สำรวจผลประกอบการสำนักงานสลากฯ ค่าใช้จ่ายพุ่ง-กำไรตก จี้เลิกโควตาหยุดน้ำเลี้ยงการเมือง สำรวจผลประกอบการสำนักงานสลากฯรอบ 3 ปี (2554-2556) พบมีค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดไตรมาสแรกปีนี้ ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 0.3% กดกำไรสุทธิลดลงแล้ว 110 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน หรือคิดเป็น 22% เผยการจัดสรรโควตาสลากฯ ช่องโหว่และสาเหตุใหญ่ในการเรียกรับผลประโยชน์ และกดดันให้สลากขายเกินราคา แนะยกเลิกหวังตัดท่อน้ำเลี้ยงผลประโยชน์พรรคพวกนักการเมือง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง ไม่ได้ประเมินผลการดำเนินงานของ กองสลาก ติดกลุ่มรัฐวิสาหกิจเข้าขั้นวิกฤติ เพราะหากวัดผลงานจากการนำรายได้ส่งรัฐ ต้องยอมรับว่า กองสลากติดแนวหน้านำรายได้ส่งรัฐปีละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ หากวิเคราะห์โครงสร้างรายได้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หรือระหว่างปี 2554-2556 โดยในช่วง 3 ปีดังกล่าว เป็นช่วงที่รัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั่งบริหารประเทศ จะพบว่า รายได้จากการดำเนินงาน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นรายได้จากการออกสลากฯ โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในปี 2556 นั้น มีรายได้รวม 64,299 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปี 2555 ที่มีรายได้รวม 61,589 ล้านบาท ส่วนปี 2554 มีรายได้รวมที่ 59,558 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2557 สำนักงานสลากฯ มีรายได้รวม 18,715 ล้านบาท ลดลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 18,769 ล้านบาท เพราะไตรมาส 1 ของปี 2556 สำนักงานสลากฯมีรายได้จากการรับโอนเงินการปิดกองทุนการศึกษาเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถ 42 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานตามปกติ ส่วนค่าใช้จ่าย จะพบว่า ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2556 มีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 62,933 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปี 2555 ที่มีค่าใช้จ่าย 60,229 ล้านบาท และปี 2554 มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 58,889 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ได้แก่ ค่าใช้จ่ายจากต้นทุนการจำหน่ายสลาก และค่าใช้จ่ายในการบริหาร สำหรับไตรมาสแรกปี 2557 มีค่าใช้จ่ายรวม 18,317 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56 ล้านบาท หรือ 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะมีค่าใช้จ่ายการบริหารงานเพิ่มขึ้น 54 ล้านบาท หรือ 20% และค่าใช้จ่ายขายเพิ่มขึ้น 1.83 ล้านบาท หรือ 0.8% กำไรเพิ่มขึ้นต่อเรื่อง สำหรับกำไรสุทธิ จะเห็นว่า ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา มีผลกำไรที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กล่าวคือ ปี 2556 มีกำไรสุทธิ 1,367 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.4% จากปี 2555 ที่มีกำไรสุทธิ 1,361 ล้านบาท ส่วนปี 2554 มีผลกำไรที่ 668 ล้านบาท ส่วนไตรมาสแรกปี 2557 มีกำไรสุทธิ 398 ล้านบาท ลดลง 110 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2556 ที่มีกำไร 508 ล้านบาท เมื่อพิจารณาผลตอบแทนที่มีต่อสินทรัพย์ จะพบว่า ระยะ 3 ปีที่ผ่านมา มีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ดี โดยปี 2554 มีผลตอบแทนอยู่ที่ 3% ปี 2555 อยู่ที่ 5% ปี 2556 อยู่ที่ 4% ส่วนไตรมาสแรกของปีมีผลตอบแทนอยู่ที่ 1% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 2% ด้านการนำส่งเงินเข้ารัฐ ต้องยอมรับว่า สำนักงานสลากฯ มียอดเงินนำส่งเข้ารัฐติดอันดับ 1 ใน 3 ของรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้เข้ารัฐสูงสุด โดยปี 2554 ส่งเงินเข้ารัฐ 14,635 ล้านบาท ปี 2555 นำส่งเงินเข้ารัฐ 14,642 ล้านบาท และปี 2556 อยู่ที่ 14,634 ล้านบาท ส่วนไตรมาสปี 2557 มีเงินนำส่งเข้ารัฐแล้ว 3,603 ล้านบาท ลดลง 9% เทียบกับไตรมาสแรกของปี 2556 ที่มีเงินนำส่ง 3,959 ล้านบาท แม้กองสลากฯ จะสร้างผลงานมาดีอย่างต่อเนื่อง โดยนำส่งรายได้ให้กับรัฐติดอันดับท็อปทรี และสามารถโชว์กำไรเป็นบวกมาโดยตลอด แต่ก็เป็นหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักเช่นกันว่า เป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ของพวกพ้องการเมืองทุกยุคทุกสมัย ดังนั้นไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาล จึงมีโอกาสและความเป็นไปได้ในการจัดส่งบุคคลของตนเอง ที่ไว้ใจได้เข้าไปนั่งบริหาร ตั้งแต่ตำแหน่งประธาน และคณะกรรมการ จัดสรรโควตาช่องโหว่แหล่งหาผลประโยชน์ ดังนั้น จึงมีคำถามคือ เมื่อรายได้ทุกบาททุกสตางค์ จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่นั้น ได้ถูกจัดสรรปันส่วนตามกฎหมายแล้ว จะมีช่องโหว่ หรือจุดรั่วไหลจากส่วนใดที่จะทำให้การเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ได้ จากข้อสงสัยดังกล่าว อดีตผู้บริหารสำนักงานกินแบ่งรัฐบาลรายหนึ่ง เล่าว่า ความจริงแล้ว พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล 2517 กำหนดชัดเจนเกี่ยวกับการจัดสรรรายได้จากยอดขายลอตเตอรี่แต่ละงวด กล่าวคือ ใน 100% ของยอดขาย จะถูกจัดสรรไว้เพื่อเป็นเงินรางวัล 60% อีก 28% ถูกจัดส่งเป็นรายได้เข้ารัฐ และส่วนที่เหลือ 12% จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร ฉะนั้น จึงไม่ถือเป็นช่องโหว่ของผลประโยชน์ แต่ข้อเฉลยของช่องโหว่ผลประโยชน์ที่แท้จริง คือ การจัดสรรโควตาลอตเตอรี่ เพราะนั่นคือ ขุมทรัพย์ทางการเมืองที่ถูกกฎหมาย ขณะเดียวกัน วิธีการจัดสรรโควตายังถือเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ราคาขายลอตเตอรี่เกินราคาหน้าตั๋วสูงสุดเกินว่า 50% ด้วย โควตาระบบผูกขาดของรายใหญ่ ปัจจุบันการจัดสรรโควตาลอตเตอรี่ ถือเป็นระบบที่ผูกขาดให้กับผู้ค้ารายใหญ่ ว่ากันว่า ก่อนหน้านี้ จะมีกลุ่ม 5 เสือที่เป็นกลุ่มที่ได้รับจัดสรรโควตารายใหญ่ แต่ปัจจุบันได้แตกย่อยเพื่อรวมเป็น 2 กลุ่มใหญ่ แน่นอนว่า ทั้งสองกลุ่ม จะต้องมีการเมืองเข้ามาเรียกรับผลประโยชน์ หรือ ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโควตาลอตเตอรี่ดังกล่าว ทั้งนี้ เหตุที่ต้องจัดสรรลอตเตอรี่เป็นโควตา หรือ เป็นระบบซื้อแล้วไม่รับคืน เพื่อป้องกันปัญหากรณีที่สำนักงานสลากฯ ไม่สามารถขายลอตเตอรี่ได้หมด เมื่อผู้ค้ารายใหญ่เป็นผู้รับจัดสรรโควตาลอตเตอรี่มือแรก ขณะเดียวกัน ก็เกิดช่องทางการนำเอาลอตเตอรี่แต่ละโควตามารวมกัน เพื่อจำหน่ายเป็นเลขชุด โดยเฉพาะเลขลอตเตอรี่ที่ขายไม่ออก เช่น เลขซ้ำ หรือ เลขศูนย์ ฉะนั้น ราคาขายท้ายสุดให้กับผู้ซื้อ จึงขึ้นอยู่กับการกำหนดราคาขายให้กับยี่ปั๊ว หรือ ซาปั๊ว ของผู้ค้ารายใหญ่เป็นหลัก ทั้งนี้ สำนักงานสลากฯ จะขายลอตเตอรี่ให้กับผู้ค้ารายใหญ่ในราคาส่วนลด 8 บาทต่อสลาก 1 คู่ จากราคาหน้าตั๋วสลากที่ 80 บาท ส่วนลด 8 บาทนี้ คือ เค้กก้อนโตของผู้ที่ได้รับจัดสรรโควตาและผู้เรียกรับประโยชน์ ปัจจุบัน สำนักงานสลากฯจะผลิตลอตเตอรี่ออกจำหน่าย 72 ล้านฉบับต่องวด แบ่งเป็นสลากกินแบ่ง 50 ล้านฉบับต่องวด และสลากการกุศล 22 ล้านฉบับ โดยสลากกินแบ่ง 50 ล้านฉบับนั้น คิดเป็น 5 แสนเล่ม แยกเป็นผู้ที่ได้รับการจัดสรรโควตารายย่อยในส่วนกลาง 1.46 แสนเล่ม รายย่อยภูมิภาค (จัดสรรผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด 1.9 แสนเล่ม นิติบุคคล 1.72 หมื่นเล่ม) องค์กร มูลนิธิ และสมาคม 1.35 แสนเล่ม และ มูลนิธิสำนักงานสลาก 1.02 หมื่นเล่ม ส่วนสลากการกุศล 22 ล้านฉบับ คิดเป็น 2.2 แสน หรือ 2.2 แสนเล่ม จัดสรรให้นิติบุคคล (บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด 1.17 แสนเล่ม และสมาคมคนพิการ) องค์กรการกุศลอีก 1.02 แสนเล่ม ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วแหล่งพักโควตาของนักการเมือง หากว่า สำนักงานสลากฯได้เพิ่มจำนวนลอตเตอรี่ออกจำหน่ายในแต่ละงวด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเพื่อลดปัญหาการขายลอตเตอรี่เกินราคา หรือ การขอออกลอตเตอรี่ให้แก่องค์กรต่างๆ จะถือเป็นช่องโหว่ของผลประโยชน์ช่องทางหนึ่ง เพราะต้องจัดสรรโควตาให้แก่ผู้ค้าลอตเตอรี่ต่างๆ หนึ่งในนั้น คือ มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่สำนักงานสลากฯได้จัดตั้งขึ้นมา โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นแหล่งพักโควตาลอตเตอรี่ที่สำคัญ ก่อนจะถูกขายออกไปให้กับยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ซึ่งเป็นพรรคพวกของนักการเมือง นอกจากนี้ ยังมีอีกจุด ที่ถือเป็นช่องว่างที่ควรมีการเปิดเผย เพราะเป็นแหล่งรายได้ หรือผลประโยชน์ที่บรรดาการเมืองเข้ามาแสวง นั่นคือ ส่วนของเงินบริจาคของสำนักงานสลากฯ ซึ่งตามปกติแล้ว สำนักงานสลากฯจะจัดสรรวงเงินสำหรับการบริจาคในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ในระยะที่ผ่านมา จะอยู่ที่ 3-5% ของรายได้ที่สำนักงานสลากฯได้รับจัดสรรจากยอดขายสลาก แม้สัดส่วนดังกล่าวจะอยู่ในหลักไม่กี่ร้อยล้านบาท แต่เป็นจุดที่บรรดาการเมือง มักเข้ามาขอบริจาคกันได้โดยง่าย แนะยกเลิกจัดสรรโควตา เมื่อการจัดสรรโควตาลอตเตอรี่เป็นสาเหตุของปัญหาสำคัญในขณะนี้ แน่นอนว่า จุดแก้ ก็คือ การยกเลิกระบบการจัดสรรโควตา และเพิ่มวิธีการบริหารจัดการเสียใหม่ แนวทางที่หลายฝ่ายเสนอ คือ 1.การเพิ่มปริมาณลอตเตอรี่ แต่ต้องไม่ขายผ่านเอเย่นผู้ค้ารายใหญ่ และเปลี่ยนมาขายให้แก่รายย่อยโดยตรง เพื่อตัดปัญหาการขายลอตเตอรี่เกินราคาและการเรียกรับผลประโยชน์จากฝ่ายการเมือง และต้องกำหนดระยะเวลาการจัดสรรลอตเตอรี่ เพื่อไม่ให้เกิดการรวมเลขชุดได้ เช่น ให้จัดสรรแก่ผู้ค้ารายย่อยในระยะเวลาก่อนที่จะมีการออกรางวัล 5 วันทำการเป็นต้น นอกจากนี้ ลอตเตอรี่เป็นสินค้าที่มีเกมการเล่นเพียงเกมเดียว จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุให้ลอตเตอรี่ราคาแพง เพราะเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ ดังนั้น หลายฝ่ายจึงเสนอให้เพิ่มเกมของสินค้า โดยอาจจะผ่านการเปิดขายหวยบนดิน ซึ่งอาจจะผ่านระบบออนไลน์ หรือ การทำลอตเตอรี่แบบขูด เพื่อลดปริมาณการเสี่ยงโชคของลอตเตอรี่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน Tags : ผลประกอบการ • กองสลากกินแบ่งรัฐบาล • ไตรมาส • รัฐวิสาหกิจ • กระทรวงการคลัง • วิกฤติ • การเมือง • น้ำเลี้ยง