โบรกเกอร์ คาดบจ.ไทยมีแนวโน้มซื้อและควบรวมกิจการเพิ่มขึ้น เพื่อขยายกิจการสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น โบรกเกอร์ คาดบจ.ไทยมีแนวโน้มซื้อและควบรวมกิจการเพิ่มขึ้น เพื่อขยายกิจการสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น พบครึ่งปีแรกมีรายการทำคำเสนอซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์กว่า 8.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เผยในช่วง 1-2 กองทุนต้องการขายหุ้นในกิจการในต่างประเทศจำนวนมาก เป็นโอกาสให้บจ.ไทยออกไปซื้อกิจการ นายตรัยรักษ์ เต็งไตรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวาณิชธนกิจและตลาดทุน บล.ภัทร เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ คาดว่าจะเห็นการซื้อและควบรวมกิจการ หรือเอ็มแอนด์เอ (M&A) ของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายกิจการสร้างการเติบโตและสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุน ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจมีกระแสเงินสดอยู่ในระดับสูง ทำให้มีความพร้อมในการทำธุรกิจ “ภาคธุรกิจไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง มีระดับหนี้สินต่ำ กระแสเงินสดดี จึงพร้อมที่จะขยายกิจการ สร้างการเติบโต และสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งการซื้อและควบรวมกิจการเป็นแนวทางการเติบโตที่เร็วที่สุด ขณะที่สภาพคล่องในไทยก็มีสูง ธนาคารพาณิชย์พร้อมปล่อยเงินกู้ให้” หากเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก การขยายกิจการด้วยเอ็มแอนด์เอ ก็อาจจะทำในประเทศ แต่สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ อาจจะไปลงทุนเองโดยตรงในต่างประเทศ หรือซื้อกิจการในต่างประเทศ โดยในปัจจุบันโอกาสการซื้อและควบรวมกิจการในต่างประเทศมีจำนวนมาก เพราะบรรดากองทุนที่เข้าไปลงทุนซื้อหุ้นกิจการต่างๆ ไว้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ มีความต้องการที่จะขายหุ้นออกเพื่อทำกำไร “ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรป กิจการหลายแห่งมีปัญหา บรรดากองทุนต่างๆ จึงเข้าไปลงทุนไว้ โดยมีเงื่อนไข หรือระยะเวลาการลงทุนที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ก็ใกล้ระยะเวลาที่จะถอนการลงทุน จึงต้องการที่ถอนการลงทุนออกมา ทำให้ในช่วง 1-2 ปีจากนี้ จึงมีความต้องการขายหุ้น หรือเงินลงทุนในกิจการต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนได้ นอกจากจะมีความพร้อมทางด้านเงินทุนแล้ว ยังต้องมีความสามารถในการบริหารกิจการในต่างประเทศด้วย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีประสบการณ์การลงทุนในต่างประเทศ” รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มียอดทำคำเสนอซื้อกิจการทั้งหมด 7 บริษัท คิดเป็นมูลค่าหุ้นที่ถูกเสนอซื้อรวม 8.86 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.57 พันล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 21.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มีมูลค่าที่เกิดรายการซื้อขายจริงทั้งหมด 3.94 พันล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่แทบจะไม่มีรายการซื้อขายจริงเกิดขึ้น บริษัทที่ถูกทำคำเสนอซื้อกิจการและได้รายงานการซื้อขายมายัง ก.ล.ต. ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ประกอบด้วย 1.บริษัท อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ (EIC) ถูกคำทำเสนอซื้อโดย บริษัท ไทย ไพร์ม จำกัด และนายบี เตชะอุบล ในระหว่างวันที่ 19 ธ.ค. 2556- 27 ม.ค. 2557 2. บริษัท ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย จำกัด (SCSMG ) ถูกเสนอซื้อโดย บริษัท เอกทรัพย์ศิริ ในช่วงระหว่างวันที่ 14 พ.ค.-17 มิ.ย.ที่ผ่านมา 3. บริษัทไทยเคนเปเปอร์ (TCP) ถูกเสนอซื้อโดย บริษัท เอสซีจี เปปอร์ บริษัทลูกของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือ เอสซีจี มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิกถอนบริษัท ไทยเคนเปเปอร์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ 4. บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น (PICNI) โดยบริษัท เวิลด์แก๊ส ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหม่ที่เข้ามาลงทุนในปิคนิค ตามแผนการฟื้นฟูกิจการ 5. บริษัท ทีทีแอล อุตสาหกรรม (TTL) ถูกทำคำเสนอซื้อโดยกลุ่มนักลงทุน ประกอบด้วย นายปองพล อดิเรกสาร นายโชคดี บุญ-หลง นายสัญญา บุญ-หลง นายทองเปา บุญ-หลง นายนที พานิชชีวะ นายกีรติ พานิชชีวะ นายธเนศ พานิชชีวะ บริษัท พรสรร บริษัท ไทยทีซี ไทยศรีประกันภัย บริษัท ศรีพี่น้อง บริษัท ศรีคีรีเอนเตอร์ไพร์ส บริษัท บุญทรง และบริษัท ชัยคีรีโฮลดิ้ง 6.บล.โนมูระ พัฒนสิน (CNS) ถูกทำคำเสนอซื้อโดย โนมูระ กรุ๊ป ( Nomura Group) เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น บล.โนมูระ พัฒนสิน เพราะเห็นศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางในการขยายธุรกิจออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ที่เศรษฐกิจเติบโตในระดับสูง นอกจากนี้ยังสามารถนำผลิตภัณฑ์ บริการ และเครือข่ายการให้บริการทางการเงินที่มีอยู่ให้กับนักลงทุนไทยได้มากขึ้น และ 7.บริษัท ซันวู้ดอินดัสทรีส์ (SUN) ถูกเสนอซื้อโดย บริษัท บิ๊ก คาเมร่า นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่อยู่ระหว่างการทำคำเสนอซื้ออีกหลายบริษัท ประกอบด้วย บริษัท บิ๊ก คาเมร่า คอร์ปอเรชั่น (BIG) ถูกเสนอซื้อโดยนายชาญ เธียรกาญจนวงศ์และเครือญาติ บริษัท แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น (MAX) ถูกเสนอซื้อโดยนายขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ และบริษัท ไทย พร็อพเพอร์ตี้ (TPROP) ถูกเสนอซื้อโดย บริษัท พร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟค (PF) Tags : บจ. • เทคโอเวอร์ • บริษัท • ต่างประเทศ • ตรัยรักษ์ เต็งไตรรัตน์