบงก์แอสชัวรันส์และการขายกองทุน กอรปกับรายได้ค่าธรรมเนียมจากการให้สินเชื่อที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายในไตรมาสนี้ลดลงเล็กน้อย ขณะเดียวกันธนาคารมีการโอนกลับ (write back) สำรองฯส่วนเกินซึ่งเป็นผลจากการขายและติดตามสินเชื่อมีปัญหา ทำให้ภาระในการสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญในไตรมาสนี้ลดลงเหลือ 309 ล้านบาท ทั้งนี้ธนาคารมีหนี้เสีย (NPL) ลดลง 2,500 ล้านบาทจากไตรมาสที่แล้ว มาอยู่ที่ 20,778 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ลดลงมาอยู่ที่ 3.40% จาก 3.85% ขณะที่สัดส่วนสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) เพิ่มเป็น 143% ในงวด 6 เดือนแรกของปีเงินฝากของธนาคารยังเติบโตได้ดีที่ 8.2% ขณะที่สินเชื่อเพิ่มขึ้น 2% โดยในครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าสินเชื่อน่าจะเติบโตได้ดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) ภายใต้เกณฑ์ Basel III อยู่ที่ 15.4% โดยเป็นกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) ในสัดส่วน 10.7 % ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งกำหนดไว้ที่ 8.5% และ 6.0% ตามลำดับ ด้านนางสาวปนัดดา ตัณฑ์ชาญชีวิน เจ้าหน้าที่บริหาร บริหารกลุ่มลูกค้าธนบดีธนกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ธนาคารเข้ามารุกตลาดลูกค้าระดับบน โดยได้แบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็นกลุ่มที่มีเงินฝากและกองทุนเกินกว่า 5 ล้านบาท เป็นกลุ่ม Wealth banking ส่วนลูกค้าระดับ 1-5 ล้านบาทอยู่ในกลุ่ม Superior Banking โดยลูกค้าในกลุ่มเวลท์มีฐานลูกค้าอยู่ 2.3 หมื่นราย มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ(AUM) 2.5 แสนล้านบาท ในแต่ละปีมีอัตราการเติบโต 20-30% ทั้งในแง่ฐานลูกค้าและเอยูเอ็ม ซึ่งส่วนหนึ่งหรือกว่า 20% จะมาจากการยกระดับสินทรัพย์ของลูกค้าในกลุ่ม Superior Banking ขึ้นมา ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าลูกค้ามีความกล้าเสี่ยงมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้พอร์ตการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นเงินฝาก แต่ในขณะนี้เริ่มมีสัดส่วนของเงินฝากลดลงมาอยู่ที่ 50% แล้ว ขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ลูกค้าได้รับในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 7-8% ขึ้นกับระดับความเสี่ยงที่รับได้ของลูกค้าแต่ละราย สำหรับแนวโน้มการลงทุนในปีนี้น่าจะดีกว่าปีก่อน โดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศที่ยังมีโอกาสอยู่มากในยุโรป รวมถึงตลาดเกิดใหม่ เช่นเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารมีทางเลือกการลงทุนให้ลูกค้าด้วยการขายกองทุนของบริษัทจัดการกองทุนรวมที่หลากหลาย ทั้งบลจ.ทหารไทย บลจ.ยูโอบี และบลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด และในสิ้นเดือนนี้ธนาคารจะหาพันธมิตรมาเพิ่มอีก 2 ราย “แม้ในขณะนี้ราคาหุ้นจะปรับขึ้นไปเยอะแล้ว แต่ทิศทางการลงทุนยังมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะหลังมีคสช.เข้ามาลูกค้ามีความมั่นใจมากขึ้น เราปิดกองทุนได้หลักพันล้านจากก่อนหน้านี้แค่หลักร้อยล้าน แต่แนะนำว่าให้ลูกค้าหาจังหวะย่อเข้าลงทุน และเลือกการลงทุนระยะยาว 1-2 ปี ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กล่าวว่า กรณีการควบรวมกิจการของ 3 ธนาคารยักษ์ใหญ่ในมาเลเซีย ได้แก่ CIMB,RHB Capital(RHBC) และ Malaysia Building Society BHD (MBSB) โดยปกติแล้วการควบรวมกิจการ จะทำให้ขนาดของเงินกองทุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว หากธนาคารพาณิชย์ จะควบรวมกิจการกัน นอกจากเรื่องของเงินกองทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ควรดูด้วยว่าการควบรวมดังกล่าวเป็นการควบรวมที่เกิดประโยชน์หรือไม่ "การควบรวมกิจการดูเหมือนจะได้เปรียบ เพราะมีเงินกองทุนที่สูงขึ้นใช้ในการทำธุรกิจได้มากขึ้น แต่ต้องดูด้วยว่ารวมกันแล้ว สามารถเกื้อหนุนกันได้หรือไม่ หรือมีสินทรัพย์ที่มีการทับซ้อนกันอยู่หรือไม่ ถ้าสินทรัพย์มีการทับซ้อนกันประโยชน์ที่ได้ก็คงไม่ได้มากนัก" เขากล่าวยกตัวอย่างว่า หากธนาคารพาณิชย์ ก. ควบรวมกับ ธนาคารพาณิชย์ ข. เมื่อควบรวมกันเสร็จขนาดของเงินกองทุนเพิ่มขึ้นก็จริง แต่สินทรัพย์เช่นในรูปของสาขาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน คนมีศักยภาพที่ใกล้เคียงกัน และยังมีระบบคอมพิวเตอร์ศูนย์กลางเหมือนกัน อย่างนี้เมื่อนำมาควบรวมกันก็จะมีการทับซ้อน เกิดความสิ้นเปลืองมากกว่าที่จะได้ประโยชน์ Tags : บุญทักษ์ หวังเจริญ • ประสาร ไตรรัตน์วรกุล • ทหารไทย • กำไร