แบงก์ชาติ เร่งเอกชนไทยพัฒนาศักยภาพการผลิต หนุนส่งออก นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า หากภาคเอกชนไทยมีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิต รวมทั้งการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการโลก เชื่อว่าจะหนุนให้การส่งออกของไทยระยะต่อไปมีทิศทางที่ดีขึ้นชัดเจนและรวดเร็ว ซึ่งในช่วงน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ผู้ประกอบการมีการปรับตัวหันมาลงทุนใช้เครื่องจักรผลิตมากขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานให้น้อยลง เนื่องจากแรงงานเริ่มหายากและมีราคาแพงขึ้น ทำให้สัดส่วนการใช้เครื่องจักต่อแรงงานมีมากขึ้น แต่ในช่วงสถานการณ์การเมืองมีความไม่แน่นอน ทำให้ผู้ประกอบการหยุดชะงักไปบ้าง หากพัฒนาการนี้กลับมาได้ ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้การส่งออกดีขึ้น ซึ่งคิดว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็น่าจะยังปรับตัวในแนวทางนี้ได้อยู่ สำหรับการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตนั้น ไม่จำเป็นต้องรอให้การใช้กำลังการผลิตเกือบเต็มกำลังก่อน โดยที่ผ่านมาหลายคนมักคิดว่า ช่วงนี้กำลังการผลิตของไทยยังไม่สูงนัก ทำให้ผู้ประกอบการขาดแรงจูงใจที่จะลงทุนใหม่ ทั้งนี้ แบงก์ชาติเห็นว่าผู้ประกอบการจำเป็นต้องมองไปข้างหน้า เพราะความต้องการตลาดโลกเริ่มเปลี่ยนไป ดังนั้นหากเครื่องจักรเก่า เทคโนโลยีเก่า ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนเแปลงหรือปรับปรุง เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สามารถผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการโลก สำหรับภาครัฐเองสามารถสนับสนุนการลงทุนเอกชน โดยหามาตรการจูงใจ เพราะถ้าภาครัฐมีความชัดเจนในเรื่องนโยบายลงทุน ตลอดจนการทำให้เอกชนเห็นถึงแผนการลงทุนของภาครัฐ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ดูแล้วเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ก็จะทำให้เอกชนตัดสินใจลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพของตัวเองได้ด้วย ขณะที่ข้อมูล แบงก์ชาติ ระบุว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทย สูญเสียความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เนื่องจากไม่สามารถยกระดับการผลิตให้ก้าวทันต่อรสนิยมการบริโภค และการพัฒนาด้านเทคโนโลยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ไทยมีการลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีน้อยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทำให้ขีดแข่งขันเราน้อยกว่า Tags : ธปท. • แบงก์ชาติ • เอกชน • ส่งออก