ทาคาโอะ คาตากิริ ชี้'นิสสัน'มั่นใจฐานผลิตไทย ฮับอาเซียนขับเคลื่อนตลาดโลก "นิสสัน มอเตอร์" ประกาศขยายการลงทุนภายใต้งบประมาณ 3,700 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตรถกระบะ นิสสัน เอ็นพี 300 นาวารา ส่งออกทั่วโลก ในโอกาสนี้ทาคาโอะ คาตากิริ รองประธาน นิสสัน มอเตอร์ บริหารภาคพื้นเอเซีย โอเชียเนียและญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงศักยภาพของไทยในสายตาของนิสสัน รวมถึงยุทธศาสตร์ของนิสสัน มอเตอร์ ต่อภูมิภาค อาเซียน ปัจจัยเปลี่ยนแปลงในไทยและภูมิภาคนี้ ตามแผนระยะกลาง ปี 2011-2016 เป้าหมายยังสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เป้าหมายของเราในระยะยาวไม่มีการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าตลาดเมืองไทยจะเติบโต รวมถึงตลาดอาเซียนด้วย มองว่ายังมีศักยภาพในเมืองไทยไม่ว่าในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว คิดว่าอนาคตยังไปได้ไกล นิสสันเปิดโรงงานใหม่ และมีโมเดลใหม่ที่จะเปิดตัว ดังนั้นยุทธศาสตร์จึงไม่เปลี่ยนแปลง ความเชื่อในตลาดเมืองไทย ยังไม่เปลี่ยนแปลง บทบาทของฐานผลิตในประเทศไทย มีความสำคัญอย่างไรต่อนิสสัน ประเทศไทย คือ ตลาดสำคัญ และนับเป็นจุดยุทธศาสตร์ของนิสสันในการขยายการเติบโตทางธุรกิจในทวีปเอเชีย ปัจจุบันนิสสัน ประเทศไทย ได้ขยายการลงทุนด้วยการเพิ่มโรงงานการผลิตเป็น 2 แห่ง พร้อมก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา และเมื่อสายพานกระบะ เอ็นพี 300 นาวารา เริ่มดำเนินการผลิต ประเทศไทยจะก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตและการส่งของที่สำคัญของนิสสันในภาคพื้นเอเชีย โรงงานแห่งใหม่นี้จะทำการผลิตรถยนต์เพื่อตลาดประเทศไทย และเกินกว่าครึ่งของรถที่ผลิตจะถูกส่งออกไปยังตลาดอื่นๆทั่วโลก มีแผนขยายแบรนด์อื่นๆ ของนิสสันในอาเซียนอย่างไร เราเริ่มด้วยแบรนด์ดัทสัน (DUTSUN)ในอินโดนีเซีย อินเดีย รัสเซีย และแอฟริกาใต้ เห็นว่ามีศักยภาพสำหรับคนที่เริ่มซื้อของคันใหม่ในตลาดนั้น แต่การขยายตัวของดัทสัน ขึ้นอยู่กับศักยภาพของตลาดนั้นๆ เราศึกษาตลอดเวลาเกี่ยวกับตลาดที่เหมาะสม และมองหาโอกาสการขยายธุรกิจ แต่ในภูมิภาคเอเชียขณะนี้ โดยเฉพาะในไทยเราเห็นศักยภาพของกระบะและอีโค คาร์ แบรนด์ดัทสัน มีโอกาสในเมืองไทยหรือไม่ เราเริ่มในอินโดนีเซีย พูดแบบนี้ก็แล้วกัน แบรนด์อื่นๆ ที่มากกว่าอย่างอินฟินิตี้ อินฟินิตี้ ก็เรื่องเดียวกัน มีการศึกษาตลาดสำหรับอินฟินิตี้ที่เป็นรถหรูหรา ที่เริ่มในสหรัฐ จีน รัสเซีย ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละตลาด ผมไม่ได้กล่าวว่าไม่มีตลาดในเมืองไทยสำหรับลักชัวรี่แบรนด์ แต่ตอนนี้ยังต้องการเน้นแบรนด์ นิสสัน ในเรื่องอีโคคาร์และปิคอัพ เนื่องจากเป็นตลาดที่แข็งแกร่งของเรา นิสสันมีความก้าวหน้าในการพัฒนารถไฟฟ้า มองโอกาสของตลาดรถไฟฟ้าอย่างไร เราเห็นศักยภาพในอนาคต ปัจจุบันทำตลาดในญี่ปุ่น สหรัฐ ซึ่งมีขนาดใหญ่ สำหรับรถไฟฟ้าต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ผู้จัดจำหน่ายมีทักษะ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องเริ่มในญี่ปุ่นก่อน ตามด้วยสหรัฐ และยุโรป ขณะนี้เปิดกว้างในการขยายตลาด แต่จะขายได้สำเร็จนั้นจะต้องทำโครงสร้างรองรับ ด้านทักษะและกลไกภาครัฐ ทั้งรัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลกลางให้การสนับสนุน หรือการลดหย่อนภาษี โครงสร้างต่างๆ ต้องเอื้ออำนวย เราไม่สามารถเข้าไปเปิดขายเลยแต่ต้องมีองค์ประกอบสนับสนุน อย่างไรก็ตามก็ยังเห็นศักยภาพของรถไฟฟ้ามากในภูมิภาคนี้ ศักยภาพของซัพพลายเออร์ไทย ประเทศไทยทำตลาดได้ง่าย กระบวนการผลิตรวมกันจุดเดียว ซัพพลายเออร์มีจำนวนมาก การใช้ชิ้นส่วนต่างๆ หาได้ง่ายและมีให้เลือกมากมาย ข้อตกลง"เออีซี"มีอิทธิพล อย่างไรต่อนิสสัน เมื่อเกิดตลาดเดียว ที่เป็นคอมมูนิตี้ใหญ่มีคน 600 ล้านคนอยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่มาก และไม่มีพรมแดนการส่งชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ไม่มีภาษี ทั้งหมดเอื้อให้ง่ายขึ้นสำหรับเราที่จะผลิตและก็ขายในตลาดเออีซี คิดว่าเป็นผลทางบวก ซึ่งขณะนี้ได้นำรถยนต์มาจากอินโดนีเซียและไทย ออกไปทำตลาดอยู่แล้ว แต่เมื่อมีเออีซี จะทำให้ตลาดขยายตัวมากขึ้น ข้อแนะนำ เพื่อสนับสนุนศักยภาพไทย ก้าวสู่ผู้เล่นระดับโลกที่ยั่งยืน แรงสนับสนุนจากภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมามีซัพพลายเออร์ เป็นฐานธุรกิจจำนวนมาก ดังนั้นโครงสร้างต่างๆ เหล่านี้จึงสำคัญมาก เช่น ภาครัฐ ควรดำเนินโนบายให้มีการแข่งขัน เพิ่มจำนวนซัพพลายเออร์ ดึงดูดให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น ด้านผู้บริโภคต้องสนับสนุนให้ลูกค้าซื้อรถได้ง่ายขึ้น ในสถานการณ์เช่นนี้การสร้างสภาวะหรือสภาพที่อำนวย เพื่อสร้างโอกาสที่จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคต้องการซื้อรถคันใหม่ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ สิ่งต่างๆ ปัจจัยดังกล่าวทำให้เรามาลงทุนจำนวนมาก และต้องการให้มีคนไทย มีรายได้ดี มีงาน เพื่อจะหนุนการให้มีการบริโภคมากขึ้น Tags : นิสสัน มอเตอร์ • ทาคาโอะ คาตากิริ • กรุงเทพธุรกิจ • ประเทศไทย • ยุทธศาสตร์ • ฐานผลิต • แบรนด์