สศช.ชี้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว คาดไตรมาส2'จีดีพี'เป็นบวก

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 9 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    (รายงาน) สศช.ชี้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว คาดไตรมาส2'จีดีพี'เป็นบวก

    การประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นประธานวานนี้ (8 ก.ค.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจของไทย โดยประเมินว่าเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้น มีรายละเอียดดังนี้

    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)กล่าวว่า ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจคือตัวเลขในเดือน พ.ค.และตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.เริ่มมีสัญญาณเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ

    สศช.คาดว่าเศรษฐกิจของไทยในปี 2557 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวได้ 1.5 - 2.5% โดยในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้คาดว่าจีดีพีจะเริ่มกลับมาเป็นบวกหลังจากที่ไตรมาสแรกที่ผ่านมาจีดีพีของไทยติดลบ 0.6%

    นอกจากความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้นแล้ว การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ค.ติดลบน้อยลง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า น่าจะกลับมาเป็นบวกได้ ในเดือนมิ.ย.

    ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของไทย เมื่อเดือนพ.ค. ลดลง 4.08% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่ลดลง 4.1% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการลดลงเป็นเดือน ที่ 14 ติดต่อกัน โดยเป็นผลจากการผลิตที่ลดลงในอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องเพชรพลอย เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง และ รถจักรยานยนต์

    อย่างไรก็ตามประเด็นในการบริหารเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายจะต้องเร่งรัดใน 6 เรื่อง คือ

    1.การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ซึ่ง สศช.ให้น้ำหนักเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยคิดเป็นสัดส่วน 15 - 20% ของจีดีพี ซึ่งขณะนี้ในส่วนของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้และพร้อมที่จะสามารถเบิกจ่ายได้ในต้นเดือน ต.ค.และคาดว่าการเบิกจ่ายจะได้ไม่ต่ำกว่า 95% จากเดิมเคยปรับลดเป้าหมายเบิกจ่ายเหลือ 92% ในช่วงที่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง

    2.การเร่งรัดลงทุนภาคเอกชน ให้เพิ่มขึ้นโดยเร่งติดตามการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวมทั้งเร่งรัดการออกใบอนุญาต รง.4 โดยขณะนี้อยู่ที่การว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อมาปรับปรุงและตรวจสอบเอกสารให้มีความรวดเร็วมากขึ้น

    3.การส่งออก สศช.คาดว่าการส่งออกในปี 2557 จะขยายตัวจากปีก่อน 3.7 % เนื่องจากขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐฯดีขึ้น ซึ่งทั้งสองแห่งถือว่าเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย และสินค้าส่งออกที่เคยมีปัญหาเช่นการส่งออกกุ้ง คสช.ก็แก้ปัญหาเกี่ยวกับโรคกุ้งตายด่วนแล้ว คาดว่าการส่งออกกุ้งจะฟื้นตัวชัดเจนในไตรมาสที่ 4

    นอกจากนี้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยก็ฟื้นตัวดีขึ้นโดยเฉพาะการส่งออกข้าวซึ่งกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าเป้าหมายในการส่งออกข้าวในปีนี้อยู่ที่ 10 ล้านตัน และจะทำให้ไทยกลับมาเป็นอันดับ 1 ในการส่งออกข้าวของโลกได้ นอกจากนั้นยังมีสินค้าอื่นๆ เช่น กล้วยไม้ที่มีมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ยังคงต้องทำงานในการหาตลาดใหม่ๆในต่างประเทศเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมกลไกสถาบันทางการเงินให้กับผู้ส่งออกที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ผ่านกลไกของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) เพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอีส่งออกมากขึ้น

    “แม้ว่าการส่งออกใน 5 เดือนแรกจะติดลบ 1.2 % แต่เมื่อมีการคิดมูลค่าการส่งออกกลับมาเป็นเงินบาทพบว่ามูลค่าการส่งออกของไทยจะขยายตัว 8% ซึ่งเม็ดเงินที่ผู้ส่งออกได้รับเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้นส่งผลต่อสภาพคล่องของผู้ส่งออก ช่วยรักษาการจ้างงานและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยไว้ไม่ให้ลดลง” นายอาคมกล่าว

    4.การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพโดยปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 32 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ภาคเอกชนพอใจ อย่างไรก็ตามต้องมีการบริหารให้อยู่ในระดับนี้ได้อย่างต่อเนื่องไม่เคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงมากเกินไป

    5.ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาตัวเลขความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนก็เพิ่มขึ้นแต่จะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดก็ต้องดูว่านโยบายของ คสช.หน่วยงานต่างๆนำไปสู่ภาคปฏิบัติมากเพียงใด

    6.รายได้จากภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะฟื้นตัวเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง

    “ต้องเข้าใจว่าสภาพัฒน์ไม่ปรับตัวเลขเป็นรายวัน ต้องรอดูตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 หากประเมินแล้วก็มีโอกาสที่จะปรับสูงขึ้นกว่า 2.5% ได้แต่ก็ต้องดูเหตุการณ์ในช่วงที่จะมีการประกาศจีดีพีในเดือน ส.ค.ด้วย หากมีเหตุการณ์ใหญ่ที่กระทบต่อเศรษฐกิจก็ต้องพิจารณาความเป็นไปได้อีกครั้ง แต่ตัวเลข 2.5% ที่สภาพัฒน์ประเมินก็ถือว่าสูงกว่าตัวเลขที่หน่วยงานอื่นๆประเมินเศรษฐกิจในปีนี้ซึ่งส่วนใหญ่ปรับลดจีดีพีเหลือเพียง 2% หรือคาดการณ์ว่าจะโตเพียง 1% เศษเท่านั้น” นายอาคมกล่าว

    Tags : อาคม เติมพิทยาไพสิฐ • สศช. • อุตสาหกรรม • เศรษฐกิจไทย • ไตรมาส • จีดีพี

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้