ศูนย์วิจัยทองคำเผยผลสำรวจผู้ค้าทอง มองครึ่งปีหลังไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อบาททองคำ เหตุคิวอี-ค่าเงินกระทบ มองเป็นโอกาสซื้อทองรูปพรรณ นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า จากความคิดเห็นของผู้ค้าทองคำและผู้ประกอบการทองคำในเดือนพ.ค. พบว่า ผู้ลงทุนและผู้ค้าทองมองว่าในครึ่งปีหลัง จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ ทองคำเฉลี่ยครึ่งปีหลังต่ำกว่าระดับ 20,000 บาทต่อบาททองคำ ขณะที่มองจุดสูงสุดไว้ 22,000 บาทต่อบาททองคำ และต่ำสุดที่ 18,000 บาทต่อบาททองคำ โดยปัจจัยหลักมาจากมาตรการคิวอีที่กดดัน "จากการสำรวจครึ่งปีหลังนั้น ผู้ค้าทองคำมองว่า ราคาทองคำในตลาดโลกอยู่ในช่วงกรอบสูงสุดที่ 1,340-1,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนกรอบต่ำสุดอยู่ที่ 1,250-1,280 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งจากการสำรวจ ผู้ค้าให้ปัจจัยกับการปรับลดมาตรการคิวอีที่จะเข้ามากดดันราคาทองคำ รวมไปถึงการที่ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงทำนิวไฮต่อเนื่อง ทำให้เงินที่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดทองจะไม่มากนัก" ส่วนมาตรการคิวอีของสหรัฐ มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เริ่มชะลอมาตรการคิวอีต่อเนื่อง และคาดว่าจะส่งผลกระทบในแง่ลบต่อราคาทองคำ เพราะคาดว่าการปรับลดมาตรการคิวอี จะสามารถสิ้นสุดลงได้ภายใน 6-8 เดือนข้างหน้า ซึ่งมีโอกาสที่สหรัฐ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังจากคิวอี สิ้นสุดลง และจะเป็นปัจจัยลบกดดันราคาทองคำในอนาคตได้ ภาพดังกล่าวกดดันให้ราคาทองคำจะอยู่ในระดับ 20,000 บาทต่อบาททองคำ และอาจต่ำกว่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งที่จะเข้ามากดดันราคาทองคำคือการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทจากปัจจัยการเมืองเข้ามากระทบต่อค่าเงินบาท และส่งผลหากสถานการณ์การเมืองยังไม่สามารถคลี่คลายในช่วงไตรมาส 3 คาด น่าจะทำให้ค่าเงินบาท โดยกรอบค่าเงินบาทประเมินไว้ในช่วง 32-33.5 บาทต่อดอลลาร์ กดดันต่อราคาทองคำในประเทศ หากค่าเงินบาทแข็งค่าและราคาทองต่างประเทศยังแกว่งตัว มองว่านักลงทุนที่เน้นการลงทุนในทองรูปพรรณจะเข้ามาซื้อเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นราคาทองต่ำกว่า 18,000 บาทต่อบาททองคำ เป็นจุดวัดจังหวะที่ดีสำหรับผู้บริโภคประเภททองรูปพรรณ สำหรับนักลงทุนทองคำแท่งอาจจะชะลอการลงทุน เนื่องจากในปีก่อนยังมีต้นทุนการเก็งกำไรในทองคำแท่งที่สูง โดยบางรายยังสูงกว่า 23,000 บาท ต่อบาททองคำ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนพ.ค.นี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 50.46 จุด เพิ่มขึ้น 5.11% ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 50 จุดอีกครั้งเป็นมุมมองในเชิงบวก โดยกลุ่มตัวอย่างมองว่าค่าเงินบาทและปัจจัยเสี่ยงยูเครนจะเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำ ขณะที่ความเสี่ยงในการปรับลดขนาดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ เป็นแรงกดดันสำคัญที่มีต่อราคาทองคำ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในช่วงสามเดือนข้างหน้าจากการสำรวจพบว่า ดัชนีโดยรวมอยู่ที่ระดับ 52.88 จุด ลดลงจากการจัดทำเดือนเมษายนเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 จุด ทำให้เชื่อว่ากลุ่มตัวอย่างยังคงมีมุมมองระยะกลางต่อราคาทองคำในเชิงบวก โดยมองปัจจัยเรื่องความผันผวนของค่าเงินบาท ความเสี่ยงในยูเครน ทิศทางค่าเงินดอลลาร์ และการปรับเปลี่ยนนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบสำคัญ Tags : กมลธัญ พรไพศาลวิจิต • ศูนย์วิจัยทองคำ • ราคาทอง