ซีเอ็มไอเอ็มหรือกองทุนริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคีเกิดขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องระยะสั้น กองทุนนี้มีจุดเริ่มต้นจากเมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 2540 ทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ต้องการผลักดันและส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินให้แน่นแฟ้นขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศต่างๆ ได้ลงนามเห็นชอบและรับหลักการดังกล่าวระหว่างการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2543 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงเริ่มต้นของกองทุนนี้ ความร่วมมือยังเป็นลักษณะจับคู่ทำข้อตกลงกันเอง (ทวิภาคี) จนกระทั่งเมื่อปี 2550 ได้รวมข้อตกลงในแบบทวิภาคีมาเป็นข้อตกลงความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงเดียวกัน (พหุภาคี) และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2553 และที่ประชุมได้เลือกสิงคโปร์เป็นสถานที่จัดตั้งสำนักงานใหญ่ของกองทุนซีเอ็มไอเอ็ม ประเทศภาคีในซีเอ็มไอเอ็มทั้ง 13 ประเทศ มีวงเงินสำรองรวม 1.2 แสนล้านดอลลาร์ ประกอบด้วย เงินสมทบจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 20% หรือ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนกลุ่มประเทศบวกสาม คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สมทบเงินในสัดส่วน 80% หรือ 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซีเอ็มไอเอ็ม เป็นการกันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของแต่ละประเทศภาคีมาสมทบไว้เป็นกองกลาง ประเทศภาคี จึงมีภาระผูกพันเพียงการยืนยันการสมทบเงิน โดยประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือจะโอนเงินตามที่ผูกพันไว้ให้แก่ประเทศผู้ขอรับความช่วยเหลือตามสัดส่วนที่ได้มีการตกลงกันไว้ ล่าสุดเมื่อเดือนส.ค.2556 ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้ร่วมกันจัดทำร่างความตกลง ซีเอ็มไอเอ็ม ฉบับปรับปรุงเสร็จแล้ว โดยจะใช้ร่างความตกลงซีเอ็มไอเอ็มฉบับปรับปรุงนี้ทดแทนความตกลงเดิม โดยมีสาระสำคัญ คือการเพิ่มวงเงิน ให้สูงขึ้นเป็น 2 เท่า หรือเป็น 2.4 แสนล้านดอลลาร์ ในส่วนของไทย จะเพิ่มวงเงินผูกพันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศใน ซีเอ็มไอเอ็ม จากเดิม 4.552 พันล้านดอลลาร์ เป็น 9.104 พันล้านดอลลาร์ โดยเงินสมทบมาจากทุนสำรองระหว่างประเทศในบัญชีของ ธปท. กรณีของไทยหากเกิดปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงินขึ้น สามารถรับความช่วยเหลือได้ 2.5 เท่าของวงเงินสมทบ หรือเท่ากับ 2.276 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มจาก 1.138 หมื่นล้านดอลลาร์ ซีเอ็มไอเอ็ม ฉบับปรับปรุงใหม่ จะมีผลบังคับใช้เมื่อทุกประเทศลงนามแล้ว โดยขณะนี้ยังเหลือประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่ไม่ได้ลงนาม เนื่องจากไทยยังไม่มีรัฐสภาที่จะให้ความเห็นชอบการลงนามผูกพัน ซึ่งในระหว่างนี้ซีเอ็มไอเอ็มฉบับเดิมที่วงเงิน 1.20 แสนล้านดอลลาร์ ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ด้าน ธนาคาร เอชเอสบีซี พบว่า บริษัทที่มีความพร้อมในการทำธุรกิจใช้เงินหยวน จะช่วยให้ผู้ส่งออกในตลาดบางแห่งได้เปรียบกว่าคู่แข่ง ในภาวะการแข่งขันในตลาดโลกมีการขยายการค้ากับจีนมากขึ้น โดยครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจในสิงคโปร์ และ 44% ในสหรัฐกับ 42% ในอังกฤษ เชื่อว่าการใช้เงินหยวนชำระธุรกรรมการค้า ได้ประโยชน์ทางการเงิน นอกจากนี้ กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์บอกว่า การใช้เงินหยวนมีประโยชน์ด้านความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เทียบกับ 46% ของผู้ตอบแบบสำรวจในฝรั่งเศสและ 40% ในออสเตรเลีย ขณะที่จากภาพรวม 59% ของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ร่วมในการสำรวจ บอกว่า มีแผนเพิ่มธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศกับจีนใน 12 เดือนข้างหน้า และมีสัดส่วนสูงขึ้นเมื่อจำแนกรายประเทศ คือ 86% ในอังกฤษ 74% ในแคนาดา 73% ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ 63% ในฝรั่งเศส ขณะเดียวกัน มีบริษัทกลุ่มตัวอย่าง 22% บอกว่าขณะนี้บริษัทใช้เงินหยวนในการทำการค้า ธนาคารเอชเอสบีซี ระบุผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนว่า บริษัทหลายแห่งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เรื่องเงินหยวนมากขึ้น ว่าจะช่วยสร้างโอกาสธุรกิจในตลาดจีน และมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งอย่างไรในตลาดที่มีการแข่งขันสูง ธุรกิจจีนส่วนใหญ่มองหาคู่ค้าต่างชาติที่ใช้เงินหยวนเพื่อชำระเงิน ถึงแม้ว่าการค้าขายด้วยเงินหยวนไม่ได้รับประกันความสำเร็จทางธุรกิจในตลาดจีน แต่เงินหยวนควรจะเป็นปัจจัยสำคัญในการวางแผนธุรกิจของบริษัททุกแห่ง Tags : กองทุน • ซีไอเอ็มบี • สภาพคล่อง