รื้อ'ทีโออาร์'จัดซื้อรัฐวิสาหกิจ 'ซูเปอร์บอร์ด'ชี้ป้องทุจริต-ฮั้วประมูล -ปิดช่องการเมืองหาผลประโยชน์ "ซูเปอร์บอร์ด" รื้อสัญญาจัดซื้อจัดจ้างโครงการลงทุนรัฐวิสาหกิจใหม่ 56 แห่งทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ ป้องกันการทุจริต ปิดช่องว่างกลุ่มนักการเมือง-บุคคลภายนอก แสวงหาผลประโยชน์ ยันมีอำนาจเต็มจัดการรัฐวิสาหกิจ ยึดต้นแบบ"เอดีบี-ไจกา" คาดสามารถจัดการได้เสร็จภายใน 2 เดือน มั่นใจลดทุจริตได้ เพื่อประสิทธิภาพองค์กร พร้อมเปิดบทบาทและอำนาจ 3 คณะอนุกรรมการ จัดการรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.)หรือซูเปอร์บอร์ด ให้เป็นผู้ดำเนินการหาข้อมูลเงื่อนไข การเปิดประมูลและจัดซื้อจัดจ้าง หรือทีโออาร์ ที่เป็นมาตรฐานสากล หรือTerm of Reference หรือร่างขอบเขต ที่เป็นข้อกำหนดเงื่อนไข การประกวดราคา ที่เป็นเอกสารการแสดงข้อมูลรายละเอียดที่ประกาศ หรือแจ้งให้ผู้ขายทราบถึงความต้องการและเงื่อนไขของผู้ซื้อ นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่าสคร.จะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน ในการยกร่างเงื่อนไขทีโออาร์ใหม่ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ นำไปปฏิบัติใช้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่คนร. ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงการบริหารงาน การอุดช่องโหว่ของการทุจริตและการฮั้วประมูลงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ซูเปอร์บอร์ด จะมีอำนาจเต็มในการเข้าไปกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ จากอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากเดิมที่ สคร. มีหน้าที่เพียงให้คำปรึกษา รวมถึงข้อแนะนำให้รัฐวิสาหกิจปฏิบัติ เพื่อความโปร่งใสและลดความซ้ำซ้อน แต่ในท้ายที่สุดเมื่อรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง หรือรัฐบาล ซึ่งเป็นนักการเมืองไม่เห็นด้วย สคร.ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาล แต่ซูเปอร์บอร์ดจะมีอำนาจที่เหนือกว่ารัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเพราะสามารถสั่งการให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการนโยบายของซูเปอร์บอร์ดได้ทันที รื้อสัญญาจัดซื้อปิดช่องหาผลประโยชน์ "เหตุผลหลักที่ต้องมาดูร่างทีโออาร์ใหม่ เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากล อุดช่องว่างไม่ให้มีใครเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะนักการเมือง ไม่ให้มีการเข้ามาฮั้วการประมูล เพราะแบบมาตรฐานสากล จะมีกระบวนการเปิดประมูล การทำสัญญา ติดตาม รวมทั้งมีการทำแบบประเมินผล แบบสำรวจ และอีกหลายขั้นตอน จึงเชื่อว่าจะช่วยลดการทุจริตลงได้" นายกุลิส กล่าว สำหรับทีโออาร์ใหม่ที่อยู่ระหว่างการยกร่างของสคร. ถือเป็นการรื้อสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจใหม่ทั้งหมด เพราะแต่เดิมรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง จะยึดกฎหมายของตัวเอง หรือที่เรียกว่า "พ.ร.บ.จัดตั้ง" เช่น ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ทำให้การลงทุนของธนาคารเฉพาะกิจแต่ละแห่ง มีลักษณะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างลงทุน ทั้งๆ ที่การลงทุนในธุรกรรมของธนาคาร บางเรื่องสามารถลงทุนรวมกันได้ เพื่อการประหยัดและลดการ ใช้ทรัพยากร ยึดต้นแบบทีโออาร์"เอดีบี-ไจกา" นายกุลิศ ย้ำว่า สคร. จะนำเอาร่างสัญญาขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ เอดีบี และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจกา เป็นต้น มาเป็นต้นแบบของยกร่างทีโออาร์ ใหม่ เพื่อให้ทีโออาร์มีความเป็นมาตรฐานสากล ตรวจสอบได้และมีความโปร่งใส ทั้งหมดนี้ สคร.มั่นใจว่าจะช่วยลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้แน่นอน "ในปีงบประมาณ2556 งบลงทุนของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ มีงบลงทุนกว่า 3.1แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายออกไปจริง 2.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 75.59% ขณะที่ปี 2557 งบลงทุนรัฐวิสาหกิจมีอยู่กว่า 3.46 แสนล้านบาท ณ เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 20.68% ซึ่งแต่ละปีรัฐวิสาหกิจมีงบลงทุนจำนวนที่สูงมาก หากลดการทุจริตลงได้ จะทำให้การทำงานขององค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นที่ยอมรับของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้" นายกุลิศ กล่าว สั่งหยุด-ชะลอลงทุน18โครงการมีปัญหา สำหรับโครงการที่มีปัญหาและอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) โดยมีคำสั่งให้หยุดหรือชะลอการลงทุนออกไปก่อนจำนวน 18 โครงการนั้น เช่น โครงการจัดซื้อหัวรถจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,000 คัน การก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 เป็นต้น ทางสคร.และซูเปอร์บอร์ด ก็จะต้องนำโครงการดังกล่าว กลับมาพิจารณาร่างทีโออาร์ใหม่ด้วย ส่วนโครงการลงทุนมูลค่า 100 ล้านบาท ของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ขณะนี้ สคร. ได้สรุปข้อมูลการลงทุนของรัฐวิสาหกิจต่างๆ แล้วประมาณ 200 โครงการ โดยจะเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อหารือในการประชุมคนร. ต่อไปส่วนเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ ที่ยังว่างอยู่ขณะนี้สคร.กำลังจัดทำรายชื่ออยู่ โดยกระทรวงต้นสังกัดของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ จะต้องนำเสนอไปยังคสช. เพื่ออนุมัติ คาดว่าจะมีการตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่ยังขาดอยู่ทั้งหมดภายในเดือนก.ค.นี้ กำหนดยุทธศาสตร์แก้ปัญหารสก. นายกุลิศ กล่าวถึงอำนาจของซูเปอร์บอร์ด ตามที่คสช.ระบุ ประกอบด้วยการวางทิศทาง กำหนดยุทธศาสตร์ สร้างเครื่องมือในการวางรากฐาน แก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และไม่มีการลงทุนที่ซ้ำซ้อน โดยดำเนินการภายใต้ 3 คณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการด้านการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจรายแห่งในองค์รวม โดยมีหน้าที่พิจารณาและกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจและนำเสนอ คนร.เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีกองทัพบก ในฐานะประธานคตร. เป็นประธาน 2. คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ โดยมีหน้าที่พิจารณา และจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ในการพัฒนารัฐวิสาหกิจในภาพรวม และนำเสนอ คนร. พิจารณา เพื่อให้รัฐวิสาหกิจไทย มีทิศทางในการดำเนินงานที่ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน มีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ปูฐานดันประสิทธิภาพเพิ่มรสก. 3. คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาระบบกำกับรัฐวิสาหกิจ โดยมีหน้าที่ในการวางรากฐาน ในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การสรรหาคณะกรรมการ ผู้บริหาร การจัดซื้อจัดจ้าง ธรรมาภิบาล การตรวจสอบ การเงินและการลงทุนรวมถึงการประเมินผลและการสร้างระบบแรงจูงใจ เพื่อเป็นการกำหนดแนวทางในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพต่อไป มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธาน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ คสช. ได้มีมติแต่งตั้ง คนร. ขึ้นมา โดยให้มีหน้าที่ในการกำหนดกรอบขอบเขตและอำนาจหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์ ให้กับรัฐวิสาหกิจ ด้วยการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับที่ล้าหลังให้มีความทันสมัย เพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีความคล่องตัว แข่งขันได้พร้อมกับสร้างเครื่องมือในการวางรากฐานรัฐวิสาหกิจระยะยาว นอกจากนี้ ก็ให้เข้าไปแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา ให้สามารถฟื้นฟูกิจการและแข่งขันและบริการกับประชาชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเข้ามาดูเรื่องระบบการจัดซื้อ จัดจ้าง การบริหาร ให้มีความโปร่งใส รวมถึงการลงทุนด้วย Tags : ซูเปอร์บอร์ด • จัดซื้อจัดจ้าง • รัฐวิสาหกิจ • ตลาดหลักทรัพย์ • เอดีบี • ไจกา • สคร. • กุลิศ สมบัติศิริ • คสช.