ธปท.ชี้ "จีดีพี"โตได้ 2.5% ภายใต้เงื่อนไขต้องมีมาตรการกระตุ้นลงทุนใหม่ ประเมินตัวเลข 1.5% ไม่น่ากังวล มั่นใจปี 2558 โตเต็มศักยภาพที่ 5.5% ขณะกสิกรไทยปรับเพิ่มจีดีพีเป็น 2.3% เชื่อภาคธุรกิจได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในครึ่งปีหลัง การผลักดันให้"ตัวเลข"ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ ยังเป็นนโยบายสำคัญของทุกรัฐบาล แม้แต่การบริหารประเทศภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่เน้นการปฏิรูป แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. อยากเห็นจีดีพีในปีนี้โต 2.5% ขณะที่หน่วยงานรัฐและหลายสำนักวิจัยประเมินก่อนหน้านั้นว่า จะขยายตัวต่ำไม่ถึง 2% นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.' class='anchor-link' target='_blank'>ธปท. ) กล่าวว่า หากจะให้จีดีพีโตได้ 2.5% ต้องดูว่า คสช.จะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมออกมาหรือไม่ เพราะตัวเลขการเติบโตที่ 1.5% ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินเอาไว้ เป็นการประเมินบนข้อสมมติฐานจากมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน นายประสาร กล่าวว่า การผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตได้ 2.5% ควรเน้นไปเรื่องการลงทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะตรงกับความต้องการของประเทศ ซึ่งเวลานี้ประเทศไทย กำลังต้องการการลงทุนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือการลงทุนทางกายภาพ ทั้งเรื่อง คน แรงงาน หรือในด้านความรู้ เป็นต้น "หากช่วยเรื่องการลงทุนได้ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนลงทุนตามด้วย ตรงนี้ก็จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วย" การบริโภค-ท่องเที่ยวส่งสัญญาณดี ส่วนกรณีที่ หัวหน้า คสช. ขอให้ดูแลรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป เพราะเกรงว่า จะกระทบต่อการส่งออกนั้น นายประสาร กล่าวว่า ค่าเงินบาทในปัจจุบันถือเป็นระดับที่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และระดับของค่าเงินก็ไม่ได้อ่อนค่าหรือแข็งค่าเกินไปเมื่อเทียบกับภูมิภาค ถือเป็นระดับกลางๆ พร้อมกับยืนยันว่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครขอให้ ธปท.' class='anchor-link' target='_blank'>ธปท. เข้าไปดูแลค่าเงินบาทให้ไปในทิศทางอ่อนค่าลง นอกจากนี้ นายประสาร ยังกล่าวถึงภาคการบริโภคด้วยว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในขณะนี้เริ่มฟื้นตัวขึ้นชัดเจน ซึ่งน่าจะทำให้ภาคการบริโภคกลับมาดีขึ้นได้ และจากประสบการณ์ในอดีตพบว่า เมื่อสถานการณ์การเมืองคลี่คลายลง ภาคการบริโภคถือเป็นอีกหนึ่งภาคเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว เพียงแต่ปัจจุบันมีประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ต้องติดตามบ้าง เพราะอาจทำให้การบริโภคไม่ได้ฟื้นกลับมาเร็วเหมือนในอดีต ส่วนภาคการท่องเที่ยว มีแนวโน้มว่า จะเริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้เช่นกัน เพียงแต่ช่วงนี้อาจจะยังไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยวทำให้การฟื้นตัวยังไม่เด่นชัด คงต้องรออีก 2-3 เดือน ซึ่งจะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ดังนั้นหากช่วงนี้เราสามารถทำให้สถานการณ์ต่างๆ กลับมาดี เชื่อว่าภาคการท่องเที่ยงคงฟื้นกลับคืนมาอย่างแน่นอน ส่งออกเริ่มดีขึ้นแต่ช้ากว่าคาด สำหรับภาคการส่งออกนั้น นายประสาร กล่าวว่า ถ้าดูเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในขณะนี้ จะเห็นว่าเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกดูดีขึ้นบ้าง เพียงแต่แนวโน้มโดยรวมของการส่งออกที่เริ่มดีขึ้น ดูจะช้ากว่าที่คาดเอาไว้ ทำให้การส่งออกในปีนี้ไม่สามารถช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจได้มากนัก แม้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ต่ำกว่าที่ คสช. อยากเห็น โดยตัวเลขที่ กนง. ประเมินการเติบโตไว้ที่ 1.5% ถือเป็นตัวเลขที่ไม่ได้น่าเป็นห่วง เพราะอย่างน้อยเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังซึ่ง กนง. ประเมินว่าการเติบโตโดยเฉลี่ยไว้ที่ประมาณ 3.4% "เวลาพูดถึงการเติบโตต้องดูค่าเฉลี่ยด้วย ซึ่งตัวเลขครึ่งปีแรกเรามองว่าเศรษฐกิจจะยังหดตัวอยู่ โดยที่ไตรมาส 2 ตัวเลขเริ่มทรงตัว และมาดีขึ้นอย่างชัดเจนในครึ่งปีหลัง ซึ่งประเมินว่าไตรมาส 3 และ 4 จะเติบโตได้ประมาณ 3.4% ทำให้ทั้งปีเติบโตระดับ 1.5% จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง" นายประสารกล่าว นอกจากนี้ เขายังกล่าวด้วยว่า กนง.ยังประเมินตัวเลขการเติบโตในปีหน้าด้วยว่า เศรษฐกิจจะเริ่มเติบโตเต็มศักยภาพที่ระดับ 5.5% ซึ่งก็เป็นเครื่องยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้น่าเป็นห่วงอะไร หนี้ครัวเรือนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเกาะติด สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม นายประสาร ยอมรับว่า ในขณะนี้คงมีเรื่องหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าระยะหลังจะเริ่มเห็นการชะลอของหนี้ครัวเรือนลงบ้างแล้ว แต่ประเด็นที่ต้องติดตาม คือ อำนาจซื้อของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ หากครัวเรือนกลุ่มนี้ยังมีระดับหนี้ที่สูง ก็ถือเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตาม เพราะอาจทำให้การฟื้นตัวของภาคการบริโภคเป็นไปอย่างนล่าช้า เพียงแต่โดยภาพรวมไม่ได้น่าเป็นห่วงมากนัก นอกจากนี้ยังต้องติดตามดูทิศทางของเศรษฐกิจประเทศหลักทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน โดยในส่วนของสหรัฐฯ และ อังกฤษ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจถือว่าค่อนข้างดี ขณะที่ยุโรปกับญี่ปุ่นยังค่อนข้างช้า จึงต้องดูด้วยว่าประเทศเหล่านี้จะดำเนินนโยบายการเงินอย่างไร หากมีการปรับนโยบายให้เข้มงวดขึ้น ก็อาจกระทบต่อสภาพคล่องการเงินโลกได้ เพียงแต่ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลนัก เพราะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีภูมิคุ้มกันที่ดีพอประมาณ กสิกรไทยมั่นใจครึ่งหลังแนวโน้มดี ด้านนายวศิน วณิชยวรนันต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเสริมถึงทิศทางเศรษฐกิจและธุรกิจไทยในครึ่งปีหลังว่า มีแนวโน้มฟื้นตัวจากสัญญาณที่มีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง 3 เรื่อง คือ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 พร้อมจัดทำงบประมาณปี 2558 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค.2557 การเร่งอนุมัติโครงการ ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ (BOI) มูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท และการช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องการคืนเงินโครงการจำนำข้าวแก่ชาวนาจำนวน 9.2 หมื่นล้านบาท จากประเด็นดังกล่าว สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้จีดีพีครึ่งปีหลังเป็น 4.3% โดยมีผลทำให้จีดีพีเฉลี่ยทั้งปี 2557 ปรับจาก 1.8% ขึ้นเป็น 2.3% ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อปัจจัยหลักของการเติบโตของจีดีพี อันได้แก่ การใช้จ่ายของภาครัฐ การลงทุนของภาคเอกชน การบริโภคของประชาชน ส่วนการส่งออกสุทธิที่เป็นปัจจัยที่ 4 ของการเติบโตของจีดีพีนั้น จะสามารถกระเตื้องขึ้นได้เป็น 3% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีกว่าปี 2556 ที่ติดลบอยู่ 0.2% ใช้จ่ายภาครัฐอัดฉีดเข้าสู่ระบบ ด้านการใช้จ่ายของภาครัฐ ส่งผลให้มีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบ ซึ่งส่งผลเชิงบวกโดยตรงต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีโครงการที่น่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงปี 2557-2558 มูลค่ารวม 4.8 แสนล้านบาท ประกอบด้วยโครงการที่เกี่ยวกับเส้นทางคมนาคมเป็นหลัก ได้แก่โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟสสอง การปรับปรุงสนามบินดอนเมือง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นต้น "ทิศทางเชิงบวกของโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการลงทุนของภาคเอกชน ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะฟื้นตัวขึ้นได้โดยมีอัตราการเติบโต 5.8% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะขยายตัวถึง 3.4% จากครึ่งปีแรกที่ติดลบ 13.1%" ความต้องการบริโภคเริ่มกลับสู่ตลาด ขณะที่การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มสูงขึ้น จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งของเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบนี้ได้มาจากการจ่ายค่าค้างชำระโครงการจำนำข้าวให้แก่ชาวนามูลค่า 9.2 หมื่นล้านบาท ดันให้ธุรกิจค้าปลีก และสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตตามกันไป เนื่องจากมีอุปสงค์ หรือความต้องการของผู้บริโภคในตลาดกลับเข้ามา เขากล่าวต่อว่า สะท้อนได้จากการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทเครื่องดื่ม ที่ธนาคารเป็นผู้รับดำเนินการ ที่สามารถทำราคาเข้าตลาด หรือไอพีโอได้สูงกว่าเป้า และได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนสถาบัน โดยมีความต้องการจองหุ้นล้นหลามมากถึง 18 เท่าของจำนวนหุ้นที่เปิดขาย ซึ่งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมีมูลค่าตลาดกว่า 1.8 ล้านล้านบาท และยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ธุรกิจค้าปลีกส่งสัญญาณฟื้นตัว นอกจากนี้ ธุรกิจค้าปลีก ยังเป็นอีกธุรกิจหนึ่ง ที่จะกลับมาฟื้นตัวในช่วงหลังของปี การเปิดตัวของห้างสรรพสินค้าใหม่ๆ และโครงการยักษ์ใหญ่ที่จะเปิดตัวริมแม่น้ำเจ้าพระยาอีกหลายโครงการ ก็เร่งดำเนินการกันต่อ เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ทันกับความต้องการ และศักยภาพการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ส่วนในภาคการส่งออก แม้จะมีการปรับประมาณการเติบโตของปี 2557 ลดลงจาก 5% เป็น 3% แต่ยังถือเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในครึ่งปีหลัง เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา โดยอุตสาหกรรมหลักที่ผลักดันการส่งออกได้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีการคาดการณ์การเติบโตที่ 12% ในครึ่งปีหลัง จากครึ่งปีแรกที่เติบโตเพียง 3% ทั้งนี้ยังมีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รออนุมัติอีกกว่า 4 แสนล้านบาทในปีนี้ ซึ่งหากสามารถผลักดันโครงการต่างๆออกมาได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังสดใสยิ่งขึ้นไปอีก Tags : ธปท. • ลงทุน • จีดีพี • ประสาร ไตรรัตน์วรกุล • คสช. • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา • ธปท. • กนง. • ท่องเที่ยว • บริโภค • หนี้ครัวเรือน • กสิกรไทย • ค้าปลีก