แบงก์ธนชาตรุกธุรกิจร้านค้ารับบัตร ตั้งเป้าโต 20% ต่อปี เพิ่มมาร์เก็ตแชร์ขึ้นอันดับ 4 ภายใน 3 ปี นายปริญญา จินันทุยา ผู้อำนวยการกลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต ธนาคารธนชาต เปิดเผยว่า ธนาคารหันมาเน้นการขยายธุรกิจร้านค้ารับบัตร นับตั้งแต่ควบรวมกับธนาคารนครหลวงไทย โดยปัจจุบันมีร้านค้ารับบัตรกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ ถือว่ายังเป็นน้องใหม่ในธุรกิจร้านค้ารับบัตรที่มีผู้เล่นในตลาด 7 ธนาคาร อย่างไรก็ตามในระยะ 3 ปีข้างหน้า ธนาคารตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดขึ้นมาเป็นอันดับ 4 หรือ 5 ของระบบ โดยจะต้องเพิ่มปริมาณธุรกิจต่อปีมากกว่า 20% และมีร้านค้ารับบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ร้านค้าในระยะ 3 ปีข้างหน้า ปัจจุบันธนาคารมีมูลค่าการรูดซื้อสินค้าและบริการผ่านเครื่องรับบัตร(EDC) และช่องทางอีคอมเมิร์ซประมาณ 15,000 ล้านบาทต่อไตรมาส หรือปีละ 60,000 ล้านบาท และมีจำนวนธุรกรรมต่อเดือนประมาณ 4 แสนรายการหรือ 4.8 ล้านรายการต่อปี โดยในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายเพิ่มปริมาณธุรกรรมอีก 20% และตั้งเป้าขยายฐานร้านค้ารับบัตรเพิ่มอีก 3,000 ร้านค้าทั่วประเทศในปีนี้ นายปริญญากล่าวว่า ในส่วนของร้านค้ารับบัตรปีนี้ ธนาคารจะมุ่งเน้นการขยายฐานด้วยการนำอุปกรณ์อ่านบัตรธนชาต เพย์ แอนด์(Pay’n Go)ซึ่งจะเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต มาให้ร้านค้าใช้แทนการขยายเครื่องอีดีซีที่จะมีต้นทุนสูงกว่า โดยเครื่องอ่านบัตรดังกล่าวร้านค้ารับบัตรจะมีต้นทุนในการซื้อค่าเครื่องเพียง 2,500 บาท และไม่มีค่าเช่ารายเดือน ต่างจากเครื่องอีดีซีที่ร้านค้าจะต้องลงทุนค่าเครื่องในราคา 7,000-10,000 บาทและมีค่าเช่ารายเดือนอีก 550 บาท หากยอดขายผ่านบัตรต่ำกว่า 100,000 บาทต่อเดือนเป็นอุปสรรคสำหรับร้านค้าขนาดเล็กที่ต้องแบกรับต้นทุนเหล่านี้ เขายังกล่าวอีกว่ารายได้จากธุรกิจร้านค้ารับบัตรถือว่ายังมีแนวโน้มเป็นบวกและเติบโตได้ต่อเนื่อง แม้ว่ามาร์จินจะบาง โดยร้านค้ารับบัตรจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 3% ของมูลค่าธุรกรรม แต่ธนาคารมีต้นทุนในการจ่ายคืนให้กับวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด รวมถึงธนาคารเจ้าของบัตร ทำให้รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วค่อนข้างบาง “ด้วยแนวโน้มตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป โทรศัพท์มือถือสามารถทำงานภายใต้แอพลิเคชั่นที่หลากหลายมากขึ้น บริการดังกล่าวจะช่วยให้ลูกค้าชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตได้โดยง่าย โดยยอดการทำรายการแต่ละครั้งจะเข้าบัญชีเงินฝากของร้านค้าในวันถัดไป สะดวกและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมให้กับร้านค้าเมื่อเทียบกับการรับชำระเงินด้วยเงินสด" Tags : ปริญญา จินันทุยา • ธนชาต • บัตรเครดิต