ธปท.หนุน "คสช." เดินหน้ากฎหมายประกันธุรกิจ เปิดทางผู้ประกอบการ "เอสเอ็มอี" นำสิทธิบัตรเป็นหลักประกัน นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สำหรับกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)มีแนวคิดจะเดินหน้าในเรื่องกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจนั้นมองว่า จะส่งผลดีกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่จะช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น จากหลักประกันที่มีเพิ่มขึ้น "ที่ผ่านมา คสช. ได้เชิญสมาคมธนาคารไทย โดยสมาคมขอให้ดำเนินการในเรื่องนี้เร่งด่วนที่ควรจะทำ โดยคนที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้มากที่สุดคือเอสเอ็มอี เพราะปัจจุบันเวลาจะกู้เงิน ธนาคารจะไม่สามารถคาดเดากระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ ต้องเรียกหลักประกันให้เยอะไว้ก่อน" เธอกล่าวด้วยว่า หลักประกันกฎหมายในไทยมีอยู่น้อยมาก อาทิ ที่ดินสิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักร ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ จะเพิ่มหลักประกันให้เพิ่มขึ้น อาทิ สัญญาเช่า สินค้าคงคลัง รวมถึงสิทธิบัตร เอามาเป็นหลักประกันตามกฎหมายได้ จะช่วยให้เอสเอ็มอีที่ใช้หลักประกันครบเต็มวงเงิน แต่ยังมีศักยภาพในการเติบโต ให้มีเงินทุนเพิ่มขึ้น สำหรับกฎหมายฉบับนี้ เกิดจากการริเริ่มของรัฐบาลชุดก่อน โดยมีกระทรวงการคลังรับลูก ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้จนแล้วเสร็จ แต่ติดขัดเรื่องการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะเชื่อมโยงกับหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายเจ้าหนี้ ฝ่ายธนาคาร ฝ่ายลูกหนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และฝ่ายกรมบังคับคดี ที่จะมีหน้าที่ติดตามยึดหลักประกัน เพราะหากหลักประกันเป็นสิทธิบัตร อาจเกิดปัญหาในการติดตามทรัพย์สินในทางปฏิบัติ การบังคับทางกฎหมาย และมีปัญหาด้านการประเมินมูลค่า ทั้งนี้ ธปท.มองว่า เรื่องดังกล่าวควรให้ทางเจ้าหนี้กับลูกหนี้ร่วมกันประเมินทรัพย์สิน เพราะเรื่องของการกู้เงินเป็นเรื่องของทั้ง 2 ฝ่าย และให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมประเมินทรัพย์สิน เพื่อหามูลค่าที่เหมาะสม จะทำให้การหามูลค่าเหมาะสมง่ายขึ้น ส่วนการตั้งสำรอง ธปท.หลักเกณฑ์ในการตั้งสำรองอยู่แล้ว ไม่ใช่ประเด็นหลักที่น่ากังวล สำหรับแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่พึ่งเริ่มต้นกิจการ และมีความยากลำบากในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่ผ่านมาธปท.ได้มีการหารือกับสถาบันการเงินว่าจะมีแนวทางช่วยเหลือกลุ่มนี้ โดยธนาคารออมสินร่วมกับหน่วยงานรัฐบาล 6 แห่ง ในการเข้าช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งหน่วยงานรัฐทั้ง 6 หน่วยงานได้คุยพูดคุยธนาคารออมสิน เพื่อเข้าช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างถูกจุด และเป็นผู้ช่วยพัฒนาความสามารถของเอกชน ในด้านคุณภาพสินค้า และเทคโนโลยี อาทิ กรมพัฒนาชุมชนอาจเข้าไปช่วยพัฒนาตัวสินค้าสินค้า และการบริหารจัดการ หรือไปรษณีย์ไทยที่จะช่วยด้านการขนส่ง ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น ก่อนหน้านี้ ธนาคารออมสิน และหน่วยงานพันธมิตร 6 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์กรมหาชน)(สนช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)กรรมการพัฒนาชุมชน (พช.) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วย "โครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายย่อยให้เติบโตอย่างยั่งยืน" โดยธนาคารออมสินจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนด้านเงินทุนอย่างครบวงจรทั้งในรูปแบบการให้สินเชื่อและเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ความร่วมมือในครั้งนี้ มีระยะเวลา 5 ปี โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่หน่วยงานพันธมิตรคัดกรอบ และพร้อมส่งให้ธนาคาร คาดว่า จะมีไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นราย ซึ่งธนาคารได้เตรียมวงเงินไว้รองรับเบื้องต้น 1 หมื่นล้านบาท โดยจะพิจารณาผลักดันโครงการความร่วมมือนี้ให้มีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ข้อมูลของธปท. ระบุว่า ในจำนวนกลุ่มเอสเอ็มอีกว่า 2 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในด้านผลิตภัณฑ์ แต่ขาดความรู้ด้านการบริหารทางการเงิน การตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือขาดโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงิน เพราะขาดความพร้อมด้านหลักฐานการเงิน เพื่อให้สามารถต่อยอดจากวิสาหกิจขนาดย่อมหรือวิสาหกิจชุมชน ขึ้นไปเป็นบริษัทหรือธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคตได้ ขณะเดียวกัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีนัดแรกในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบกำหนดให้การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นวาระแห่งชาติ เพราะถือว่าผู้ประกอบการในธุรกิจเอสเอ็มอี ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ ทั้งระบบ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมเอสเอ็มอีเพิ่มเติม และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกลั่นกรองงานให้เกิดความรวดเร็วในแผนงาน และโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเอสเอ็มอีไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้เพิ่มประเภทของเอสเอ็มอี ที่ได้รับการส่งเสริมเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ และภาคการเกษตร เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก หากได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสมจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเอสเอ็มอี และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยอีกมาก ทั้งนี้ที่ประชุมฯยังได้พิจารณาปรับโครงสร้างเพื่อยกระดับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้มีขอบเขตงานที่กว้างขึ้น เกิดความเป็นเอกภาพ มีการบูรณาการร่วมของส่วนราชการ ทุกกระทรวงและภาคเอกชน ทั้งการสนับสนุนงบประมาณ การบริหารจัดการให้เกิดความรวดเร็ว รวมถึงการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและพัฒนาศักยภาพของเอสเอ็มอีไทยมากยิ่งขึ้น Tags : ธปท. • คสช • กฎหมายประกันธุรกิจ • เอสเอ็มอี