กลต.-คลังดันรัฐวิสาหกิจระดมทุน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 10 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ก.ล.ต.เตรียมหารือสคร.อีกรอบส่งเสริมรัฐวิสาหกิจระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานและกองรีทหลังคสช.หนุน

    นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ ก.ล.ต.จะมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อีกรอบ หลังจากที่ได้มีการหารือไปครั้งหนึ่งแล้วในเดือนที่ผ่านมา ถึงการส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจใช้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับการลงทุน ทั้งการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์) และกองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ รีท (REITs) เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ

    โดยในการหารือครั้งก่อน มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นทอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทบ.) และรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจเข้าร่วมด้วย และได้สนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจใช้ช่องทางการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานระดมทุน ซึ่งมีความคล่องตัวและช่วยลดภาระการก่อหนี้สาธารณะ

    ทั้งนี้มีหลายหน่วยงานแสดงความสนใจ ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การท่าอากาศยานไทย (ทอท.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งมีที่ดินให้เช่าจำนวนมาก สามารถที่นำมาออกรีทได้ แต่ที่มีความคืบหน้ามากสุดคือกฟผ.เพราะเตรียมการมานานเป็นปี มาขอข้อมูลหลายรอบคาดว่าจะได้เห็นกฟผ.ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานภายในปีนี้

    "โครงสร้างพื้นฐานมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ แต่รัฐบาลมีข้อจำกัดในการลงทุน ทั้งในด้านงบประมาณ และการก่อหนี้สาธารณะ การให้รัฐวิสาหกิจมาระดมทุนในตลาดทุน จึงถือเป็นทางเลือกที่ดี หลังจากที่ได้หารือในเบื้องต้นไปแล้ว หลังจากนี้ก็จะนัดพูดคุยกันในรายละเอียดต่างๆ”

    เขากล่าวต่อว่า สำหรับการส่งเสริมให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้น จากการพูดคุยกับบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน (เอฟเอ) ต่างๆ พบว่า มีหลายบริษัทให้ความสนใจทั้งจากประเทศจีน แถบประเทศเพื่อนบ้าน เช่นประเทศพม่าเป็นต้น โดยเฉพาะบริษัทจากประเทศจีน ได้เริ่มเข้ามาหาที่ปรึกษาทางการเงินในไทยไว้แล้ว

    ทั้งนี้สาเหตุที่บริษัทต่างประเทศสนใจจะเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดหุ้นไทยมีสภาพคล่องสูง มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน มีนักลงทุนที่หลากหลาย อย่างไรก็ตามบริษัทที่จะเข้ามาระดมทุนในไทย จะต้องใช้ผู้สอบบัญชีที่มีระบบเป็นสากล ได้รับการรับรองจากก.ล.ต. และต้องอยู่ในประเทศที่มีความร่วมมือร่วมกัน เช่นการเป็นสมาชิกก.ล.ต.โลกเป็นต้น ส่วนเอกสารต่างๆ เช่นการยื่นไฟลิ่งนั้น ไม่ได้มีเกณฑ์บังคับว่าจะต้องมีภาษาไทย แต่ให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก

    "เท่าที่ทราบข่าวมาตอนนี้ก็เริ่มมีนักลงทุนเข้ามาติดต่อบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินในไทยแล้ว ส่วนขั้นตอนการเตรียมความพร้อมต่างๆ คงเป็นเรื่องที่บริษัทนั้นๆ จะหารือกับทางที่ปรึกษา ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเข้าตลาดได้ในช่วงไหน แต่ก็เห็นทิศทางว่ามีบริษัทต่างชาติสนใจมาเข้าตลาดหุ้นไทยมากขึ้น”

    เขากล่าวว่า วานนี้ (9 ก.ค.) ก.ล.ต.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ 4 แห่ง ประกอบด้วย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์จัดประชุมสัมมนา “SEC Working Papers Forum” ทุกเดือน เพื่อเปิดเวทีนำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างภาควิชาการกับผู้บริหารในตลาดทุน เพื่อให้เกิดการนำนำบทวิจัยไปใช้ได้จริง โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป

    อนึ่ง นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย เคยระบุว่า บริษัทมีแผนที่จะเสนอขายกองทุนโครงการสร้างพื้นฐาน โดยมีสินทรัพย์คือโรงไฟฟ้าพระนครเหนือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มูลค่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งคาดหวังว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในปีนี้ ขณะนี้กระบวนการอยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างภายใน ซึ่งหากปรับโครงสร้างเสร็จจะมีการเสนอให้บอร์ดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุมัติ และยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อไป

    ทั้งนี้ หากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของกฟผ.สามารถเข้าจดทะเบียนได้จะเป็นการจุดประกายให้ภาครัฐมีการออกกองทุนอื่นๆ เข้ามาระดมทุนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระของภาครัฐ โดยส่วนตัวมองว่า คสช.จะพยายามมีการผลักดันให้กองทุน Infrastructure Fund EGAT เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

    สำหรับในปีนี้ บลจ.กรุงไทย มีแผนที่จะออกกองทุนใหม่ซึ่งอยู่ในกระบวนการประมาณ 15 กอง ประกอบด้วย กองทุนอสังหาฯ 2 กอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอ ก.ล.ต.อนุมัติ ซึ่งมีขนาดกองทุนกองละ 2,000 ล้านบาท กองทุนทริกเกอร์ฟันด์ โกลบอลฟันด์ กองทุนตราสารหนี้ และกองหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จากที่ คสช.มีการพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ บริษัทฯจะมีการพิจารณาออกกองทุนที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น จากต้นปีที่ผ่านมาจะเน้นออกกองทุนตราสารหนี้

    Tags : วรพล โสคติยานุรักษ์ • ก.ล.ต. • คสช. • รัฐวิสาหกิจ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้