ผู้ประกอบการพลังงานทดแทนยัน แผนขยายโซลาร์ฟาร์มกับโซลาร์รูฟท็อปไม่กระทบแม้ 23 โครงการใหญ่ถูกรื้อ จากการสำรวจราคาหุ้นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว (30 มิ.ย.-4 ก.ค.) พบว่าราคาหุ้นมีการเคลื่อนไหวอย่างผันผวน เนื่องจากมีปัจจัยเข้ามากระทบเรื่องคณะกรรมการติดตามการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) สั่งยกเลิกโครงการโซลาร์รูฟท็อปศาลากลางทั่วประเทศ ทั้งนี้ ราคาหุ้นบริษัท โซลาร์ตรอน (SOLAR) ปรับตัวลดลง 6.34% ในช่วงวันที่ 30 มิ.ย.-4 ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีข้อมูลดังกล่าวออกมา ขณะที่ราคาต่ำสุดในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 6.50 บาท เช่นเดียวกันบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 3.57% ส่วนราคาต่ำสุดอยู่ที่ 16.20 บาท ส่วนราคาหุ้นบริษัท เด็มโก้ (DEMCO) ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ตรงกันข้ามกับราคาหุ้นบริษัท เอสพีซีจี (SPCG) ที่ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น 0.93% นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน (SOLAR) กล่าวว่า กรณีคณะกรรมการติดตามการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) สั่งยกเลิกโครงการโซลาร์รูฟท็อปศาลากลางทั่วประเทศ ไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากบริษัทยังมีคำสั่งซื้อในมือมูลค่า 2,000 ล้านบาท อีกทั้งช่วงที่ผ่านมาเน้นการรับงานต่างประเทศ และยังมีโอกาสได้รับงานโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน 800 เมกะวัตต์ที่ยังไม่ได้รวมไว้ในประมาณการ "การทบทวนโครงการหมายถึงยกเลิกไปเลยหรือไม่ ก็ไม่ใช่ คิดว่าคงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบในโครงการภาครัฐ ซึ่งบริษัทเป็นผู้ผลิตและส่งออก ขณะเดียวกันก็มีการรับงานภาคเอกชนด้วย เพราะว่าตอนนี้ถ้าติดตั้งหลังคาขนาด 1,000 กิโลวัตต์ลงไป ไม่ต้องรายงานใบ รง.4 ฉะนั้นงานภาคเอกชนก็ยังมีอีกมาก” เธอกล่าวอีกว่า การเข้ามาจัดระเบียบของ คสช.จะช่วยส่งผลดีต่อตัวบริษัท เนื่องจากนโยบายของ คสช.เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศไทย ไม่ได้เน้นการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องดีและควรส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าไทยมากขึ้น นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในแง่ผลกระทบต่อประมาณการหุ้น ที่ฝ่ายวิจัยติดตามข้อมูลอยู่นั้น เชื่อว่าไม่มีผลกระทบ เนื่องจากไม่ได้รวมโครงการดังกล่าวเข้าไปในประมาณการ ทั้งนี้ ยังคงคำแนะนำไว้เช่นเดิม นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวว่า กรณีคตร.สั่งยกเลิกโครงการโซลาร์รูฟท็อปศาลากลางทั่วประเทศนั้น ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโซลาร์รูฟท็อประยะสั้น เนื่องจากการทบทวนโครงการครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการเป็นหลัก ซึ่งในตลาดยังมีโครงการโซลาร์รูฟท็อปของภาคเอกชนอีกมาก เพราะโครงการโซลาร์รูฟท็อป สามารถช่วยบริษัทเอกชนลดต้นทุนการใช้ไฟได้ และยังสร้างรายได้ในอนาคต นอกจากนี้ โครงการโซลาร์รูฟท็อป ก็เป็นโครงการที่อิงตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ซึ่งเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในระยะยาว เขาเพิ่มเติมด้วยว่า กรณีคสช.มีมติให้โซลาร์รูฟไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์ ไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4 นั้น จะส่งผลดีต่อผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายแผงโซลาร์ รวมถึงผู้รับติดตั้งและวางระบบ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามข้อมูลเพิ่มเนื่องจากเป็นโครงการขนาดเล็ก ผู้ประกอบการจำเป็นต้องประเมินต้นทุนค่าใช้จ่ายให้รัดกุมก่อนการเข้ารับงาน Tags : บจ.พลังงาน • โซลาร์ฟาร์ม • โซลาร์รูฟท็อป • โซลาร์ตรอน