ธุรกิจขานรับกม.หลักประกัน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 10 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ภาคธุรกิจขานรับกฎหมายหลักประกัน เชื่อหนุน เอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น

    นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในงานเสวนา “กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะช่วยให้ไทยเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้จริงหรือ?” ซึ่งจัดโดย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายว่า กฎหมายฉบับนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไปในอนาคต เพราะจะทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกขึ้น

    เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีช่วยสร้างเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงมาก คิดเป็นประมาณ 3.9 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งการสร้างมูลค่าเพิ่มตรงนี้ยังไม่นับรวมกับส่วนที่ไปเกื้อหนุนให้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่ในรูปของห่วงโซ่อุปทานที่มีมูลค่าอีกจำนวนมาก

    ส่วนจำนวนเอสเอ็มอีไทยในปัจจุบันมีประมาณ 2.7-2.9 ล้านราย มีการจ้างงานรวมกว่า 11 ล้านคน แต่ในจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมดนี้ พบว่ามีรายที่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อจริงได้เพียง 7-9 แสนรายเท่านั้น ขณะที่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่เกือบ 2 ล้านราย ยังเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ยาก เพราะติดปัญหาในเรื่องหลักประกันที่นำมาใช้ในการขอสินเชื่อ

    “กฎหมายตัวนี้ทำให้ผู้ประกอบการมีหลักประกันที่หลากหลายขึ้นในการนำไปใช้ขอสินเชื่อจากทางธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกฎหมายตัวนี้ช่วยให้ เอสเอ็มอี เหมือนกับมีกองหลักที่แข็งแกร่งขึ้น เพราะมีหลักประกันมาทำให้แบงก์มั่นใจที่จะปล่อยสินเชื่อให้”นายประสารกล่าว

    อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องดำเนินการในระยะต่อไป คือ การประเมินมูลค่าของสินทรัพย์หรือหลักประกันที่เอสเอ็มอีนำมาใช้ในการขอสินเชื่อว่า จะมีการประเมินกันอย่างไร จะสร้างระบบที่ดีขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน และควรจะมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญกันอย่างไร

    ด้าน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา กล่าวว่า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งขึ้นได้ เพราะทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพียงแต่ด้วยกฎหมายอย่างเดียวคงไม่ได้มีส่วนช่วยมากนัก เนื่องจากตัวช่วยที่สำคัญ คือ ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคสถาบันการเงิน

    “ลำพังกฎหมายอย่างเดียวผมให้ 60% ส่วนอีก 40% ยังต้องขึ้นกับการสนับสนุนของสถาบันการเงินด้วย เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกออกแบบให้เป็นสัญญาที่ผู้ขอสินเชื่อต้องทำกับสถาบันการเงินเท่านั้น ดังนั้นหากแบงก์เน้นแต่เรื่องหวังผลกำไร โดยไม่มองเรื่องโอกาสของเอสเอ็มอี ก็คิดว่ากฎหมายตัวนี้คงไม่ประสบความสำเร็จเหมือนอย่างผู้ที่ผลักดันต้องการเห็น” นายสุรชัยกล่าว

    อย่างไรก็ตาม มีประเด็นกฎหมายบางข้อที่น่าเป็นห่วงอยู่บ้าง โดยนายสุรชัย กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้อำนาจคุ้มครองผู้ปล่อยสินเชื่อด้วย สะท้อนผ่านข้อกฎหมายในบางข้อที่อนุญาตให้ผู้ปล่อยสินเชื่อสามารถยึดเอาทรัพย์สินขายทอดตลาดได้โดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการฟ้องร้องตามศาล ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จะเกิดประโยชน์ได้ คู่สัญญาต้องมีความเป็นธรรมและมีความเสมอภาคกันในการทำสัญญา

    นอกจากนี้ในกฎหมายดังกล่าวยังมีเรื่องของผู้บังคับหลักประกันขึ้นมาด้วย โดยผู้บังคับหลักประกันนี้มีอำนาจหน้าที่ 2 อย่างในคนเดียวกัน คือ เป็นทั้งผู้พิพากษา และ เจ้าหน้าที่พนักงานบังคับคดี ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่เจ้าหน้าที่ตรงนี้จะให้ความเป็นธรรมกับลูกหนี้อย่างไรในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นมา

    นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การที่เอสเอ็มอีสามารถนำสินค้าคงคลังมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อได้นั้น น่าจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยเงินกู้ได้สะดวกขึ้น ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็น่าจะดีขึ้น จึงเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้มาก

    เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยถดถอยลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเรื่องของกฎหมายที่มารองรับการทำธุรกิจไม่ได้เอื้ออำนวยมากนัก ดังนั้นการมีกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ทำให้ภาคธุรกิจมีหลักทรัพย์ที่นำมาใช้ค้ำประกันการของสินเชื่อที่มากขึ้น ก็น่าจะช่วยในเรื่องการแข่งขันของประเทศไทยได้พอสมควร

    “เชื่อว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่สำคัญสำหรับกระบวนการธุรกิจและเศรษฐกิจ ช่วยให้ความสามารถในการพัฒนาระยะต่อไปดีขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วกฎหมายนี้เกือบทุกประเทศในอาเซียนมีหมดแล้ว แม้แต่กัมพูชาเองก็ยังมีกฎหมายตัวนี้ใช้แล้วด้วย แต่ของประเทศไทยยังไม่มี” นายบุญทักษ์กล่าว

    ด้านนางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่เอสเอ็มอีไทยรอคอยมานานมาก เพราะการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปค่อนข้างยากเนื่องจากขาดหลักประกันนำมาใช้ในการขอสินเชื่อ โดยเอสเอ็มอีที่ได้สินเชื่อส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพการเติบโตที่ชัดเจนเท่านั้น ทำให้เอสเอ็มอีอีกจำนวนมากขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ

    สำหรับกฎหมายฉบับนี้ เปิดโอกาสให้ ผู้ประกอบการสามารถนำหลักประกันอื่นๆ มาใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อได้เพิ่มมากขึ้น เช่น สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ หรือสิทธิบัตร หรือแม้แต่สิทธิเรียกร้องต่างๆ เป็นต้น

    นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า กฎหมายนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อเอสเอ็มอีอย่างมาก เพราะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และเชื่อว่าการมีกฎหมายตัวนี้ จะทำให้หน่วยงานภาครัฐมีมาตรการใหม่ๆ เพื่อมาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี

    Tags : กฎหมาย • หลักประกัน • เอสเอ็มอี • ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้