ศูนย์วิจัยทองคำมองราคาทองครึ่งหลังปรับขึ้นจำกัดเหตุถูกกดดันมองกรอบราคาที่1,150-1,450ดอลลาร์ต่อออนซ์ นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า กรอบราคาทองคำในครึ่งปีหลัง แม้จะมีปัจจัยหนุนจากความขัดแย้งภายในประเทศอิรัก และปัญหาสงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ แต่เชื่อว่าราคาทองคำจะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะภาพในระยะยาว ราคาทองคำยังถูกกดดันจากการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป และนโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังสิ้นสุดการทำมาตรการคิวอีของสหรัฐ "ในระยะสั้นแม้จะมีปัจจัยบวกต่อราคาทองคำ จากความขัดแย้งในปาเลสไตน์ และ อิรัก แต่เรามองว่าราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นในกรอบจำกัด เพราะภาพในระยะยาว ปัจจัยลบต่อราคาทองคำยังมีอยู่มาก ราคาทองจึงจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบและจะขยับขึ้นไม่มากนัก" โดยกรอบราคาทองคำในครึ่งปีหลัง เรามองว่าน่าจะเคลื่อนไหวที่ 1,150-1,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และมองว่าราคาทองจะไม่ต่ำกว่า 1,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือ 17,000 บาทต่อบาททองคำ เพราะระดับดังกล่าวคือต้นทุนราคาทองคำหน้าเหมือง ส่วนความเคลื่อนไหวของราคาทองคำไทย มองว่าจะอยู่ในกรอบ 17,000-21,000 บาทต่อบาททองคำ แนะนำให้นักลงทุนนั้นยังลงทุนระยะสั้นเป็นหลัก และเล่นรอบราคาทองคำ หลีกเลี่ยงลงทุนระยะยาว สำหรับดัชนีราคาทองคำในเดือน ก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 56.14 จุด เพิ่มขึ้น 10.61 จุด หรือเพิ่มขึ้น 23.31% จากแรงกดดันของความขัดแย้งในประเทศอิรัก และ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ส่งผลต่อเนื่องกับสินค้าโภคภัณฑ์ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับภาพของดัชนีราคาทองระยะ 3 เดือนที่เพิ่มขึ้นเช่นกันมาอยู่ที่ 63.81 จุด หรือเพิ่มขึ้น 7.04 จุด หรือ 12.39 จุด ซึ่งสูงกว่าระดับ 50 จุด สะท้อนมุมมองบวกต่อราคาทองคำ นอกจากปัจจัยเสี่ยงในด้านความขัดแย้งทั้ง 2 พื้นที่ของโลกที่จะผลักดันราคาทองเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยบวกจากการเข้าเก็งกำไรราคาทองในระยะสั้น โดยกองทุนทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือ เอสพีดีอาร์ ยังเดินหน้าเข้าซื้อทองคำนับปริมาณการเข้าซื้อจากช่วงต้นเดือนพบว่ามีการซื้อสะสมแล้ว 20 ตัน ส่วนปัจจัยลบนั้น กลุ่มผู้ค้าทองคำให้น้ำหนักกับค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่า จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่คาดว่าจะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก รวมถึงนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐต่อมาตรการรับซื้อคืนพันธบัตร (คิวอี) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะกดดันต่อราคาทองคำในระยะยาว เขากล่าวว่า สำหรับกรอบราคาทองคำในเดือน ก.ค.กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม มองว่าน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,240-1,380 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยกรอบล่างอยู่ระหว่าง 1,240-1,300 ดอลลาร์ มีความถี่หนาแน่นที่ 1,280 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่กรอบด้านบนอยู่ที่ 1,320-1,380 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และมีความถี่หนาแน่นที่ 1,320-1,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำแท่งในประเทศ น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 19,000-21,000 บาทต่อบาททองคำ โดยกรอบการเคลื่อนไหวด้านล่างกลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักระหว่าง 19,000-20,000 บาทต่อบาททองคำ มีความถี่หนาแน่นในช่วง 19,600-19,800 บาทต่อบาททองคำ ขณะที่กรอบราคาด้านบนกลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักระหว่าง 20,000-21,000 บาทต่อบาททองคำ มีความถี่หนาแน่นในช่วง 21,000 บาทต่อบาททองคำ อย่างไรก็ตามด้านความเคลื่อนไหวราคาทองคำ ใน เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น 76.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์มาอยู่ที่ 1,327.19 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ราคาทองคำในช่วงต้นเดือนอ่อนตัวสวนทองกับผลตอบแทนตลาดหุ้นทั่วโลก จากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น แต่กลับตัวเพิ่มขึ้นได้ในช่วงปลายเดือน จากความขัดแย้งในอิรักและยูเครนที่มีการต่อสู้ภายในประเทศ โดยกองทุนเอสพีดีอาร์ ได้มีการสะสมทองคำเพิ่มขึ้น 15 ตัน มาอยู่ที่ 800.28 ตัน ส่วนราคาทองคำในประเทศ ปิดที่ 20,200 บาทต่อบาททองคำ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.32% Tags : กมลธัญ พรไพศาลวิจิต • ราคาทองคำ