ชี้ขาดดุลคลัง-ใช้เงินนอกงบพุ่ง ปัจจัยเสี่ยงฉุดศก.ระยะยาว

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 15 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    บอร์ด"กนง.-กนส."ถกนัดแรก ห่วงฐานะการคลัง ชี้ขาดดุลคลัง-ใช้เงินนอกงบพุ่ง ปัจจัยเสี่ยงฉุดศก.ระยะยาว

    ย้ำหลังรายได้ขยับเพิ่มน้อยกว่ารายจ่าย-ใช้เงินนอกงบประมาณพุ่ง ชี้เป็นปัจจัยเสี่ยงฉุดเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว ด้านนักเศรษฐศาสตร์เตือนความเสี่ยงเพิ่มหากดอกเบี้ยโลกขาขึ้น ดันต้นทุนภาครัฐเพิ่ม ขณะ สบน.เตรียมชง คสช.สัปดาห์หน้า แผนลงทุน 1.5 แสนล้าน กู้เพิ่ม 6.2 หมื่นล้าน

    การประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) แสดงความกังวลความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินระยะยาว โดยมาจากภาคการคลังที่มีความไม่สมดุลระหว่างรายได้ และรายจ่ายที่มีแนวโน้มมากขึ้น

    "กนง.-กนส." เป็นคณะกรรมการหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะมีการประชุมละ 2 ครั้ง โดย กนส. รับผิดชอบด้านการกำหนดนโยบายระบบสถาบันการเงินของ ธปท. ขณะที่ กนง.รับผิดชอบด้านการกำหนดทิศทางของนโยบายการเงิน โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ ธปท. อย่างใกล้ชิดในการติดตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ

    การประชุมนัดแรกของปี 2557 วานนี้ (14 ก.ค.) ที่ประชุมมีความเห็นว่านอกจากความเสี่ยงภาคการคลังแล้ว กิจกรรมนอกงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การปรับโครงสร้างเพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคการคลังมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น

    "ที่ประชุมมีความเห็นว่า แม้สถานการณ์การเมืองมีความชัดเจนขึ้น ทำให้เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินกลับมามีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามความชัดเจนและความรวดเร็วของนโยบายภาครัฐ"

    นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ได้รับผลกระทบบ้างจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา โดยรายได้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจปรับลดลง และเริ่มเห็นคุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคด้อยลงบ้าง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบยังไม่กระจายเป็นวงกว้างจนเป็นความเสี่ยงเชิงระบบ

    "หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนปรับดีขึ้น และคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในระยะต่อไป จากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคเอกชน อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากโครงสร้างนักท่องเที่ยวของไทยมีสัดส่วนชาวเอเชียเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ทางการเมือง"

    สำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีผลการดำเนินงานที่ดี มีฐานะการเงินที่มั่นคงและรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจได้ เงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง แม้สินเชื่อชะลอตัวลงบ้างตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังขยายตัวสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริง

    ถกงบลงทุน1.5แสนลบ.สัปดาห์หน้า

    นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่าในสัปดาห์หน้า จะหารือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับงบลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานในปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.2557-ก.ย.2558) โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ลงทุนในโครงการที่มีความพร้อมและคสช.ให้ความเห็นชอบ

    ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว จะมาจาก งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2558 จำนวน 2 หมื่นล้านบาท การกู้เพื่อลงทุน ราว 6.5 หมื่นล้านบาท และ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับภาคเอกชนอีก 7 พันล้านบาท

    นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่รัฐวิสาหกิจจะกู้เพื่อลงทุน 2 หมื่นล้านบาท และอีกส่วนหนึ่ง มาจากรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ราว 4.3 หมื่นล้านบาท โดยในสัปดาห์หน้า จะมีการประชุม แผนการบริหารหนี้ปี 2558 กับ คสช. เพื่อดูว่าจะลงทุนในโครงการใดบ้าง

    สำหรับการก่อหนี้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2557(ก.ค.-ก.ย. 2557) การก่อหนี้ของรัฐบาลจะอยู่ที่ 1.96 แสนล้านบาท โดยเป็น เงินกู้ใหม่ 6.2 หมื่นล้านบาท และ การปรับโครงสร้างหนี้เดิม 1.34 แสนล้านบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจ มีแผนก่อหนี้ 8.09 หมื่นล้านบาท แยกเป็น การกู้เพิ่ม 3.8 หมื่นล้านบาท และ ปรับโครงสร้างหนี้ 4.2 หมื่นล้านบาท

    คาดหนี้สาธารณะปีหน้าเพิ่มเป็น47%

    ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2557 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 47% โดยปัจจุบัน หนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ที่ประมาณ 46%

    ส่วนการก่อหนี้ทั้งระบบในขณะนี้ มีจำนวน 9.21 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น การก่อหนี้โดยรัฐบาล 38% การก่อหนี้จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) 31% การก่อหนี้ ของรัฐวิสาหกิจ 8% การก่อหนี้ของเอกชน 22% และต่างชาติที่เข้ามาระดมทุนในไทย อีก 1.0% ซึ่งคาดว่าในปี 2558 การก่อหนี้โดยรวม จะเกินระดับ 10 ล้านล้านบาท

    นางสาวจุฬารัตน์ กล่าวอีกว่า แผนการก่อหนี้ของรัฐบาล ในปีงบประมาณ 2558 จะมีการปรับแผนเป็นการก่อหนี้ระยะยาวมากขึ้น เช่น การออกพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี และ 50 ปี จากเดิมที่มีสัดส่วนประมาณ 30% ของพันธบัตรที่ออกทั้งหมด ก็จะเพิ่มเป็น 40% เนื่องจากการรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา พบว่า นักลงทุนสนใจที่จะลงทุนในพันธบัตรระยะยาวมากขึ้น

    "สบน.จะมีการหารือกับนักลงทุนที่ร่วมตลาดทั้งหมดเป็นครั้งสุดท้าย ในช่วงเดือนก.ย. เพื่อฟังแนวโน้มความต้องการของตลาด และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสม ก่อนจะสรุปแผนการก่อหนี้ทั้งหมด ในปี 2558 เพื่อประกาศใช้ให้ทันในเดือนต.ค. หรือ ต้นปีงบประมาณใหม่"

    ศก.โตต่ำกว่าศักยภาพเหตุรายได้น้อย

    นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่าความไม่สมดุลระหว่างรายได้รัฐนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ทำให้ความสามารถในการจัดเก็บของภาครัฐลดลง ส่งผลต่อการทำงบประมาณที่ต้องดำเนินงบขาดดุลด้วย

    การจัดทำงบประมาณขาดดุลที่อยู่ในระดับ 2-3% ของจีดีพีนั้น โดยภาพรวมไม่ได้น่าเป็นห่วงมากนัก เพียงแต่ต้องดูว่าสาเหตุที่ต้องทำงบขาดดุลเพื่ออะไร หากทำเพื่อไปขยายการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศไทยกำลังต้องการก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทยในอนาคตด้วย

    "ประเด็นอยู่ที่ว่า ทำงบขาดดุลเพื่ออะไร ถ้าเพื่อรองรับโครงการลงทุนที่ได้เตรียมเอาไว้ อย่างโครงการโครงสร้างพื้นฐานกรณีอย่างนี้ก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะดีกว่าการขาดดุลเพื่อการบริโภคแน่นอน" นายเชาว์กล่าว

    นอกจากเรื่องการขาดดุลงบประมาณแล้ว ยังมีอีก 2 เรื่องที่น่าเป็นห่วงและควรต้องติดตาม เพราะอาจมีผลต่อฐานะการคลังของภาครัฐได้ คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

    กสิกรแนะเกาะติดการเติบโตศก.

    นายเชาว์ กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจนั้นถือเป็นประเด็นที่ต้องติดตามดู เพราะถ้าเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามศักยภาพ นอกจากจะทำให้การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐเป็นไปตามเป้าหมายแล้ว ยังมีผลต่อสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของภาครัฐด้วย โดยปัจจุบันหนี้ต่อจีดีพีของภาครัฐปรับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 46% ถือเป็นระดับที่ยังต่ำกว่า 50% ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วงเกินไป

    ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนั้น ต้องยอมรับว่าระยะต่อไปดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น เพราะจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องทำให้ความจำเป็นที่ต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดลงตามไปด้วย มีการประเมินกันว่าดอกเบี้ยสหรัฐในระยะข้างหน้าอาจอยู่ที่ประมาณ 3-3.5% ดังนั้นแล้วดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระยะต่อไปก็คงไม่น้อยกว่า 3.5% อย่างแน่นอน ซึ่งตรงนี้จะส่งผลต่อต้นทุนทางการคลังของภาครัฐด้วย

    กกร.คาดศก.โต2%-ส่งออก3.5%

    ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) กล่าวภายหลังการประชุมวานนี้ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยการใช้จ่ายในประเทศทั้งการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นตั้งแต่เดือนพ.ค.

    นายบุญทักษ์ ประเมินว่าจีดีพีในครึ่งปีหลังจะขยายตัว 4.2% ทำให้จีดีพี รวมทั้งปี 2557 จะขยายตัว 2% และในปี2558 จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระดับ 3.5-4.5% ขณะที่การส่งออกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 3-5%

    ด้าน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกไทยปีนี้น่าจะเติบโตได้ระดับ 3-5% โดยครึ่งหลังน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3.5-4% เนื่องจากสินค้าเกษตรสำคัญเช่น ข้าวและน้ำตาลที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามหากไทยสามารถรักษาระดับค่าเงินบาทไว้ในช่วงครึ่งปีหลังไม่ให้ผันผวนและอยู่ในระดับไม่เกิน 33 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะมีผลดีต่อการส่งออกไทยในรูปของเงินบาทอย่างมาก

    ขณะที่ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แนวโน้มการประกาศใช้ธรรมนูญปกครองชั่วคราวที่จะออกมาจะส่งผลดีต่อภาพพจน์ของประเทศ ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ และในอนาคตจะมีการออกกฎหมายตามมาอีกหลายฉบับ ซึ่งจะทำให้การทำธุรกิจต่างๆมีกฎกติกาที่ชัดเจนและเป็นธรรมมากขึ้น

    Tags : กนง. • กนส. • ขาดดุล • ปัจจัยเสี่ยง • เสถียรภาพเศรษฐกิจ • ดอกเบี้ย • หนี้สาธารณะ • กกร. • บุญทักษ์ หวังเจริญ • เชาว์ เก่งชน • อิสระ ว่องกุศลกิจ • สุพันธุ์ มงคลสุธี

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้