สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เตรียมทำโครงสร้างต้นทุนธุรกิจหลักทรัพย์ หวังสกัดการหั่นค่าคอมดึงลูกค้า นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า ในเร็วนี้จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ อนุมัติการศึกษาโครงสร้างต้นทุนการทำธุรกิจของบริษัทสมาชิกอีกครั้ง เพื่อให้สมาชิกมีข้อมูลในการเปรียบเทียบ เพื่อบริหารต้นทุนของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพ หากต้นทุนของบริษัทตัวเองสูงกว่าค่าเฉลี่ย และมีข้อมูลต้นทุนในการเจรจาต่อรองกับลูกค้า “เมื่อมีข้อมูลต้นทุนแล้ว ในการพูดคคุย ต่อรองกับลูกค้า จะทำให้โบรกตระหนักถึงจุดคุ้มทุนของตัวเอง ไม่ใช่ลดค่าธรรมเนียมการซื้อขาย หรือคอมมิชชั่น เพื่อเป็นเครื่องมือในการดึงลูกค้า เพราะการทำธุรกิจ ก็ต้องมีกำไร สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ต้องการให้เกิดการแข่งขันบนกติกาที่เหมาะสม ขณะที่ลูกค้าเองก็จะได้รู้ว่า จะสามารถต่อรองค่าคอมมิชชั่นต่างๆได้ในระดับไหน” ทั้งนี้การศึกษาต้นทุนในการทำธุรกิจจะว่าจ้างหน่วยงานภายนอกมาดำเนินการ เช่นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อให้ข้อมูลที่ออกมามีความน่าเชื่อถือ สะท้อนกับข้อเท็จจริงมากที่สุด โดยคาดว่าจะดำเนินการในเรื่องต้นทุนแล้วเสร็จได้ภายในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ “ปัจจุบันธุรกิจหลักทรัพย์ไทย ได้เดินมาในทิศทางที่ดีขึ้น แตกต่างจากที่ผ่านมาในอดีต การลดราคาค่าคอมมิชชั่นเพื่อดึงลูกค้าน้อยลง หรือเรียกได้ว่า ดิสเคาน์โบรกเกอร์ไม่มีอีกแล้ว เพราะแนวโน้มค่าคอมมิชชั่นก็ลดลงต่อเนื่อง จนไม่ควรที่จะลดลงมากกว่านี้ เพราะอาจจะไม่คุ้มทุน และธุรกิจจะอยู่ไม่ได้ นอกจากนี้ยังไม่เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรม และเมื่อโบรกเกอร์ซึ่งเป็นตัวกลางในอุตสาหกรรมไม่แข็งแรง อุตสาหกรรมก็ไม่เกิดการพัฒนา” นอกจากนี้สมาคมฯยังจะส่งเสริมการมีจริยธรรมและจรรยาบรรณในการทำธุรกิจมากขั้น เพราะปัจจุบันมีนักลงทุนหรือลูกค้ามากขึ้น การทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเงินของลูกค้าก็ต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพ และมีความโปร่งใสในการทำธุรกิจ โดยสมาคมฯจะร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้มงวดการกระทำที่ไม่เหมาะสม เช่นผู้แนะนำการลงทุนบางราย จะย้ายบริษัท ก็มีการโอนย้ายลูกค้าไปจากบริษัทเดิม ไปยังบริษัทใหม่ล่วงหน้า ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สมควร เป็นต้น เธอกล่าวต่อว่า สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ จะมีการส่งเสริมการกำกับดูแลตัวเอง หรือ เอสอาร์โอ (SRO) ซึ่งในระหว่างที่รอการปรับแก้พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่รองรับการเป็นเอสอาร์โอ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ จะปรับโคร้าง และออกเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจไปก่อน โดยจะต้องผ่านความเห็นชอบของตลาดหลักทรัพย์ และก.ล.ต. หากการแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯแล้วเสร็จก็สามารถใช้หลักเกณฑ์เหล่านี้ได้เลย “นอกจากสมาชิกจะสามารถเลือกนายกสมาคมได้แล้ว ยังจะผลักดันให้สมาชิกเลือกบอร์ดสมาคมได้ด้วย เพื่อให้มีกระบวนการที่โปร่งใส ส่วนหลักเกณฑ์ต่างๆที่จะออกมา ก็เป็นเฉพาะหลักเกณฑ์ในการทำธุรกิจเท่านั้น” ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์ มีการเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นจากนักลงทุนทั่วไปประมาณ 0.27585% โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะประกอบด้วย ค่าคอมมิชั่น 0.25% ค่าแวต 7% หรือคิดเป็น 0.175% และอีก 0.00835% คือค่าบริการจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่นักลงทุนซื้อขายหุ้นวงเงินระหว่า 1-10 ล้านบาท จะเสียคอมมิชชั่น รวมแวต และค่าธรรมเนียมให้ตลาดหลักทรัพย์ 0.2% ส่วนนักลงทุนที่ซื้อขายระหว่าง 10-20 ล้านบาทต่อวัน จะเสียค่าคอมมิชชั่นทั้งหมด 0.15% ด้านนักลงทุนที่ซื้อขายมากกว่า 20 ล้านบาทขึ้นไป จะไม่ต้องเสียค่าคอมมมิชชั่น 0.25% จะเสียแต่เฉพาะค่าแวต ค่าธรรมเนียมให้กับตลาดหลักทรัพย์ในราว 0.1% Tags : ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ • ค่าคอมมิชชั่น • ธุรกิจหลักทรัพย์