(รายงาน) ภาคประชาชนชี้ปฏิรูปพลังงาน ยึดหลัก'ประชาชน-รัฐ'ได้ประโยชน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการ"ปฏิรูปพลังงาน :โอกาสและความท้าทายหลังรัฐประหาร" โดยวานนี้ (9 ก.ค.) เป็นวันแรก เปิดโอกาสให้ตัวแทนจากกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย ทั้งนางสาวรสนา โตสิตระกูล และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ร่วมการเสวนา ในขณะที่วันที่ 10 ก.ค. จะมีนายมนูญ ศิริวรรณ และนายบรรยง พงษ์พานิช จากกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ร่วมเสวนา เพื่อให้เกิดความคิดเห็นทั้งสองด้าน โดยวานนี้ มีประเด็นดังนี้ นางสาวรสนา โตสิตระกูล ตัวแทนกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย เปิดเผยว่า การรัฐประหารเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำในสิ่งที่ถูกต้องในการปฏิรูปพลังงานให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยเรื่องของพลังงานถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้น คสช.จึงไม่ควรเร่งรีบแต่ควรจะใช้เวทีของสภาปฏิรูปเป็นกลไกในการดำเนินการอย่างรอบคอบ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน ภาคประชาชนเรียกร้องที่จะให้เกิดการปฏิรูปพลังงานทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง คือการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่ควรจะให้ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นของรัฐและประชาชน ไม่ใช่ของเอกชนผ่านระบบสัมปทานเหมือนที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยในส่วนของสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุลงในปี2565 และ 2566 ทั้งของบริษัท ปตท.สผ.และของเชฟรอน ที่ทรัพย์สินทั้งหมดที่เอกชนลงทุนจะต้องตกเป็นของรัฐ และพบว่ายังมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมเหลืออยู่จำนวนมากนั้น รัฐควรที่จะเลือกวิธีการจ้างผลิต หรือ (service contract) ที่เอกชนจะได้รับเฉพาะค่าจ้าง ส่วนปิโตรเลียมที่ผลิตได้ทั้งหมด จะเป็นของรัฐ ซึ่งจะสอดรับกับระบบท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล ที่ควรจะต้องเรียกคืนจากปตท.ให้กลับมาเป็นของรัฐทั้ง 100% โดยแนวทางดังกล่าวจะทำให้รัฐมีรายได้จากทรัพยากรมากขึ้น กว่าระบบที่เป็นอยู่ ในขณะที่การเตรียมการของรัฐที่จะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 นั้นเห็นว่า รัฐไม่ควรที่จะใช้ระบบสัมปทานแล้ว แต่ควรจะเปลี่ยนมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract) เหมือนที่มาเลเซียและอีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ใช้อยู่ เพราะระบบดังกล่าวจะทำให้รัฐยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียม ไม่ใช่ระบบสัมปทานที่ปิโตรเลียมเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนผู้รับสัมปทาน " ภาคประชาชนมองว่าทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นของคนไทยทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นการที่จะกำหนดเป็นนโยบายออกมาที่จะมีผลกระทบกับประชาชน ต้องทำอย่างรอบคอบ ไม่ควรเร่งรีบ โดยเห็นว่าเวทีของสภาปฏิรูป น่าจะมีความเหมาะสมที่จะมีการดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อให้รัฐและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่เป็นของกลุ่มทุนพลังงาน"นส.รสนา กล่าว สำหรับเรื่องของการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ที่ทางคสช.กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้นั้น ทางเครือข่ายภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นราคาดีเซล เนื่องจากเกี่ยวข้องกับภาคการผลิตและภาคการขนส่ง โดยปัจจุบันมีรถยนต์ที่ใช้ดีเซลอยู่ประมาณ 8.5 ล้านคัน ใช้ดีเซลอยู่วันละ 60 ล้านลิตร ซึ่งมีกลุ่มรถคนรวยประมาณ 1.5 ล้านคัน ที่มาใช้น้ำมันดีเซล ดังนั้นหากรัฐเห็นว่าคนกลุ่มนี้ไม่ควรจะใช้น้ำมันดีเซลในราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ก็ควรจะมีการจัดเก็บภาษีไปที่รถยนต์ประเภทนั้นๆ เพิ่มขึ้น ส่วนกรณีของน้ำมันเบนซินนั้น หากรัฐจะปรับลดราคาลงมาลิตรละ 10 บาทก็จะไม่มีผลอะไรเพราะมีคนใช้เพียงประมาณ 3 ล้านลิตรต่อวันเท่านั้น ทั้งนี้ภาคประชาชน มองว่าในส่วนของดีเซล ราคาน้ำมันสามารถที่จะปรับลดราคาลงได้อีกโดยการลดการอุดหนุนน้ำมันอี85 และน้ำมันอี20ที่รัฐใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปอุดหนุนราคาปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งการส่งเสริมน้ำมันอี85ถึงลิตรละ 11.60 บาท และราคาเอทานอลสูงถึงลิตรละ 27 บาทแพงกว่าเนื้อน้ำมันเบนซิน และแพงกว่าราคาเอทานอลในตลาดโลก ที่ราคาอยู่ที่ลิตรละ 15 บาทนั้น เป็นการช่วยเหลือโรงงานน้ำตาลมากกว่าเกษตรกร นอกจากนี้หากรัฐมีการเปลี่ยนการอิงราคาสิงคโปร์ที่เป็นราคานำเข้าที่มีการบวกค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงเข้าไปด้วย(import parity) จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้ประมาณ 70 สตางค์ต่อลิตร และการยกเลิกมาตรฐานยูโร4 ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อกีดกันการนำน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาแข่งขัน อีก 79 สตางค์ต่อลิตร ก็จะทำให้ราคาเนื้อน้ำมันลดลง และรัฐอาจจะสามารถขยับภาษีสรรพสามิตดีเซลขึ้นได้อีก โดยที่ราคาน้ำมันดีเซลไม่ได้สูงเกิน 30 บาทต่อลิตร ด้านม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ตัวแทนกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย กล่าวว่า ไม่เคยพูดว่าไทยมีน้ำมันมากเหมือนประเทศซาอุดีอาระเบีย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีก๊าซธรรมชาติมากกว่าน้ำมัน และไทยไม่ได้ส่งออกน้ำมันครึ่งต่อครึ่งกับที่ใช้อยู่ การกล่าวหาว่ามีการพูดเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องการลดความน่าเชื่อถือของตัวเอง ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ภาคประชาชนไม่ได้ต้องการยึดคืนปตท. เพราะรัฐถือหุ้นอยู่ 51%อยู่แล้ว และไม่ได้ต้องการใช้พลังงานราคาถูกอย่างไม่มีเหตุผล แต่ต้องการความโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งเชื่อว่ายังมีไขมันส่วนเกินในระบบพลังงานของประเทศที่สามารถจะรีดออกไปได้อีก "แนวทางของภาคประชาชนเรียกว่าทุนนิยมก้าวหน้า ที่เป็นทุนนิยมที่มีธรรมภิบาล มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่ใช่ทุนนิยมแบบเล่นพวกพ้องหรือทุนนิยมสามานย์ ดังนั้นสิ่งที่ภาคประชาชนเรียกร้องเรื่องของการปฏิรูปพลังงาน ไม่ใช่เรียกร้องประชานิยม แต่ต้องการให้ราคาพลังงานเป็นธรรมกับผู้บริโภค สามารถที่จะชี้แจงที่มาที่ไปของต้นทุนได้ ซึ่งหากจะรัฐจะกำหนดราคาที่อิงราคาตลาดโลก กำไรส่วนต่างที่เกิดขึ้นควรจะต้องกลับมาเป็นของรัฐ เพื่อที่จะนำมาใช้พัฒนาระบบการศึกษา และระบบสาธารณสุข ไม่ใช่เป็นของกลุ่มทุนพลังงาน เหมือนที่เห็นอยู่ในขณะนี้ " ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว ขณะที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาในปัจจุบันคือความเป็นธรรมกับประชาชน ทั้งนี้ราคาพลังงานแพงไม่ใช่ปัญหาแต่ต้องมีความโปร่งใส หากจะให้ราคาพลังงานในประเทศมีราคาแพงควรจะใช้พลังงานจากการนำเข้า โดยไม่ต้องขุดทรัพยากรด้านพลังงานในประเทศมาใช้ แต่ปัจจุบันพบว่าพลังงานไทยใช้ระบบสัมปทาน เมื่อได้เนื้อพลังงานจะส่งไปต่างประเทศเพื่อเข้ากระบวนการ จากนั้นจึงนำเข้ามาขายให้กับคนไทยโดยอิงกับกลไกตลาดโลก ซึ่งถือว่าไม่มีความเป็นธรรม ดังนั้นคนที่จะเข้ามาแก้ปัญหาไม่ว่าระดับใด ขอให้ถอดหมวกทุกใบออกเพื่อเป็นประชาชน เพื่อให้ได้วิธีแก้ปัญหาเพื่อประชาชน ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่ารัฐและประชาชนถึงเวลาที่เปลี่ยนแปลงระบบที่ไม่เป็นธรรมแล้วหรือไม่ โดยระบบบริหารของไทยนั้น ได้ให้กระทรวงทรัพยากรเป็นผู้จัดการทรัพยากรด้านพลังงานด้วยระบบสัมปทาน ทำให้บริษัทเอกชนเข้าไปบริหารเพื่อให้เกิดผลตอบแทนกับผู้ถือหุ้น โดยผมไม่ได้กล่าวโทษบริษัทเอกชนเพราะเอกชนต้องทำตามกฎหมาย แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ กระทรวงพลังงาน ทั้งนี้ในประเทศมาเลเซียที่มีแหล่งทรัพยากรเช่นเดียวกับไทยได้ใช้วิธีบริหาร คือ ให้กระทรวงพลังงาน ฐานะตัวแทนรัฐเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมและใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ดังนั้นจึงคำนึงถึงประโยชน์กับประชาชน "ต่อจากนี้ประชาชนควรคำนึงว่าจะทำอย่างไรกับกระทรวงพลังงาน อย่างไรก็ตามวิธีสัมปทานให้เอกชนควรจะปรับปรุงวิธีให้เหมาะสม เช่น การเปิดประมูล, รัฐจ้างเอกชนเป็นผู้ผลิตพลังงาน เป็นต้น โดยราคาพลังงานแพง ผมไม่ว่า แต่ขอให้เงินเข้าหลวง เพื่อสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ อาทิ โรงเรียน ให้ประชาชน " ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว Tags : ปฏิรูปพลังงาน • รัฐประหาร • ท้าทาย • ธรรมศาสตร์ • รสนา โตสิตระกูล • คสช. • ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี