ชี้'บาท'เสถียรภาพ หนุนการค้า-ส่งออก

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 16 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ธปท.ชี้เงินบาทไม่แข็งค่าเกินไป เคลื่อนไหวมีเสถียรภาพตามพื้นฐานเศรษฐกิจ หนุนการค้า-ส่งออก

    การเคลื่อนไหวค่าเงินบาทวานนี้ (15 ก.ค.) อยู่ในกรอบแคบๆ โดยช่วงเช้าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.14-32.16 บาทต่อดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยไปที่ระดับ 32.18 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาแข็งค่าเล็กน้อยช่วงปิดตลาดที่ระดับ 32.13-32.16 บาทต่อดอลลาร์ ด้วยปริมาณการซื้อขายที่ไม่คึกคักมากนัก

    นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทวานนี้ค่อนข้างทรงตัว เพราะตลาดจับตาการแถลงนโยบายการเงินต่อสภาคองเกรส ของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วง 2 วันจากนี้ว่า จะมีทิศทางดำเนินนโยบายการเงินอย่างไรต่อไป ซึ่งจะมีผลต่อความเคลื่อนไหวในตลาดเงิน หากมีเนื้อหาที่เหนือกว่าที่ตลาดคาดการณ์

    ตลาดมองว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยกลางปีหน้า แต่หากมีการส่งสัญญาณที่เร็วกว่านั้น ก็เป็นไปได้ที่ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นมาได้ สำหรับกรอบความเคลื่อนไหววันนี้ (16 ก.ค.) คาดเงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ หรือ 32.10-32.20 บาทต่อดอลลาร์

    บาทนิ่งรอดูถ้อยแถลงเฟด

    "วานนี้เงินบาทอาจจะอ่อนลงมาเล็กน้อย หรืออ่อนสุดในช่วงเช้าที่ 32.18 บาทต่อดอลลาร์ เป็นการรีบาวน์ช่วงสั้น หลังจากแข็งค่าตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาค แต่ในสัปดาห์นี้ยังคงนิ่งๆ เพราะตลาดรอดูถ้อยแถลงของประธานเฟดก่อนว่า ครึ่งปีเศรษฐกิจสหรัฐเป็นอย่างไร และทิศทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร จะมีการขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ เมื่อไร ถ้าพูดไปทางไหนก็ส่งผลต่อตลาดได้"

    ขณะที่นักบริหารเงินอีกรายหนึ่ง ระบุว่า ค่าเงินบาทแกว่งตัวอยู่ในกรอบ โดยอ่อนค่าไปในช่วงเช้าตามแรงขายทำกำไรระยะสั้น และการซื้อดอลลาร์จากผู้ค้าทอง และจากทิศทางการไหลเข้าของเงินทุนในช่วงนี้ ช่วยหนุนให้เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงต่อมา ขณะเดียวกัน นักลงทุนจะรอดูการแถลงของประธานเฟดว่า จะมีสัญญาณใดๆ เกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ หากไม่มีสัญญาณออกมา คาดว่าบาทน่าจะยังแข็งค่าต่อไปได้

    ระบุเงินบาทสอดคล้องพื้นฐานศก.

    ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทไทยปัจจุบัน เคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 32.20 บาทต่อดอลลาร์ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมทั้งภาคการส่งออก โดยยืนยันการเคลื่อนไหวของค่าเงิน สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ

    สำหรับนโยบายในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. ยังคงยืนยันในนโยบายเดิม คือ พยายามดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวสอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ หากบางช่วงมีปัจจัยแวดล้อม ที่ทำให้เงินบาทไทยเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในทางอ่อนค่าหรือแข็งค่าเร็วเกินไป จนเป็นอุปสรรคต่อภาคเศรษฐกิจ ทาง ธปท. ก็จะเข้าดูแล เพื่อให้มีผลกระทบต่อภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ

    "ถ้าดูการเคลื่อนไหวของเงินบาทไทยช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา จะเห็นว่าค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ เคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ หากเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค การแข็งค่าของเงินบาทรวมทั้งระดับความผันผวนถือว่าอยู่กลางๆ ของภูมิภาค ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อภาคการค้าและการลงทุน"

    ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เงินบาทมีระดับแข็งค่า 1.3% เป็นระดับการแข็งค่าที่น้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ขณะที่ค่าความผันผวนของค่าเงินบาทไทยอยู่ที่ 4.3% ซึ่งถือเป็นระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค

    หวั่นค่าเงินผิดปกติส่งผลเก็งกำไร

    ส่วนกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ เพราะมองว่าเป็นระดับที่เอื้อต่อการส่งออกของไทยนั้น นายประสาร กล่าวว่า เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น จะมีผลต่อความน่าเชื่อถือของค่าเงินด้วย เพราะถ้ามีคนไปทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวผิดไปจากปกติที่ควรเป็น ก็อาจมีแรงเก็งกำไรเข้ามาได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ

    "หากมีคนไปทำให้เงินบาทอ่อนค่ากว่าปกติ ก็จะเป็นตัวที่เอื้อให้มีนักเก็งกำไรค่าเงินเข้ามากันมาก เพราะรู้ว่าค่าเงินในขณะนั้น ไม่ใช่ของจริง มีความผิดปกติอยู่ เขาจึงเข้ามาเก็งกำไร โดยหวังว่าเมื่อเงินบาทกลับเข้าสู่ระดับปกติแล้วจะมีกำไร ดังนั้นของพวกนี้ จึงอยู่ที่ความพอดี สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ"

    นอกจากนี้ หากต้องการสนับสนุนให้ภาคการส่งออกเติบโตได้อย่างเข้มแข็งในระยะยาว ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นที่นอกเหนือจากค่าเงินบาทด้วย เพราะเราไม่สามารถพึ่งพิงค่าเงินในการสนับสนุนภาคการส่งออกได้เพียงอย่างเดียว

    ครึ่งปีแรกบาทแข็งค่า 1.3%

    นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เงินบาทไทยมีระดับการแข็งค่าที่ 1.3% สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค โดยรวมเงินบาทค่อนข้างมีเสถียรภาพ แม้จะได้รับผลกระทบทั้งปัจจัยภายในและต่างประเทศ

    "ช่วงต้นปีเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากความกังวลต่อเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและความกังวลต่อเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่บางประเทศ ก่อนที่จะกลับมาแข็งค่า หลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ประกอบกับเหตุการณ์การเมือง ไม่ได้มีความรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายกังวล" นางจันทวรรณกล่าว

    เงินบาทได้ปรับอ่อนค่าอีกครั้งในระยะสั้นๆ ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ก่อนที่จะกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ตามความชัดเจนทางการเมืองที่มีมากขึ้น และทิศทางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น

    เงินไหลออกตลาดหุ้น-บอนด์รวม8หมื่นล.

    ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลช่วงที่ผ่านมา ได้ปรับลดลง 0.17-0.34% จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ในเดือนมิ.ย. สถานการณ์ทางการเมือง และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงสิ้นปีก่อน

    สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงครึ่งปีแรก มียอดเงินไหลออกสุทธิ โดยเป็นการไหลออกตลาดหุ้นไทย 4 หมื่นล้านบาท และไหลออกตลาดตราสารหนี้อีก 4 หมื่นล้านบาท ทำให้ยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ของต่างชาติลดลงมาอยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 9.7% ของตราสารหนี้ทั้งระบบ

    ชี้ค่าบาทครึ่งหลังต้องเกาะติดศก."ไทย-เทศ"

    นางจันทวรรณ กล่าวว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทช่วงครึ่งปีหลัง ยังต้องจับตาปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน โดยปัจจัยภายในที่ต้องติดตาม คือ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ทั้งจากอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก รวมทั้งความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาล และความสำเร็จการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมือง

    ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม คือ แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศหลัก รวมทั้งจีน ตลอดจนความไม่แน่นอนทิศทางนโยบายการเงินของประเทศหลัก เช่น การปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ ที่อาจจะกลับมาเร็วขึ้นกว่าที่ตลาดคาด และการดำเนินนโยบายการเงินที่อาจผ่อนปรนมากขึ้นในยุโรป รวมทั้งยังต้องติดตามความเสี่ยงทางด้านรัฐศาสตร์ ที่ยังคงมีอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก

    นอกจากนี้ นายประสาร ยังกล่าวถึงการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กับคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ที่แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับภาคการคลัง ที่เริ่มมีความไม่สมดุลระหว่างรายได้ และรายจ่ายที่แนวโน้มมีเพิ่มขึ้นว่า กนง.และ กนส.มีความเป็นห่วง หากปล่อยให้ความไม่สมดุลเหล่านี้มีเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวได้

    รายได้รัฐส่วนใหญ่อยู่ในรูปภาษี

    รายได้รัฐส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของภาษี ซึ่งปัจจุบันฐานภาษีของเรามีค่อนข้างน้อย และภาษีส่วนใหญ่อยู่ในรูปของฐานรายได้มากกว่าฐานสินทรัพย์ โดยฐานรายได้เปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป แตกต่างจากฐานสินทรัพย์ที่จะคงที่มากกว่า จึงต้องคิดว่าจะขยายฐานภาษีเหล่านี้ออกไปได้อย่างไรบ้าง

    ถ้าดูรายจ่ายของภาครัฐ ในระยะหลังจะพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของงบประจำที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่งบลงทุนมีค่อนข้างน้อย ซึ่งการจะพัฒนาประเทศให้เติบโตได้ในระยะยาว การลงทุนถือเป็นเรื่องจำเป็น

    นายประสาร กล่าวด้วยว่า อีกประเด็นที่ต้องคิด คือ ระยะหลังภาครัฐนิยมหันไปใช้การจ่ายเงินนอกงบประมาณในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือออกในรูปของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจสร้างปัญหาให้เศรษฐกิจได้ในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่ กนง. และ กนส. มองว่าควรต้องช่วยกันคิด

    Tags : ธนาคารพาณิชย์ • เฟด • ธปท. • ประสาร ไตรรัตน์วรกุล • เสถียรภาพ • เงินบาท

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้