วันนี้ (8 ก.ค.) นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช เพื่อโต้แย้งและคัดค้านมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2557 ที่งดการเผชิญสืบสต็อกข่าวและงดการไต่สวนเพิ่มพยานจำนวน 8 ปาก ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี โดยขอโต้แย้งใน 4 ประเด็น คือ 1. การงดการสืบพยานข้าวสารจำนวน 2.977 ล้านตัน และงดสืบพยานจำนวน 3 ปากที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงและยืนยันว่า ข้าวจำนวนดังกล่าวไม่ได้สูญหายตามที่กระทรวงการคลังโต้แย้ง ทำให้ข้อมูลที่นำมากล่าวหา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ถูกต้อง 2. การคำนวนค่าเสื่อมราคาข้าวของรัฐบาลและคณะอนุกรรมการปิดบัญชีไม่ใช่วิธีเดียวกันทำให้ผลการคำนวนออกมาไม่ตรงกัน 3.การประเมินผลการขาดทุนของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีแตกต่างจาก ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 4. การมที่ ป.ป.ช. มีมติไม่ไต่สวน นายอำพล กิตติอำพล เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพิ่มเติม มองว่า เมื่อ ป.ป.ช.พิจารณาในรูปแบบเอกสารแล้ว ควรจะพิจารณาในรูปแบบของพยานบุคคลด้วย นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง กล่าวด้วยว่า การดำเนินการในคดีโครงการรับจำนำข้าวถือว่ามีความรวดเร็ว แต่อยากให้นำผลการตรวจสต็อกข้าวทั่วประเทศของ คสช. มาประกอบการพิจารณาในคดีดังกล่าวเพื่อเพิ่มความกระจ่าง และในการตรวจสต็อกข้าวนั้น มองว่ามีการนำเสนอว่า พบการทุจริตจำนวนมาก ทั้งที่การตรวจสอบข้าวเพิ่งเริ่มดำเนินการจึงมองว่าไม่เป็นธรรมและขอให้มีการไต่สวนให้กระจ่างมากกว่านี้ก่อน ด้าน นายวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวว่า กรณีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ไปร่วมตรวจสต็อกข้าวนั้น ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ในแต่ละจังหวัดดำเนินการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบทั่วประเทศ ซึ่งได้รับรายงานข้าวหายและข้าวเสื่อมสภาพบางส่วนแล้ว โดยจะต้องรอดูรายงานทั้งหมดก่อน ทั้งนี้หากตรวจสอบพบข้าวหายเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละโกดังจะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และหากพบเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ระดับไม่เกิน ซี 7 จะส่งเรื่องไปให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.จะเป็นผู้ดำเนินคดี อย่างไรการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวจะแยกกันพิจารณาซึ่งไม่จำเป็นต้องรอการตรวจสต็อกข้าว ของ คสช. แต่การดำเนินการมีการประสานงานกับ คสช. ตลอดเวลา