ค่าเงินบาทแข็งค่าในรอบเกือบ 4 เดือน มากสุดในเอเชีย จากทุนไหลเข้าตลาดหุ้น นักลงทุนต่างชาติกลับมาเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ถอนเงินออกจากตลาดเงิน-ทุนของไทยต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นจากมียอดสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนก.ค. และค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์การเมืองในไทยคลี่คลาย แม้ยังไม่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้เสนอกรอบเวลาที่ชัดเจนเพื่อนำประเทศไปสู่การเลือกตั้ง และความกังวลธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนด ซึ่งการประชุมครั้งล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเฟดจะยุติคิวอีในเดือนต.ค.นี้และขึ้นดอกเบี้ยกลางปีหน้า เป็นไปตามตลาดคาดการณ์ก่อนหน้านั้น ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ วานนี้ (10 ก.ค.) เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 32.16-32.18 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงเช้าไปแตะที่ระดับ 32.11 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่าในรอบเกือบ 4 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2557 นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่าค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดของเอเชียในปีนี้ โดยมีแรงซื้อของกองทุนเฮดจ์ อีกทั้งเป็นไปตามทิศทางเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทยและราคาพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวขึ้นเช่นกัน "ค่าบาทอาจจะแข็งค่าขึ้นอีกจากการคาดการณ์ว่าจะมีเงินทุนไหลเข้าประเทศมากขึ้น ขณะที่มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง" เทรดเดอร์รายหนึ่งกล่าวว่าค่าบาท/ดอลลาร์อาจจะแข็งค่าแตะระดับ 31.80 ถ้าหากแข็งค่าทะลุระดับ 32.10 ได้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดตลาดบวก 10.09 จุด มาอยู่ที่ 1,518.01 โดยมีมูลค่าการซื้อขายปานกลาง 45,273.80 ล้านบาท ดัชนีหลักทรัพย์ปรับขึ้นตามแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติ ที่ไล่ซื้อหุ้นต่อเนื่อง โดยในสัปดาห์นี้(7-10 ก.ค.) มียอดซื้อสุทธิถึง 10,511.22ล้านบาท แต่เมื่อรวมทั้งปี ยังมียอดขายสุทธิ 30,511.40 ล้านบาท นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยที่ปรับขึ้นมาจากแรงซื้อเก็งกำไรเป็นหลัก โดยนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น อีกทั้งประเมินว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว เอชเอสบีซีเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นไทย ธนาคารเอชเอสบีซี(HSBC) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของอังกฤษ ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุน(Overweight) จากเดิมที่ลดน้ำหนักการลงทุน(Underweight)ในตลาดหุ้นไทย หลังมองความเสี่ยงการเมืองในประเทศ เริ่มคลี่คลาย "การปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้นไทย เนื่องจากเห็นว่าหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวขึ้นในระยะสั้น และมองว่าปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองลดน้อยลง" ฝ่ายวิจัย เอชเอสบีซี ระบุ เอชเอสบีซี ระบุด้วยว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ปรับลดคาดการณ์กำไรของบริษัท จดทะเบียน(บจ.) เป็นการมองในแง่ลบเกินไป โดยคาดการเติบโตของกำไรบจ.ล่าสุดอยู่ที่ 10.6% ทั้งนี้ เอชเอสบีซี เชื่อว่าการเติบโตของกำไร บจ.จะออกมาดีกว่าคาดไว้ ธปท.ชี้นักลงทุนรอดูรัฐบาลใหม่ ด้าน นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธปท. กล่าวว่า ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยภาพรวมเงินบาทไทยถือว่าเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามากระทบ ขณะที่นักลงทุนเองรอดูความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ช่วง 1-2 วันมานี้ เงินบาทได้ปรับแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมาก โดยมาเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 32.20 บาทต่อดอลลาร์ จากก่อนหน้าที่อยู่ระดับ32.40 บาทต่อดอลลาร์ สาเหตุการแข็งค่าส่วนหนึ่งเกิดจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลง ประกอบกับข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย สาเหตุการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ เป็นผลจากรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่ระบุในรายงานว่า เฟดจะยังไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียนั้น หลังจากที่เอ็กซิทโพลของอินโดนีเซียระบุว่า นายโจโค วิโดโด มีคะแนนนำในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ก็ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น เนื่องจากนายโจโค มีภาพลักษณ์ที่ดีในเรื่องธรรมาภิบาล นักลงทุนจึงมองว่าการเมืองของอินโดนีเซียน่าจะดีขึ้น จึงมีเงินไหลเข้าลงทุนในอินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศอื่นในภูมิภาคด้วย ส่งผลให้ค่าเงินทั้งภูมิภาคแข็งค่าขึ้น นำโดยค่าเงินรูเปี๊ยะห์ "ช่วงนี้โดยรวมแล้วนักลงทุนเองมีความมั่นใจมากขึ้น จึงมีเงินไหลเข้ามาในประเทศทั้งตลาดบอนด์(ตราสารหนี้) และตลาดหุ้นไทย แต่บางช่วงอาจจะมีการเทขายออกไปบ้าง ซึ่งการเทขายไม่ได้ขายเพราะไม่มั่นใจในประเทศไทย แต่เป็นการขายเพื่อทำกำไรเป็นครั้งคราว" นางรุ่งกล่าว เฟดเล็งยุติคิวอีต.ค.นี้-ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย เฟดมีแผนยุติคิวอีเดือนต.ค.นี้ ปิดฉากการกระตุ้นเศรษฐกิจนาน 5 ปี แต่ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปอีกระยะหนึ่ง รายละเอียดจากการประชุมเมื่อวันที่ 17-18 มิ.ย. ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายประจำธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่าเฟดมีแผนจะยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ในเดือนต.ค. อันเป็นการปิดฉากการกระตุ้นเศรษฐกิจนาน 5 ปี โดยเฟดระบุว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากไตรมาสแรกที่อ่อนแอผลจากสภาพอากาศหนาวจัด และหากเศรษฐกิจเติบโตไปได้ตามที่คาดการณ์ไว้ การลดคิวอีครั้งสุดท้ายจะมีขึ้นหลังจากการประชุมเดือนต.ค. แม้ก่อนหน้านี้เฟดแสดงท่าทีว่าจะยุติการเข้าซื้อพันธบัตรภายในสิ้นปีนี้ แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการระบุเดือนลงไปอย่างชัดเจน อันสอดคล้องกับการคาดหมายของผู้สังเกตการณ์ที่ประเมินก่อนหน้านี้ว่าเฟดจะยุติคิวอีในเดือนต.ค. เฟดเริ่มลดการเข้าซื้อพันธบัตรลงครั้งละ 10,000 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่ต้นปีนี้ ทำให้ปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตรลดลงเหลือ 35,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนมิ.ย. จาก 85,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว เฟดจะประชุมกันอีกครั้งปลายเดือนก.ค. และเดือนก.ย. ซึ่งคาดว่าจะมีการลดคิวอีลงครั้งละ 10,000 ล้านดอลลาร์ จากนั้นก็น่าจะมีการยุติคิวอีส่วนที่เหลือ 15,000 ล้านดอลลาร์ในการประชุมเดือนต.ค. โดยการทำคิวอี 3 รอบของเฟดเพื่อดึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ลดลง ทำให้งบดุลของเฟดพุ่งเป็น 4.3 ล้านล้านดอลลาร์ ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนั้น รายงานจากการประชุมระบุว่าเฟดคาดว่าจะไม่มีการปรับขึ้นไปอีกระยะหนึ่งหลังจากยุติการทำคิวอีแล้ว โดยเฉพาะหากเงินเฟ้อยังต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาวที่ 2% รายละเอียดจากการประชุมของเฟดตอกย้ำการคาดหมายว่าเฟดจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงกลางปีหน้า จากระดับปัจจุบันที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ที่ 0-0.25% มาตั้งแต่ปลายปี 2551 Tags : ค่าเงินบาท • ธปท. • แข็งค่า