ข้าวไร้มาตรฐาน7ล้านตัน นักวิชาการชี้จำนำทำเสียหาย 5.5 แสนล้าน แนะคัดแยกคุณภาพประกาศให้ชัด “นักวิชาการ-เอกชน”ประเมินข้าวในโกดังรัฐทั่วประเทศด้อยมาตรฐานกว่า 7 ล้านตัน จากสต็อก 17.9 ล้านตัน หรือกว่า 40% มูลค่าความเสียหายกว่า 1.1 แสนล้านบาท เตรียมรับสภาพขาดทุนเพิ่มจากระบายสต็อก 11 ล้านตันอีก 1.21 แสนล้านบาท ชี้กระบวนการ"เวียนเทียน-เปาเกา"ทำข้าวหายไม่น้อยกว่า 3-5 ล้านตัน โครงการจำนำเสียหายไม่ต่ำกว่า 5.5 แสนล้านบาท กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานปริมาณข้าวที่มีอยู่ในสต็อกของรัฐบาลให้กับคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ที่มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่ามีปริมาณข้าวคงเหลือในสต็อกทั่วประเทศประมาณ 17.9 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ ผู้ตรวจราชการ และฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือในสต็อกทั่วประเทศ ก่อนสรุปรายงานส่งให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า จากการประเมินในเบื้องต้น คาดว่าจากปริมาณข้าวในสต็อกที่กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่ามีปริมาณคงเหลือ 17.9 ล้านตัน คาดว่าจะเป็นข้าวที่เสื่อมสภาพถึงประมาณ 40% ของปริมาณข้าวที่เก็บในสต็อกทั้งหมด คิดเป็นปริมาณกว่า 7 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่จากข้าวในสต็อกของรัฐบาลเสื่อมคุณภาพเป็นเม็ดเงินกว่า 1.1 แสนล้านบาท “ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับข้าวในสต็อกของรัฐบาลเป็นความผิดพลาดและความไม่ฉลาดของคนทำนโยบายจำนำข้าว เพราะการเก็บข้าวไว้เป็นเวลานา นโดยสีแปรสภาพเป็นข้าวสารแล้วนำมาเก็บไว้ในสต็อก นั้นจะดูแลรักษายากและข้าวจะเสื่อมคุณภาพเร็ว กว่าการเก็บไว้ในรูปแบบข้าวเปลือกทำให้เกิดความเสียหายมากเมื่อเวลาผ่านไป” นายสมพรกล่าว เอกชนเชื่อข้าวด้อยมาตรฐาน7ล้านตัน การประเมินของนายสมพร สอดคล้องกับความเห็นของ นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่คาดการณ์ว่า ข้าวในสต็อกของรัฐจะไม่ตรงกับสเปคหรือด้อยมาตรฐานอย่างน้อย 40 % หรือประมาณ 6-7 ล้านตัน จากสต็อกประมาณ 18 ล้านตัน ส่งผลให้มูลค่าการขายลดน้อยลงกว่าที่รัฐควรจะได้ ซึ่งจะนำไปสู่ผลของการขาดทุนเพิ่มมากขึ้น เขาบอกว่าข้าวในสต็อกของรัฐมีทั้งหายไปและเสื่อมคุณภาพลงอย่าวรวดเร็ว โดยข้าวหายเกิดจากการประเมินผลผลิตสูงเกินไป โดยพื้นที่เพาะปลูกแค่ 60 ล้านไร่แต่ผลผลิตที่ออกมาแจ้งเข้าโครงการรัฐ 38-39 ล้านตันจากศักยภาพผลผลิตมองกันมาตั้งแต่ต้นว่าสูงเกินไป มีการดำเนินการเช่นนี้อาจจทำเพื่อนำข้าวจากต่างประเทศมาสวมสิทธิ์ "พอข้าวด้อยคุณภาพอยู่แล้วมาสวมสิทธิ์และเก็บไว้เช่นนั้นก็จะทำให้เสื่อมเร็ว เพราะมีกระบวนการไม่ปกติ โรงสี เจ้าหน้าที่คลัง เซอร์เวเยอร์ ร่วมกับข้าราชการ นักการเมือง โดยมีการนำข้าวใหม่ในโครงการไปขายในตลาดก่อนแล้วซื้อมาคืนภายหลัง หรืออาจไม่ซื้อคืนเลย แต่มีนักการเมืองและเครือข่ายวิ่งมาบอกในช่วงการสีแปร จะตัดบัญชีให้ มีคนรับจัดการเรื่องส่งมอบ ตัดบัญชีเสร็จสรรพ ก็เท่ากับข้าวอยู่ในโกดังเหมือนเดิม อันนี้ในวงการเรียกกันว่าเปาเกา ช่วงหลังกระโดดไปทำกันเยอะ ไม่ได้พลิกกอง ปรับปรุงคุณภาพกันเลย ตรงนี้ก็คิดเงินกันเป็นทอดๆเป็นกระสอบๆไปจนถึงขั้นตอนการขายทำให้ความเสียหายมาก "นายชูเกียรติ กล่าว แยกคุณภาพข้าวก่อนระบายออก นายสมพรกล่าวต่อว่า หลังตรวจส็อกข้าวแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องมีการแยกแยะคุณภาพของข้าวในสต็อก โดยต้องแยกข้าวดีออกจากข้าวเสื่อมคุณภาพ ทั้งนี้ข้าวดีคือข้าวที่มาตรฐานพอที่จะส่งออกได้ ซึ่งหากข้าวในสต็อกมีประมาณ 18 ล้านตันก็จะเหลือข้าวในส่วนนี้ประมาณ 60% หรือประมาณ 11 ล้านตัน ซึ่งข้าวในส่วนนี้จะส่งออกได้ในราคาประมาณ 12,000 บาทต่อตัน และคาดว่าจะได้เงินจากการระบายข้าวในส่วนนี้ประมาณ 1.32 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามการระบายข้าวในจำนวนดังกล่าวจะขาดทุนจากการรับจำนำในราคาแพงบวกต้นทุนอื่นๆ ขอการรับจำนำข้าวที่รวมกว่าตันละ 23,000 บาท มาทำให้การระบายข้าวในราคา 12,000 บาทต่อตันจะขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 11,000 บาทต่อตัน ดังนั้นเมื่อระบายข้าวได้ครบ 11 ล้านตันก็จะขาดทุนประมาณ 1.21 แสนล้านบาท ส่วนที่ส่งออกไปแล้วกว่า 18 ล้านตันก่อนหน้านี้ก็จะขาดทุนประมาณ 2.1 แสนล้านบาท ประเมินจำนำเสียหาย 5.5 แสนล้าน นายสมพร ระบุว่า รวมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสต็อกข้าวของรัฐบาล จากการระบายข้าวในราคาขาดทุนและข้าวเสื่อมคุณภาพเป็นเม็ดเงินประมาณ 4.4 แสนล้านบาทซึ่งหากรวมกับต้นทุนในการบริหารจัดการและดอกเบี้ยที่ชดเชยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ก็จะรวมเป็นค่าใช้จ่ายและผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวกว่า 5.5 แสนล้านบาท จากเงินที่จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวใน 5 ฤดูกาลผลิตข้าวที่ผ่านมากว่า 8.8 แสนล้านบาท สำหรับแนวทางการจัดการกับข้าวที่เสื่อมสภาพที่คาดว่าจะมีอยู่ 7 ล้านตันก็จะแยกออกเป็น 3 ประเภทคือ 1.ข้าวที่ยังขัดสีแปรสภาพเพื่อนำไปขายได้ ก็จะได้ราคาประมาณ 7 - 8 บาทต่อกิโลกรัมหรือ 7 - 8 พันบาทต่อตัน 2.ข้าวที่มีมอดขึ้น เอาไปขายเป็นอาหารสัตว์ซึ่งจะได้ราคา 3 -4 บาทต่อกิโลกรัมหรือ 3 - 4 พันบาทต่อตัน และ 3.ข้าวที่ไม่เหลือสภาพข้าวเลยคือเป็นฝุ่นผง ในส่วนนี้คงไม่สามารถทำอะไรได้ต้องตัดทิ้งอย่างเดียวไม่สามารถนำไปขายให้ได้เงินกลับมาได้ เชื่อแยกสต็อกส่งผลดีระบาย ขณะที่นายชูเกียรติ กล่าวว่า รัฐจะต้องแยกคุณภาพออกมาแล้วขัด สี ปรับปรุงสภาพใหม่ ถ้าเสียหายป่นเป็นแป้ง ก็ต้องทำเป็นอาหารสัตว์ หรือถ้าใช้การไม่ได้จริงๆก็จำเป็นต้องตัดบัญชี แล้วประกาศออกมาให้ชัดเจน ผู้ซื้อก็จะได้รับทราบว่าที่เหลือส่งออกเป็นข้าวได้คุณภาพมาตรฐานจริงๆ เหลือปริมาณเท่าใด มีความมั่นใจในการทำการค้ากับไทยมากขึ้น แต่ทั้งหมดแล้วอาจจะต้องใช้เวลาในการระบายข้าวพอสมควร "ต้องคัดแยกออกมาแล้วทะยอยระบายออกไป เรื่อยๆ ดึงตลาดที่เสียไปให้กับเวียดนามกลับคืนมา ซึ่งเอกชนก็พยายามอยู่ในขณะนี้ ที่ผ่านมาโครงการจำนำทำให้เสียลูกค้าไปมาก แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้นในตลาดข้าว ปีนี้ส่งออกขึ้นมาแน่ แต่ต้องรักษาระดับราคา ผู้ส่งออกก็ไม่อยากขายราคาต่ำ แต่ไม่สูงเกินจนแข่งขันไม่ได้ เอาพอดีๆ ขายต่ำมากก็มีปัญหาราคาภายในกับชาวนา เราก็ไม่อยากทำ ต้องการให้อยู่ได้กันทุกภาคส่วน" "สมพร"จี้คสช.แจงข้อกังขาข้าวหาย นายสมพร กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ควรจะมีการตั้งคำถามต่อไปก็คือก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ระบว่ามีการระบายข้าวออกไปได้ 18 ล้านตัน จากปริมาณข้าวที่เคยมีอยู่ประมาณ 36 ล้านตันข้าวสารจริงหรือไม่ เนื่องจากตัวเลขที่มีการแจ้งว่ามีการขายข้าวได้เป็นเม็ดเงินทั้งสิ้น 1.89 แสนล้านบาทน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งหากมีการขายข้าวออกไป 18 ล้านตัน จริงควรที่จะได้เงินมากกว่า 1.89 - 1.9 แสนล้านบาท แต่การได้เงินมาในจำนวนเท่านี้ น่าจะเป็นเพราะสามารถระบายข้าวออกไปได้เพียง 15 - 16 ล้านตันเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณข้าวที่คาดว่าหายไปจากสต็อกของรัฐบาลประมาณ 3 ล้านตันหรือมากกว่านั้น “สมมุตว่าเราขายข้าวออกไปกิโลกรัมละ 13 บาท หรือตันละ 13,000 บาท ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยที่ต่ำแล้วเมื่อเทียบกับราคารับจำนำ รัฐก็ต้องได้เงินกลับมากไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท แต่เงินที่ได้มาเกือบ 1.9 แสนล้านบาท จากการระบายข้าวกว่า 18 ล้านตัน ก็แสดงว่าข้าวส่วนหนึ่งจะต้องเวียนเทียนหายไป เหมือนกับคาดการณ์ข้าวหายประมาณ 3 - 5 ล้านตันซึ่งใกล้เคียงกับตอนที่คุณสุภา (สุภา ปิยะจิตติ) ปิดบัญชีว่ามีข้าวหายไปกว่า 2.9 ล้านตัน ซึ่งอยากให้ คสช.ให้ความชัดเจน ในหลังจากมีการตรวจสต็อกข้าวในครั้งนี้ เพราะเป็นข้อมูลที่สังคมจะต้องรับรู้” นายสมพรกล่าว ชี้สต็อกกดราคาข้าวไทยอีก 2 ปี เขากล่าวด้วยว่า ข้าวที่อยู่ในสต็อกของรัฐบาลปริมาณมาก ซึ่งคาดว่าจะมีข้าวในสต็อกที่สามารถส่งออกได้ประมาณ 11 ล้านตัน จะมีผลไปกดราคาส่งออกข้าวของไทยอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปี เพราะจะมีข้าวฤดูกาลผลิตใหม่ที่จะออกสู่ตลาดอีก โดยข้าวในฤดูนาปรังที่ผ่านมามีผลผลิตออกมาประมาณ 10 ล้านตัน หรือเป็นข้าวสารประมาณ 6 ล้านตัน ขณะที่ข้าวนาปีที่จะมาในฤดูกาลผลิต 57/58 จะคิดเป็นผลผลิตข้าวสารกว่า 16 ล้านตัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันตลาด เพราะการเร่งระบายข้าวอาจทำให้ราคาข้าวตกลงไปอีก ขณะที่หากรัฐไม่เร่งระบายข้าวโดยเกินไปหรือมีการระบายข้าวในช่วงเวลาที่เหมาะสมราคาข้าวเปลือกจะสามารถขยับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 8,500 - 9,000 บาทต่อตันได้ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ปัจจุบันราคาข้าวยังต่ำกว่า 7,000 บาทต่อตัน ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์จะต้องวางแผนที่ระบายข้าวในช่วงนี้อย่างเป็นระบบ เนื่องจากขณะนี้ข้าวในปีการผลิตใหม่ยังไม่ออกสู่ตลาด โดยจะมีเวลาถึงเดือน ต.ค. เพราะในเดือน พ.ย.เมื่อมีการเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวนาปีราคาข้าวก็จะลดต่ำลงโดยธรรมชาติ หากมียุทธศาสตร์ที่ดีควรใช้กลไกตลาดในการระบายในราคาที่เหมาะสมโดยไม่ใช้วิธีการประมูลเนื่องจากขั้นตอนนาน และให้ภาคเอกชนช่วยในการรับซื้อและระบายข้าวอาจสามารถบริหารจัดการด้วยวิธีนี้ได้ประมาณ 3 - 4 ล้านตัน หลังจากนั้นค่อยวางแผนในระยะต่อไป Tags : นักวิชาการ • เอกชน • ด้อยมาตรฐาน • กระทรวงพาณิชย์ • จำนำข้าว • แสนล้าน • สมพร อิศวิลานนท์ • ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล • คสช.