จีนดัน'หยวน'ผงาดเวทีโลก

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 14 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ช่วงที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายสำหรับค่าเงินหยวนของจีนหลังประกาศยกเลิกการใช้เงินดอลลาร์

    ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายสำหรับค่าเงิน “หยวน” ของ “จีน” เหตุการณ์แรกเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2557 จีนประกาศยกเลิกการใช้เงิน “ดอลลาร์” ในการซื้อขายพลังงานระหว่าง บริษัทพลังงานของจีนกับ “กาซปรอม” ผู้ประกอบการด้านพลังงานรายใหญ่ของ “รัสเซีย” โดยหันมาใช้เงินสกุล “รูเบิล” และ “หยวน” ในการซื้อขายระหว่างกันแทน

    ส่วนเหตุการณ์ที่สอง เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางการจีนประกาศอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์อ้างอิง (โควต) อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนสำหรับลูกค้าได้อย่าง “เสรี” จากเดิมที่อนุญาตให้กำหนดอัตราเคาน์เตอร์อ้างอิง(โควต เคาน์เตอร์ เรท) ได้ที่ บวก ลบ 1% สำหรับเงินโอน และ บวก ลบ 4% สำหรับการซื้อขายธนบัตร จากค่ากลางที่ทางการจีนกำหนด

    ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ นักวิเคราะห์ในตลาดการเงินโลกมองว่า ทางการจีนเริ่มที่จะผลักดันเงินหยวนให้มีบทบาทสำคัญบทเวทีโลกมากขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันยังลดบทบาทและความเป็นมหาอำนาจของสกุลเงิน “ดอลลาร์” ลงด้วย

    นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่า การเดินเกมของจีนในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของทางการจีน ที่จะเริ่มใช้เงินหยวนเป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศ เพราะถ้าอนาคตสามารถลดการใช้เงินสกุลดอลลาร์ลงได้ เงินหยวนจะถือเป็นอีกหนึ่งสกุลเงินใหม่ที่มีบทบาทบนเวทีการค้าโลกอย่างมาก

    อย่างไรก็ตาม นายทนง เชื่อว่า ทางการสหรัฐ ก็คงอยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น เพราะถ้าบทบาทเงินดอลลาร์ลดลงได้เมื่อไหร่ ค่าเงินดอลลาร์ ก็จะอ่อนลงทันที คนที่เก็บเงินดอลลาร์ไว้อำนาจในการบริโภค ก็จะลดลงทันที คนที่เป็นเจ้าหนี้สหรัฐ ก็จะซื้อของได้น้อยลงด้วย เชื่อว่าสหรัฐ ก็คงอยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น

    “จีนเองก็รู้ว่าหนีไม่พ้นที่จะเกิดแบบนี้ สหรัฐ ก็พยายามบีบให้ค่าเงินจีนแข็งขึ้น แต่จีนเองยังไม่พร้อมที่จะทำรุนแรงเกินไป เพราะถ้าค่าเงินของตัวเองแข็งเกินไป ก็จะคล้ายๆ กับวิกฤติที่ค่าเงินบาทเราแข็งเกินไป ทำให้การค้าขายยากขึ้น การส่งออกก็ยากขึ้น มีปัญหาต่อการวางแผนเศรษฐกิจในภายหลัง”

    นายทนง กล่าวด้วยว่า ถ้าดูความเป็นลูกหนี้สหรัฐฯ ในเวลานี้จะเห็นว่ามีหนี้ท่วมโลก และประเทศที่เป็นเจ้าหนี้ล้วนเป็นประเทศที่เศรษฐกิจด้อยกว่าสหรัฐ และส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบเอเชีย ไม่ว่าเป็น จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง รวมทั้งประเทศไทยด้วย

    “เรื่องนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ อย่างกรณีของไทย เรามีรายได้ต่อหัวโดยเฉลี่ยน้อยกว่ารายได้ต่อหัวโดยเฉลี่ยของชาวสหรัฐฯ 4-5 เท่า เงินที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานกลายมาเป็นเงินออมของเรา สุดท้ายเราก็เอาไปให้เขายืม โดยที่เขาออกเป็นพันธบัตรมาให้เราซื้อ และเงินที่ได้ก็เอามาลงทุนในประเทศของเรา โดยเขาสามารถทำกำไรได้มากกว่าที่เราได้ดอกเบี้ยจากเขา ดังนั้นเขาจึงเป็นเจ้าหนี้ที่ยิ่งใหญ่มาก แต่เรากลับเป็นเจ้าหนี้ที่จนมาก” นายทนงกล่าว

    เขาเชื่อว่า สหรัฐ ก็ต้องการปลดจากการเป็นลูกหนี้ตรงนี้ ในขณะที่จีนเองก็เริ่มเป็นห่วงลูกหนี้รายนี้เช่นกัน เพราะเท่ากับว่าเงินสำรองระหว่างประเทศของจีนที่อยู่ในรูปเงินดอลลาร์ เมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินหยวนเมื่อไหร่ก็ขาดทุนทันที ทำให้จีนเริ่มที่จะปรับตัว ส่งผลให้ระบบการเงินโลกมีแนวโน้มว่าจะเริ่มปรับเข้าสู่สมดุล

    นอกจากนี้ นายทนง ยังเชื่อว่า บทบาทของจีนจากนี้ไปคงพยายามกลับมาผลักดันเรื่องกองทุนการเงินของอาเซียน (เอเอ็มเอฟ) อีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้จีนเคยพยายามผลักดันในเรื่องนี้มาแล้วแต่ไม่สำเร็จ มาครั้งนี้เมื่อจีนมีความแข็งแกร่งขึ้น เชื่อว่าการผลักดันเอเอ็มเอฟก็น่าจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน

    “จีนกับอาเซียนเคยคิดถึงการตั้ง เอเอ็มเอฟ (Asian Monetary Fund) ที่เหมือนกับ ไอเอ็มเอฟ โดยไอเอ็มเอฟเกิดขึ้นครั้งแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาในยุโรป และพัฒนาตัวเองไปสู่การแก้ไขปัญหาสำคัญของโลก แต่ไอเอ็มเอฟไม่ค่อยรู้เรื่องระบบเศรษฐกิจของเอเชีย และวิธีการที่นำมาใช้ก็ไม่ค่อยเหมาะกับโครงสร้างเศรษฐกิจของเอเชียนัก จีนกับญี่ปุ่นจึงเกิดแนวคิดเรื่องการตั้งเอเอ็มเอฟขึ้นมา” นายทนงกล่าว

    การจัดตั้งเอเอ็มเอฟนั้น นายทนง เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูง โดยอาจพัฒนาจากกองทุนความริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี หรือ ซีเอ็มไอเอ็ม ซึ่งเป็นข้อตกลงด้านการแลกเปลี่ยนการเงินแบบพหุภาคีของกลุ่มประเทศอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้) ซึ่งอนาคตตัว ซีเอ็มไอเอ็ม นี้อาจมีการปรับเปลี่ยนกติกาจนกลายมาเป็น เอเอ็มเอฟ ได้ในท้ายที่สุด

    ด้าน นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ธปท.ตระหนักถึงความสำคัญของเงินหยวน ที่มีแนวโน้มว่าจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต และได้พยายามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย เริ่มหันมาใช้เงินหยวนในการค้า และการลงทุนที่มากขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และลดผลกระทบจากความผันผวนของเงินสกุลหลัก โดยที่ผ่านมาเงินบาทไทย ก็สามารถกำหนดราคาซื้อขาย (โควต) ระหว่างเงินบาทกับเงินหยวนโดยตรงได้ที่คุนหมิงของจีนแล้ว

    ปัจจุบัน เงินหยวนมีบทบาทในเวทีการชำระเงินโลกทั้งการค้า และการลงทุนเพิ่มขึ้นชัดเจน ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ และแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของจีน ประกอบกับ ช่วงหลังทางการจีนมีนโยบายการผลักดันการใช้เงินหยวนให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ทำให้มีผู้สนใจใช้เงินหยวนในธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น เช่น กรณีอังกฤษ เสนอตัวเป็นศูนย์กลางการชำระดุลสกุลเงินหยวน หรือ กรณีรัสเซียตกลงกับจีนในการชำระค่าสินค้าด้วยเงินสกุลท้องถิ่นระหว่างกัน

    "เมื่อประชาชนของทั้งสองประเทศเริ่มมีความคุ้นเคยในการชำระเงินสกุลท้องถิ่นระหว่างกันมากขึ้น ก็จะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการใช้เงินสกุลท้องถิ่นให้กับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก โดยการที่เงินสกุลหนึ่งจะติดตลาดจนสามารถทำหน้าที่เป็น international currency (สกุลเงินสากล) ที่สมบูรณ์ มีองค์ประกอบหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น ความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายเงินทุน ตลาดเงินที่มีความลึกความกว้าง ที่จะทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมอยู่ในระดับต่ำ” นางจันทวรรณกล่าว

    Tags : จีน • หยวน • ดอลลาร์

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้